กทม. 6 ส.ค.-นายกฯ เป็นห่วงโควิด-19 ในโรงเรียน เน้นมาตรการ 6-6-7 ลดความเสี่ยง หลังผลสำรวจพบว่า เด็กนักเรียนกว่า 4.9 หมื่นคน ติดโควิดแล้ว 30.56% ติดในโรงเรียน 5.66%
นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมรับทราบรายงานผลสำรวจการประเมินสุขภาพนักเรียน ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 ระลอกใหม่ในสถานศึกษา ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2565 ของกรมอนามัย จำนวน 49,242 คน พบการติดเชื้อร้อยละ 30.56 โดยนักเรียนส่วนใหญ่ติดเชื้อจากบุคคลในครอบครัว รองลงมาไม่ทราบสาเหตุการติดเชื้อ ส่วนการติดเชื้อในโรงเรียน พบเพียงร้อยละ 5.66 เท่านั้น และยังพบว่า มีครอบครัวเพียงร้อยละ 0.36 ที่ติดเชื้อจากนักเรียนที่ไปโรงเรียน โดยอาการส่วนใหญ่ที่พบมาก คือ มีไข้ ไอ มีน้ำมูก ปวดกล้ามเนื้อ ซึ่งเป็นอาการที่ผู้ปกครองสามารถสังเกตอาการของบุตรหลานได้ จึงขอให้ โรงเรียน สถานศึกษา และสถานประกอบการศึกษา ยังคงต้องเน้นมาตรการความปลอดภัย 6-6-7 ลดความเสี่ยงของการแพร่ระบาดโควิด ไม่ให้สร้างผลกระทบต่อการเรียนการสอนของครู- นักเรียน
มาตรการความปลอดภัย 6-6-7 ดังนี้ ประกอบด้วย 6 มาตรการหลัก (DMHT – RC) คือ 1)การเว้นระยะห่าง(Distancing) 2)การสวมหน้ากาก(Mask Wearing) 3)การล้างมือ(Hand Washing) 4)การคัดกรองวัดไข้(Testing) 5)ลดการแออัด(Reducing) และ 6)การทำความสะอาด(Cleaning)
- 6 มาตรการเสริม คือ 1)การดูแลตนเอง 2)การใช้ช้อนกลางส่วนตัว 3)ทานอาหารปรุงสุกใหม่ 4)การลงทะเบียน เข้า – ออก 5)การสำรวจตรวจสอบ และ 6) กักกันตนเอง และ
- 7 มาตรการเข้ม คือ 1)การประเมิน TSC + และรายงานผลผ่านระบบ MOE COVID 2)การจัดกิจกรรมแบบกลุ่มย่อย(Small Bubble) 3)การจัดระบบให้บริการอาหารตามหลักสุขาภิบาลอาหารและหลักโภชนาการ 4 )อนามัยสิ่งแวดล้อม ตามเกณฑ์มาตรฐาน 5) การมีแผนเผชิญเหตุและมีการซักซ้อม (School Isolation) 6) การควบคุมดูแลการเดินทางจากบ้านไปโรงเรียน (Seal Route) และ 7) การจัดให้มี School Pass สำหรับนักเรียน ครูและบุคลากรในสถานศึกษา
รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 วันนี้ (6 สิงหาคม 2565) พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ผู้ป่วยรายใหม่ (รักษาตัวใน รพ.) จำนวน 2,381 ราย จำแนกเป็น ผู้ป่วยในประเทศ 2,381 ราย ผู้ป่วยมาจากต่างประเทศ 0 ราย ผู้ป่วยสะสม 2,379,924 ราย (ตั้งแต่ 1 มกราคม 2565) หายป่วยกลับบ้าน 2,209 ราย หายป่วยสะสม 2,382,054 ราย (ตั้งแต่ 1 มกราคม 2565) ผู้ป่วยกำลังรักษา 21,250 ราย เสียชีวิต 35 ราย เสียชีวิตสะสม 9,863 ราย (ตั้งแต่ 1 มกราคม 2565) จำนวนผู้ป่วยปอดอักเสบ รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 910 ราย.-สำนักข่าวไทย