กทม. 24 ก.ค.-โฆษกรัฐบาล เผย นายกฯ ขอบคุณทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนนโยบายด้านการค้าระหว่างประเทศ สู่การลงนามความร่วมมือระหว่างไทย-ปูซาน หวังเพิ่มมูลค่าการค้า เป็น 200,000 ล้านบาท ภายใน 3 ปี
นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ขอบคุณทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องที่ร่วมเดินหน้าขับเคลื่อนนโยบายด้านการค้ากับประเทศพันธมิตรกลุ่มเมืองรองที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจสูง และนำไปสู่การลงนามความร่วมมือระหว่างไทย-ปูซาน เชื่อมั่นการทำ MOU ไทย-ปูซานจะเป็นโอกาสสำคัญในการผลักดัน Soft power และการส่งออกของไทย
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีได้กำหนดนโยบายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเดินหน้าขับเคลื่อนการค้าระหว่างประเทศเพื่อขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจทั้งการเจรจาการค้าในเวทีระดับโลกและภูมิภาคในหลายรูปแบบ ส่งผลให้เกิด ความร่วมมือกับประเทศพันธมิตรเมืองหลัก และเมืองรองที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจสูง อาทิ มณฑลไห่หนาน มณฑลกานซู่ ประเทศจีน เมืองโคฟุ ประเทศญี่ปุ่น หรือรัฐเตลังคานา ประเทศอินเดีย เป็นต้น โดยเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมา ได้มีการลงนามบันทึกความเข้าใจด้านการค้า (Memorandum Of Understanding : MOU) หรือ Mini FTA ระหว่างกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ประเทศไทย และ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจปูซาน หรือ Busan Economic Promotion Agency (BEPA) สาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) โดยมีนายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เป็นผู้ลงนามฝ่ายไทย และนายจิน ยาง-ฮยอน ประธาน BEPA เป็นผู้ลงนามฝ่ายเกาหลีใต้ ทั้งนี้ เมืองปูซาน เป็นเมืองใหญ่อันดับที่ 2 ของประเทศเกาหลีใต้ เป็นศูนย์กลางการขนส่งและโลจิสติกส์ ทําให้ปูซานมีโครงสร้างพื้นฐานที่ดีเยี่ยม อีกทั้งเป็นท่าเรือที่รองรับการส่งออกสินค้าไทยไปยังเกาหลีใต้มากที่สุดจึงถือเป็นพันธมิตรที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจของไทยอย่างมาก
อีกทั้ง ปูซานตั้งเป้าเป็นเมืองอุตสาหกรรมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ และจะมีการจัดงานภาพยนตร์นานาชาติและงานแสดงสินค้าเกมที่ใหญ่ที่สุดในเกาหลีใต้ โดยตั้งเป้าว่าการลงนามในครั้งนี้ จะสร้างมูลค่าการส่งออกจากไทยไปยังเกาหลีใต้เพิ่มขึ้นจาก 75,000 ล้านบาทในปี 2564 เป็น 200,000 ล้านบาท ภายใน 3 ปี รวมถึงเป็นโอกาสขยายความร่วมมือทางด้าน ภาพยนตร์ เกม และ soft power ทางวัฒนธรรมของไทยต่อไป
“นายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่าการลงนามบันทึกความเข้าใจครั้งนี้จะเป็นโอกาสครั้งสำคัญในการยกระดับความร่วมมือของทั้งสองประเทศทั้งความสัมพันธ์ทวิภาคี พหุภาคี โดยเฉพาะอย่างยิ่งความร่วมมือด้านเศรษฐกิจด้วยสินค้าบริการ และมีโอกาสต่อยอดเพิ่มพูนความร่วมมือด้าน soft power ของไทย ที่จะส่งผลให้ไทยได้ฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยให้เข้มแข็งและยั่งยืนต่อไป” นายธนกร กล่าว.-สำนักข่าวไทย