สำนักข่าวไทย 19 ก.ค. – นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ ชี้ศึกซักฟอกวันแรกยังสร้างกระแสล้มรัฐบาลไม่ได้ เป็นเรื่องเก่าที่รู้กันแล้ว ขณะที่นายกฯปรับกลยุทธ์แจงทันที ไม่ปล่อยให้ฝ่ายค้านร่ายยาวเหมือนอดีต
นายยุทธพร อิสรชัย อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช กล่าวถึงการอภิปรายไม่ไว้วางใจวันแรกว่า จากที่ติดตามเห็นว่าเป้าหลักพุ่งไปที่กระทรวงสาธารณสุข โดยเฉพาะเรื่องโควิด-19 และนโยบายกัญชา ซึ่งมีข้อวิจารณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม เพราะกฎหมายที่ออกมายังไม่มีมาตรการอะไรรองรับที่ดีพอ และทำให้เกิดปัญหาขึ้นมา อย่างไรก็ตาม เป็นที่สังเกตว่านายกรัฐมนตรีได้ปรับกลยุทธ์โดยใช้วิธีการโต้ตอบทันที เพราะหากปล่อยให้อภิปรายไปนานๆ ข้อมูลต่างๆ จากฝ่ายค้านจะทำให้ประชาชนเชื่อไปตามนั้น ดังนั้นตรงนี้ถือเป็นเวทีของรัฐบาลในการที่จะชี้แจงในการทำงาน และทำให้ฝ่ายค้านไม่สามารถดึงประเด็น หรือสร้างกระแส จุดประกายประเด็นต่างๆ ออกไปสู่สังคมได้ ดังนั้นจากการฟังอภิปรายวันแรกจึงคิดว่าไม่ถึงขั้นจะล้มรัฐบาลได้ โดยจะยังไม่เห็นพรรคการเมืองเล็กลงมติสวนมติรัฐบาล รวมทั้งพรรคเศรษฐกิจไทย ก็ยังเชื่อว่าจะลงมติให้กับรัฐมนตรีบางคนที่ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ โดยแม้จะไม่ลงมติให้นายกรัฐมนตรี แต่อาจจะลงมติให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี
“ผมไม่คิดว่าจะล้มรัฐบาลได้ เพราะหมัดเด็ด หมัดน็อกต่าง ๆ ของฝ่ายค้านยังไม่มีอย่างชัดเจนมากนัก ในการอภิปรายหลายประเด็นยังไม่ใช่ประเด็นใหม่ เป็นประเด็นที่เราได้ยินมาอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นประเด็นปัญหาทางสังคม โควิด-19 กัญชา ผลกระทบทางเศรษฐกิจ ผลกระทบจากพลังงาน รวมไปถึงเรื่องการบริหารราชการแผ่นดินต่างๆ ยังไม่มีอะไรที่เป็นประเด็นใหม่ และวันนี้ต้องบอกว่าเสียงในสภาก็ยังอยู่กับรัฐบาล ที่เป็นที่น่าสนใจคือความเคลื่อนไหวของพรรคเล็ก พรรคจิ๋ว ผมว่าคงไม่มีส่วนที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง”นายยุทธพร กล่าว
นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ กล่าวว่า สิ่งที่จะต้องจับตาในขณะนี้คือสถานการณ์ในพรรคประชาธิปัตย์ ที่การเมืองยังไม่นิ่งในหลายๆ เรื่อง ทั้งเรื่องกฎหมายสมรสเท่าเทียม กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ก็มี ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ แหกมติ ซึ่งเป็นเรื่องที่จะต้องจับตา
นายยุทธพร กล่าวด้วยว่า ปัจจุบันประชาชนไม่ค่อยให้ความสนใจเรื่องการอภิปรายไม่ไว้วางใจมากนัก เพราะอาจจะไม่มีดาวสภาเหมือนในอดีต เป็น “แม่เหล็ก”ดึงดูด ขณะเดียวกันประชาชนมีทางเลือกในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารจากที่อื่น โดยเฉพาะในโลกสังคมออนไลน์ ทำให้บางครั้งข้อมูลที่ประชาชนได้รับอาจจะลึกมากกว่าการอภิปรายของฝ่ายค้านด้วยซ้ำ ดังนั้นความสนใจของประชาชนลดลง รวมทั้งกลไกของรัฐสภามีช่องว่าง หรือเรียกว่าเสียงข้างมากลากไป ยังมีเสียงสนับสนุนรัฐบาลอยู่ ก็ทำให้รัฐบาลสามารถบริหารประเทศต่อไปได้ จึงต้องมีการอภิปรายนอกสภามาผสม ผสาน. สำนักข่าวไทย