ร้องฟันขบวนการงาบงบปูพื้นสภาใหม่

รัฐสภา 20 มิ.ย.-“วัชระ” ร้องปธ.สภาฯ ฟันขบวนการงาบงบประมาณสอดไส้ใช้ไม้พะยอมแทนไม้ตะเคียนทอง โครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่


นายวัชระ เพชรทอง อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ยื่นหนังสือผ่านงานสารบรรณถึงนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ขอให้พิจารณาสั่งการให้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรดำเนินการทางกฎหมายกับผู้กระทำความผิดกรณีการใช้ไม้ในการก่อสร้างและตกแต่งอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ที่ไม่เป็นไปตามข้อกำหนดของสัญญา เนื่องจากปรากฏหลักฐานชัดเจนตามบันทึกข้อความรองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร (นายศิโรจน์ แพทย์พันธุ์) ที่ 12 ลงวันที่ 14 มี.ค. 65 และหนังสือกรมป่าไม้ ที่ ทส 1607.520/2554 ลงวันที่ 11 ก.พ. 65  สรุปได้ว่ามีการใช้ “ไม้พะยอม” ซึ่งมิใช่ไม้ชนิดที่ระบุในข้อกำหนดของสัญญาฯ มาปะปนใช้ในการปูพื้นแทน “ไม้ตะเคียนทอง” ซึ่งเป็นไม้ “ชนิด” ที่ระบุในข้อกำหนดของสัญญาฯ ประกอบกับคณะกรรมการตรวจการจ้างตรวจรับงวดงานของการปูพื้นไม้ดังกล่าวแล้ว และสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร (ผู้ว่าจ้าง) ได้จ่ายเงินซึ่งเป็นงบประมาณของแผ่นดินให้กับงวดงานดังกล่าวแล้ว ในขณะนางพรพิศ เพชรเจริญ เป็นเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรอันอาจเข้าข่ายกระทำความผิดทางอาญา และเป็นเหตุให้ผู้ว่าจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง โดยนายวัชระได้มีหนังสือลงวันที่ 28 มี.ค. 65 แจ้งให้เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรทราบและให้ดำเนินการแล้วนั้น

หนังสือระบุว่า มีกลุ่มบุคคลหนึ่งพยายามจะให้มีการยอมรับว่า “ไม้พะยอม” หรือไม้ชนิดอื่นที่ปะปนมาใช้กับการปูพื้นอาคารรัฐสภาแห่งใหม่สามารถใช้แทน “ไม้ตะเคียนทอง” ได้ ซึ่งเป็นการบิดเบือนวัตถุประสงค์ เจตนารมณ์ข้อกำหนดของผู้ออกแบบ และข้อกำหนดในสัญญาฯ ที่ระบุ “ชนิด” ของไม้ว่าให้ใช้ “ไม้ตะเคียนทอง” เท่านั้น การกระทำดังกล่าวจะมีผลเป็นการปกปิดและยกเว้นความรับผิดชอบที่ใช้ “ไม้พะยอม” หรือไม้ชนิดอื่นมาปูพื้นปะปนแทน “ไม้ตะเคียนทอง” เนื่องจากมีการจ่ายเงินงบประมาณเป็นค่าให้กับงวดงานการปูพื้นดังกล่าวไปแล้ว


นายวัชระ กล่าวว่า เมื่อเจตนารมณ์ข้อกำหนดของผู้ออกแบบ และข้อกำหนดในสัญญาฯ ระบุให้ใช้ไม้ “ชนิด” ไม้ตะเคียนทอง ต้องใช้ตามนั้น มิใช่ว่าจะใช้ไม้ “ชนิด” อื่นมาทดแทนได้ สำหรับคุณภาพของไม้ที่อ้างอิงตามมาตรการฐานของ มอก.เพื่อควบคุมคุณภาพของไม้ที่จะนำมาใช้ในการก่อสร้างและตกแต่ง เพื่อให้ได้ไม้ที่มี “คุณภาพ” ดี แข็งแรง ทนทาน จึงไม่สามารถตีความความหมายของคำว่า “ชนิดของไม้” กับคำว่า “คุณภาพของไม้” มาบิดเบือนจนสามารถใช้ไม้ “ชนิด” อื่นมาใช้แทน “ไม้ตะเคียนทอง” อันผิดไปจากวัตถุประสงค์ เจตนารมณ์ข้อกำหนดของผู้ออกแบบและข้อกำหนดของสัญญาฯ

“ความพยายามในการบิดเบือน โดยการตีความข้อกำหนดของสัญญาฯ เพื่อให้ยอมรับการใช้ “ไม้พะยอม” หรือไม้ชนิดอื่นใช้แทน “ไม้ตะเคียนทอง” ยังเป็นการขัดกับข้อเท็จจริงที่เป็นเอกสารในการส่งมอบเอกสารในการตรวจรับและเอกสารทางการเงินของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร (ผู้ว่าจ้าง) ที่ได้จ่ายเงินงบประมาณอันเป็นค่าจ้างในงวดงานของการปูพื้นไม้ดังกล่าวในอัตราและราคาของ “ไม้ตะเคียนทอง”และยังมีความพยายามในการตีความข้อกำหนดของสัญญาฯ เกี่ยวกับ “งานงวดสุดท้าย” โดยมีเจตนาว่าแม้จะปูพื้นอาคาร มีการตรวจรับและจ่ายเงินให้แก่ผู้รับจ้างในงวดงานดังกล่าวไปแล้ว มิใช่เป็นการตรวจรับงานงวดสุดท้าย โดยเมื่อพบข้อพิรุธหรือข้อบกพร่องภายหลังว่ามีการใช้ไม้ชนิดอื่น ซึ่งไม่ใช่ไม้ตะเคียนทอง ตามข้อกำหนดในสัญญาฯ จึงสามารถแก้ไขให้ถูกต้องตามข้อกำหนดในสัญญาฯ ได้ เป็นการตีความที่ไม่ถูกต้อง เนื่องจากงานงวดสุดท้ายเป็นงานงวดหนึ่งเหมือนกับงานงวดอื่น ๆ” นายวัชระ กล่าว

นายวัชระ กล่าวว่า ก่อนหน้านั้นเพียงแต่ข้อกำหนดของสัญญาฯ ระบุให้สามารถแก้ไขความบกพร่องใน “คุณภาพ” ของงานได้เท่านั้น แต่มิได้หมายความว่า งานในงวดงานต่าง ๆ ที่ผ่านผู้เกี่ยวข้องจะใช้วัสดุ “ชนิด” ใดก็ได้ หรือไม่ถูกต้องตามข้อกำหนดในสัญญาฯ ก็ได้ มาดำเนินการเพื่อให้แล้วเสร็จตามงวดงานนั้น ๆ อันนำมาสู่การเบิกค่าจ้างของงวดงานนั้น เพราะงานแต่ละงวดต้องมีความถูกต้อง ใน “ชนิด” ของวัสดุ ปริมาณงานฯ โดยต้องมีส่งมอบ รับมอบ อนุมัติการจ่ายค่าจ้างในอัตราและราคาของ “ชนิด” ของวัสดุดังกล่าว หากมีการจ่ายค่าจ้างอันเป็นงบประมาณแผ่นดินให้กับวัสดุ “ชนิด” ที่ไม่ถูกต้อง ผู้เกี่ยวข้องย่อมต้องรับผิดต่อไป เพราะ “ชนิด” ของวัสดุ จะเป็นตัวกำหนดอัตราและราคาในการจ่ายเงินให้แก่ผู้รับจ้าง หากมีการใช้ “ชนิด” ของวัสดุต่างชนิดหรือประเภทกัน ย่อมมีราคาและการจ่ายค่าจ้างที่ต่างกัน


“ความถูกต้องของ “ชนิด” ของวัสดุของแต่ละงวดงาน จึงเป็น “สาระสำคัญ” ของการส่งมอบ ตรวจรับและการจ่ายค่าจ้าง ซึ่งก็เป็นไปตามเหตุผลของกรรมการตรวจการจ้าง 3 คน ที่ระบุว่า การใช้ไม้ที่ไม่ถูกต้องตามข้อกำหนดในสัญญาฯ เป็น “สาระสำคัญ” ของการตรวจรับและมีผลถึงการจ่ายที่ไม่ตรงตามวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างตกแต่งอาคารรัฐสภาฯ ทั้งนี้ ได้รับแจ้งจากข้าราชการที่ซื่อสัตย์สุจริตว่า ไม้ตง (ไม้รองไม้ปูพื้น) ตามข้อกำหนดในสัญญาต้องเป็นไม้ตะเคียนทอง แต่ปรากฏว่าไม่ใช่ไม้ตามข้อกำหนดในสัญญาเช่นเดียวกับไม้ปูพื้นที่กรมป่าไม้พิสูจน์แล้วว่าเป็นไม้พะยอม จึงขอให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรสั่งการให้กรมป่าไม้มาพิสูจน์ไม้ปูพื้นและไม้ตงทุกแผ่นในอาคารรัฐสภาว่าตรงตามข้อกำหนดในสัญญาหรือไม่ เพื่อให้เป็นไปตามสัญญาต่อไป พร้อมสั่งการให้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรดำเนินการตามกฎหมายกับผู้กระทำความผิดดังกล่าว เพื่อรักษาผลประโยชน์ของราชการ และปกป้องงบประมาณแผ่นดินเพื่อมิให้มีการใช้ไปอย่างไม่ถูกต้อง” นายวัชระ กล่าว.-สำนักข่าวไทย

ดูข่าวเพิ่มเติม

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

มุกใหม่มิจฉาชีพ

มุกใหม่มิจฉาชีพ! ป่วนโทรแจ้ง ตร. เกิดเหตุร้ายที่บ้านเหยื่อ

อินฟลูฯ สาว สายทำอาหาร ถูกมิจฉาชีพอ้างเป็นตำรวจโทรหา แต่เธอไม่เชื่อ โดนท้าอีก 10 นาทีเจอกัน ปรากฏว่า มีตำรวจจาก 2 โรงพักบุกมาที่บ้านจริง

“วราวุธ” ระบุการแข่งขัน อบจ.-สุพรรณบุรี ไม่มีปัญหา

“วราวุธ” ระบุการแข่งขัน อบจ.-สุพรรณบุรี ไม่มีปัญหา บอกสนามใหญ่ ไม่เข้าไปก้าวก่ายสนามท้องถิ่น ซ้ายก็เพื่อน ขวาก็พวก

ครม.เคาะแจกเงินหมื่นเฟส 2 ผู้สูงอายุ 60 ปี

“จุลพันธ์” เผย ครม.เห็นชอบโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านกลุ่มผู้สูงอายุ วงเงิน 4 หมื่นล้านบาท คาดว่าจะดำเนินการทันก่อน 29 ม.ค.68 รวม 3 มาตรการ สร้างเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบ 1.4-1.5 แสนล้านบาท

ข่าวแนะนำ

วันแรก ตาย 52 อุบัติเหตุ 322 ครั้ง บาดเจ็บ 318 คน

สถิติวันแรก 10 วันอันตราย ตาย 52 อุบัติเหตุ 322 ครั้ง บาดเจ็บ 318 คน​ “เพิ่มพูน” เน้นทุกฝ่ายช่วยกันดูแลความปลอดภัย อำนวยความสะดวก เข้มเรื่องกฎหมาย

“อนุทิน” ขอทุกฝ่ายรอศาลปกครองตัดสิน “ที่ดินเขากระโดง”

“อนุทิน” ขอทุกฝ่ายหยุดตอบโต้ปม “เขากระโดง” รอศาลปกครองตัดสินชี้ขาด ยันแม้ไม่ใช่ “มท.หนู” กรมที่ดินก็ตัดสินแบบนี้

เตือนภาคใต้ฝนเพิ่มขึ้น ส่วนไทยตอนบน อุณหภูมิลดลง

กรมอุตุฯ เตือนภาคใต้ฝนเพิ่มขึ้น ตกหนักบางแห่ง ระวังน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก ส่วนไทยตอนบน อุณหภูมิลดลงกับมีลมแรง อีสานอุณหภูมิลด 2-4 องศาฯ ส่วนภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพฯ และปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ตอนบน อุณหภูมิลดลง 1-3 องศาฯ