สยามพารากอน 19 พ.ค.- “วิษณุ” รอสมช.เคาะต่ออายุใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ คาดแค่เวลาสั้นๆ จ่อแก้ พ.ร.ก.โรคติดต่อฯ อีกรอบ สอดรับให้โควิดเป็นโรคประจำถิ่น
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงการเตรียมขยายระยะเวลาการบังคับใช้พระราชกำหนด(พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 หลังจากการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วราชอาณาจักร คราวที่ 17 จะสิ้นสุดในวันที่ 31 พ.ค.นี้ ว่า สภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.) จะพิจารณา ซึ่งเท่าที่ทราบเบื้องต้น ยังไม่ได้เริ่มพูดคุยกันเรื่องดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ขณะนี้อยู่ในช่วงการเตรียมลดระดับให้โรคโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น คงจะทำให้ความจำเป็นต้องลดลงด้วย โดยอาจต่อเวลาการบังคับใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไปอีกระยะหนึ่ง ซึ่งคงเป็นเวลาสั้น ๆ แล้วค่อยหายไปในที่สุด
เมื่อถามว่าแสดงว่าน่าจะต่อเวลาการใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไปอีกประมาณ 1 เดือน ใช่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ทำนองนั้น แต่ทั้งหมดขึ้นอยู่กับการพิจารณาของสมช. ส่วนการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) พรุ่งนี้(20 พ.ค.) จะพิจารณาเรื่องดังกล่าวด้วยหรือไม่ ไม่แน่ใจ
ส่วนกรณียังไม่ประกาศบังคับใช้พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) โรคติดต่อ พ.ศ.2558 แม้คณะรัฐมนตรี(ครม.) มีมติเห็นชอบตั้งแต่วันที่ 21 ก.ย.2564 นายวิษณุ กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่ทราบว่าจะประกาศใช้เป็นพ.ร.ก.หรือนำไปจัดเป็นร่างพ.ร.บ.โรคติดต่อฯ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม เพราะจากสถานการณ์ขณะนี้ทำให้เห็นว่ามีความจำเป็นน้อยลงจากที่คิดไว้ตอนแรก และอาจต้องนำพ.ร.ก.ดังกล่าวมาปรับแก้ไขบางส่วนอีกครั้ง
“ตอนที่จัดทำร่างพ.ร.ก.ยังไม่เกิดการระบาดของเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน และคำว่า “โรคประจำถิ่น” ยังไม่มีอยู่ในกฎหมายฉบับใดเลย แต่ตอนนี้เรากำลังจะประกาศให้โรคโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น จึงทำให้ยังไม่รู้ว่าแปลว่าอะไร และสามารถใช้มาตรการใดได้บ้าง จึงอาจทำให้ต้องบรรจุมาตรการบางอย่างลงไปในพ.ร.ก.ดังกล่าวก่อนประกาศใช้” นายวิษณุ กล่าว
เมื่อถามว่าจะมีความชัดเจนว่าต้องแก้ไขพ.ร.ก.โรคติดต่อฯ หรือไม่อย่างไร นายวิษณุ กล่าวว่า ต้องรอฟังจากฝ่ายแพทย์และกระทรวงสาธารณสุขก่อน ซึ่งถ้าพ.ร.ก.นี้ได้รับการแก้ไขอีกครั้งแล้ว ไม่ต้องเสนอขอความเห็นชอบจากที่ประชุมศบค.ชุดใหญ่อีกหรือไม่ เสนอที่ประชุม(คณะรัฐมนตรี(ครม.) ได้เลย
“พ.ร.ก.โรคติดต่อฯ ที่ผ่านครม.ไปแล้ว มีมาตรการระดับสูง เพราะตอนนั้นคาดหวังว่าจะนำมาใช้แทนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แต่ขณะนี้สถานการณ์โรคโควิด-19 ทั่วโลกลดระดับลง เพราะฉะนั้นพ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 ที่เรามีอยู่อาจใช้ต่อไปได้ หรือนำมาปรับแก้ด้วยการจัดทำเป็นร่าง พ.ร.บ.ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งสิ่งเหล่านี้เรากำลังคิดกันอยู่” นายวิษณุ กล่าว.-สำนักข่าวไทย