กทม. 24 เม.ย.- ‘วิโรจน์’ นำทีม 15 ผู้สมัคร ส.ก. พรรคก้าวไกล ฝั่งธนบุรี จัดเวทีปราศรัย Flash meet ชู เหตุผลที่ต้องเลือก ผู้ว่าฯ และ ส.ก. จากก้าวไกล พร้อมเปิดวิสัยทัศน์การวิธีการหางบประมาณ เพื่อไปสร้าง เมืองที่ ‘คนเท่ากัน’
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงเย็นเมื่อวานนี้ (23 เม.ย.) นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เบอร์ 1 พรรคก้าวไกล เปิดเวทีปราศรัยย่อย หรือ ‘Flash meet’ บริเวณใต้สะพานพระราม 8 พร้อมผู้สมัครสมาชิกสภากรุงเทพ (ส.ก.) ฝั่งธนบุรี ทั้ง 15 เขต ซึ่งเป็นการปราศรัยรูปแบบมาไว ไปไว ไม่ยืดเยื้อ เพื่อให้สอดคล้องไลฟ์สไตล์คนกรุงเทพ
นายวิโรจน์ เริ่มปราศรัยว่า หากมองด้วยมาตรฐานของสภาใหญ่ที่ ส.ส. พรรคก้าวไกล ได้ทำไว้ในเรื่องการตรวจสอบการใช้งบประมาณ คนกรุงเทพฯกควรเลือก ส.ก. จากพรรคก้าวไกล เข้าไปทำหน้าที่ปกป้องภาษีที่มาจากประชาชน และเพื่อไปผลักดันให้มีการนำภาษีไปใช้เกิดประโยชน์สูงที่สุด เพราะตนเชื่อว่า ส.ก. ก้าวไกลจะสร้างมาตรฐานสภากรุงเทพให้เทียบเท่ากับสภาผู้แทนราษฎรได้
“งบประมาณกรุงเทพฯ รวมๆกันแล้วมีมากกว่า 100,000 ล้านบาทต่อปี ส.ก. มีหน้าที่ดูแลเงินภาษีของพวกท่าน หากพูดแบบภาษาชาวบ้าน ถ้า ส.ก. เฮงซวย เงินภาษีของจะถูกใช้ไปแบบเฮงซวย ดังนั้น นี่คือเหตุผลที่ต้องเลือก ส.ก. จากพรรคก้าวไกล” นายวิโรจน์ กล่าว
นาววิโรจน์ ยังกล่าวว่า นโยบายต่างๆ ไม่ว่าจะผู้สมัครผู้ว่าฯ คนไหนโฆษณาไว้อย่างไร ล้วนแล้วแต่ต้องใช้เงินจากงบประมาณทั้งสิ้น ผู้ว่าฯ ในฐานะที่เป็นผู้บริหารของเมือง เป็นคนที่กรุงเทพจ้างมาเป็น CEO หน้าที่แรกคือ การหาเงินงบประมาณ หากผู้ว่าฯ ไม่บอกวิธีการหาเงิน นโยบายต่างๆที่โฆษณาจะไม่สามารถทำได้อย่างแน่นอน การปราศรัยในครั้งนี้จึงต้องการมาบอกว่า กรุงเทพมหานครจะหาเงินได้อย่างไร
นายวิโรจน์ กล่าวว่า กรุงเทพฯจะมีงบประมาณเพิ่มได้จากการเก็บภาษีสิ่งปลูกสร้าง หรือแต่เดิมเรียกว่าภาษีโรงเรือน ซึ่งกรุงเทพมีตึกรามบ้านช่องมากมาย แต่ที่ผ่านมาเก็บภาษีสิ่งปลูกสร้างได้เพียง 5,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งความจริงแล้วกรุงเทพสามารถตั้งเป้าหมายการเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างได้มากกว่าเดิมอีก 10,000 ล้านบาทต่อปี แต่ที่ผ่านมาทำไม่ได้เพราะว่า ที่ดินบางแห่งย่านใจกลางเมืองหรือย่านธุรกิจจะถูกทำให้เป็นที่ตาบอด เพื่อทำให้ที่ดินตรงนั้นราคาประเมินถูกลง เพื่อทำให้เสียภาษีถูกลง
“เราจะไม่เห็นสภาพการณ์แบบนี้เกิดกับเมืองดังๆ ทั่วโลกเลย แต่เราเห็นได้ที่กรุงเทพ และที่ประเทศไทย ผมคิดว่าผู้ว่ากรุงเทพต้องกล้าออกข้อบัญญัติหรือระเบียบในการจัดการเรื่องนี้แบบตรงไปตรงมา ไม่ใช่อ่อนข้อให้นายทุนคนตัวใหญ่ หลบเลี่ยงการจ่ายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง” นายวิโรจน์ กล่าว
นายวิโรจน์ กล่าวว่า กรุงเทพมหานครมีค่าใช้จ่ายในการจัดการขยะถึง 7,000 ล้านบาท แต่เก็บภาษีจากขยะได้เพียง 500 ล้านบาทต่อปี ในเรื่องนี้ก็สามารถตั้งเป้าในการเก็บค่าขยะจากนายทุนใหญ่ไม่ว่าจะเป็นจากห้างสรรพสินค้าหรือคอนโดหรู เพื่อนำเข้ามาเป็นภาษีเพิ่มได้อีก 2,000 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังมีภาษีจากป้ายบิลบอร์ดที่มีมูลค่ามหาศาลและป้ายอิเล็กทรอนิกส์ทั่วกรุงเทพ ที่ยังไม่มีระเบียบจัดเก็บได้อย่างชัดเจน ก็จะสามารถเก็บภาษีจากป้ายได้เพิ่มอีก 1,000 ล้านบาท
“เมืองนี้จะต้องขับเคลื่อนด้วยการบริจาคไปอีกนานแค่ไหน แม้ว่าการบริจาคจะไม่ใช่ปัญหา แต่เราจะน้ำท่วมปากปิดตาข้างเดียว ยอมให้คนตัวใหญ่ตีตั๋วเด็ก หลบเลี่ยงภาษีแล้วเอาเปรียบคนกรุงเทพแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆอย่างนั้นหรือ หากเป็นแบบนี้ต่อไปเมืองนี้จะน่าอยู่เฉพาะกับคนที่มีเงินหรือมีเส้นสาย แต่จะไม่น่าอยู่สำหรับคนจน คนตัวเล็กตัวน้อยที่ทำมาหากิน เราขาดทุนกับประชาชนได้ แต่ขาดทุนกับนายทุนใหญ่ไม่ได้ และถ้ามีผู้ว่าฯชื่อ วิโรจน์ จะสามารถเก็บภาษีและค่าธรรมเนียมต่างๆ เพิ่มขึ้นได้อีกกว่า 13,000 ล้านบาทต่อปี เพื่อนำไปจัดเป็นสวัสดิการและขับเคลื่อนทั้ง 12 นโยบาย เพื่อให้กรุงเทพเป็นเมืองที่คนเท่ากันให้ได้” นายวิโรจน์ กล่าว
นางวิโรจน์ กล่าวทิ้งท้ายว่า สวัสดิการที่ต้องการจะสร้างขึ้นไม่ใช่การสงเคราะห์ ทั้งยังจะช่วยทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น และดีสำหรับทุกคนทั้งคนตัวเล็กและคนตัวใหญ่ ถ้าไม่เริ่มทำ ‘รัฐสวัสดิการ’ ไม่คืนความเป็นธรรมให้กับเมือง ต่อให้เศรษฐกิจดี แต่เม็ดเงินส่วนใหญ่ก็จะถูกคนตัวใหญ่สูบเอาไป และเอารัดเอาเปรียบ นี่คือสิ่งที่ หากผู้ว่าชื่อ วิโรจน์ ต้องการจะทำ ทำแล้วจะเปลี่ยนแปลงเลย จะไม่วนลูปกลับมาเจอกับปัญหาเดิมๆอีก
ขณะที่นายนิธิกร บุญยกุลเจริญ ผู้สมัคร ส.ก.เขตบางบอน เบอร์ 2 พรรคก้าวไกล กล่าวว่า ตนเชื่อว่า สิ่งที่คนกรุงเทพมองเห็นตรงกันคือ เมืองนี้ควรมีเท่าเทียมกัน เป็นเมืองที่ทันสมัย มีการนำเทคโนโลยีมาแก้ไขปัญหาต่างๆ และการลงทุนในเทคโนโลยีที่มากพอก็คือ การลดความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นได้จริง
“ผมอยากเห็นกรุงเทพเป็นท้องถิ่นที่เปิดเผยและโปร่งใส กทม.มีงบต่อปีประมาณ100,000 ล้านบาท แต่ทุกครั้งเราจะรู้ข้อมูลเป็นข่าวแค่บอกว่า งบนี้เอาไปใช้โครงการแบบนี้ ตอนนี้ผ่านสภาแล้ว เราอยากเห็นประชาชนมีส่วนร่วมมากกว่านั้น ยกตัวอย่างข่าวหนึ่งที่ผมไปเจอ มันสะท้อนว่า บทบาทของสภา กทม. ที่ผ่านมา ควรตั้งใจทำเพื่อลงทุนในเทคโนโลยีและการศึกษามากกว่านี้ ข่าวบอกว่าเมื่อสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินแห่งชาติ ไปสุ่มตรวจ 21 โรงเรียนในสังกัด กทม. กลับพบว่ามีโรงเรียนที่มีคอมพิวเตอร์ไม่พอมากถึง 20 โรงเรียน หรือก็คือแทบทั้งหมด เหล่านี้ควรเป็นเรื่องที่ สภา กทม.สามารถกำกับติดตามเพื่อให้ฝันของคนกรุงเทพเป็นจริงได้มากกว่านี้” นายนิธิกร กล่าว
ด้าน นายทันธรรม วงษ์ชื่น ผู้สมัคร ส.ก. เขตบางกอกน้อย เบอร์ 1 พรรคก้าวไกล กล่าวว่า จากการลงพื้นที่มา 2 ปีกว่า กทม. สูญเสียงบปีละ 80,000 ล้านบาท ถามว่าคนกรุงเทพได้อะไร เวลาเจ็บป่วย รวมถึงโควิดทุกคนทำอย่างไร ในฐานะที่ตนทำงานอาสาในช่วงโควิด สิ่งที่เห็นคือ การต้องอ้อนวอน ร้องขอ เสียเงินเสียทองเพื่อให้ได้เตียงและยารักษา ทั้งที่ในเวลานั้น กทม. ไม่ใช่ไม่มีงบประมาณ หรืออย่างน้อยก็ยังมีงบกลางอยู่ 14,000 ล้านบาท
“งบแสนล้านกับงบกลางกว่าหมื่นล้านเอาไปทำอะไรหมด นี่คือเหตุผลว่าทำไม ส.ก. จึงมีความสำคัญในฐานะตัวแทนการตรวจสอบ เพื่อให้การใช้เงินทุกบาททุกสตางค์เป็นไปอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ผมได้คุยกับประธานชุมชนหลายชุมชนที่ต้องดูแลคนเป็นร้อยๆคน แต่เขามีงบเบิกจ่ายได้แค่ 8,000-10,000 บาท ผมคิดว่า ถึงเวลาแล้วที่คนกรุงเทพฯ ต้องเลือก ส.ก.และผู้ว่าฯที่มีความเด็ดเดี่ยว ไม่เอาใจนายทุนเป็นที่ตั้ง และไม่ต้องสนใจว่าคนนั้นจะมีอำนาจมากขนาดไหน แต่สำคัญคืออย่ามายุ่งกับภาษีประชาชน ผมอยากให้พวกท่านลองให้โอกาสพวกเราเข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดสรรงบประมาณ ผมมั่นใจว่าพวกเราจะทำให้ท่านเห็นว่า เราไม่ได้ต้องการแค่เปลี่ยนตัวผู้บริหาร แต่ต้องเปลี่ยนโครงสร้างที่มันเน่าเฟะ ไปรื้อมันออกมาทั้งหมดเพื่อทำให้กรุงเทพมหานครเป็นเมืองที่ดีขึ้นได้จริง” นายทันธรรม กล่าว
ทั้งนี้ นายทันธรรม ยังกล่าวด้วยว่า หากใครเคยไปไปต่างประเทศ เวลาดูว่าประเทศไหนเจริญ สิ่งที่พูดถึงคือ ทางเท้าดี น้ำเสียไม่มี น้ำฟรีกินได้ มีความปลอดภัย ขนส่งสะดวก แต่เวลาบอกว่า กรุงเทพฯเจริญดูจากอะไร กลับต้องดูว่ามีห้างหรือยัง คอนโดมีไหม มีร้านสะดวกซื้อติดแอร์หรือเปล่า
“เราถูกหลอกมาตลอดให้ดูจากเรื่องเหล่านี้ ทั้งที่ความเจริญต้องดูจากชีวิตความเป็นอยู่ประชาชน ไม่ใช่ดูจากวัสดุสิ่งของที่นายทุนเอามาลงแล้วเพิ่มมูลค่าให้เขา ทั้งยังไปขยายความเหลื่อมล้ำให้เกิดขึ้น กรุงเทพฯ ต้องแก้ปัญหาด้วยการทำให้คนเท่ากันก่อน เมื่อคนไม่เท่าเทียมกัน การบังคับใช้กฎหมาย ไม่เท่ากัน การจัดสรรงบไม่เท่าเทียมกัน การแก้ไขดูแลต่างๆก็จะไม่เท่าเทียมกัน เวลาฝนตกน้ำท่วม ถามว่าเคยเกิดหน้าห้าง หน้าคอนโดหรูหรือไม่ ฟุตบาทเรียบก็มีแต่หน้าห้าง ผมอยู่บางกอกน้อยมา 30 ปี ทำไมหน้าบ้านฟุตบาทเละเทะตลอด หรืออย่างร้านก๋วยเตี๋ยว เมื่อก่อนบางกอกน้อยมีก๋วยเตี๋ยวเรืออร่อยๆเยอะมาก แต่ตอนนี้หายหมด กลายเป็นก๋วยเตี๋ยวเรือแต่ต้องไปตามกินในห้าง เพราะคนอยู่ที่นั่น ถามว่าเพราะอะไร เพราะสะดวก สะอาด ปล่อยภัย คำถามต่อไปก็คือ แล้วทำไมเราจะทำพื้นที่อัตลักษณ์ชุมชนให้มีความสะดวก สะอาด ปลอดภัย เพื่อให้คนเข้ามาบ้างไม่ได้ งบ 80,000 ล้านบาทของกรุงเทพ จะเอามาพัฒนาชุมชนบ้างไม่ได้เลยหรือ ผมเชื่อว่าทำได้ แต่อยู่ที่ว่าจะเลือกใครเข้าไปทำสิ่งเหล่านั้น” นายทันธรรม กล่าว
นายอำนาจ ปานเผือก ผู้สมัคร ส.ก.เขตบางแค เบอร์ 6 พรรคก้าวไกล กล่าวว่า นโยบายที่อยากทำคือ ชุมชนพึ่งตนเองหรือมีสิทธิทำอะไรก็ได้ โดยไม่ต้องไปร้องขอผู้มีอำนาจ ผู้ว่าฯมีงบกลาง 14,000 ล้านบาท แล้วเอาไปทำคลองเล็กๆ ถามว่าชุมชนได้อะไร แทนที่จะเอางบประมาณส่วนนี้ไปหนุนเพื่อทำให้สวัสดิการเด็ก ผู้สูงอายุ และผู้พิการดีกว่านี้ได้หรือไม่
“นโยบายหากผู้ว่าฯ คือนายวิโรจน์ งบที่ผู้ว่าฯถือไว้ อย่างน้อย 4,000 ล้านบาท จะถูกกระจายออกไปให้ชุมชนทั่วกรุงเทพกว่า 200 ชุมชน ซึ่งมีประชากรกว่า 2,000,000 คน หรือมากกว่า 50,000 ครัวเรือน เงิน 500,000 – 1,000,000 บาท จะลงไปที่ชุมชนเพื่อคิดเองทำเองได้ ถนน สะพาน ทางเท้า ระบบรักษาพยาบาล จะสามารถใช้งบตรงนี้ไปจัดการปัญหาของตัวเองได้ทันที ไม่ใช่งบที่ไม่อยากได้ แต่อยู่ๆใส่ลงมา ถังดับเพลิงบ้าง เก้าอี้บ้าง แล้วบังคับให้ชุมชนเซ็นรับ ถ้าผู้ว่าชื่อวิโรจน์ จะไม่มีแบบนี้อีกต่อไป” นายอำนาจ กล่าว .-สำนักข่าวไทย