ศาลเจ้าแม่ทับทิม 2 เม.ย.-“วิโรจน์” ลงพื้นที่ศาลเจ้าแม่ทับทิม สะพานเหลือง ถกประเด็นการพัฒนาเมือง ชี้ต้องโอบรับวิถีชุมชน ลั่นลุยหาเสียงพร้อม ส.ก.50 เขต
นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครหมายเลข 1 ลงพื้นที่ศาลเจ้าแม่ทับทิม สะพานเหลือง (ศาลเดิม) พูดคุยกับผู้ดูแลศาลเดิม เพื่อสื่อสารประเด็นการพัฒนาเมืองของหน่วยงานรัฐ ว่า หากมองตามหลักนิติศาสตร์ กางสัญญาว่าใครถูกใครผิดก็ตัดสินได้ง่ายด้วยการผลักดันไล่ที่ แต่หากมองถึงความรู้ของประชาชน สถานที่ที่โอบรับกิจกรรมทางสังคมวิถีชีวิตร่วมสมัย หลายชั่วอายุคน ที่คนในชุมชนเรารู้สึกหวงแหน เหล่านี้ต้องมีต้นทุนในการ เปลี่ยนแปลง มีต้นทุนในการอนุรักษ์ การตัดสินใจถ้ามองในมุมเอกชนอย่างเดียวก็ต้องตั้งเป้าทำกำไร แต่ถ้ามองในมุมของรัฐ ของหน่วยงานที่ได้ภาษีจากรัฐ ที่ต้องอยู่ร่วมกับชุมชน จะตั้งเป้าทำกำไรสูงสุดไม่ได้ ซึ่งสถานที่เก่ากับโบราณสถานมีความต่างกัน เพราะโบราณสถาน มีวิถีชีวิตของผู้คน หากผลักดันการเปลี่ยนแปลงด้วยกระดาษไม่กี่แผ่น ความขัดแย้งจะเกิดขึ้น หารร่วมมือร่วมใจระหว่างองค์กรกับชุมชนจะไม่เกิด คำถามคือเราต้องการ ความเปลี่ยนแปลงแบบไหน ตนย้ำเสมอว่า เมืองไม่ใช่แค่สิ่งปลูกสร้าง แต่เมืองที่มีชีวิตคือสิ่งที่คนต้องการ และการลงพื้นที่วันนี้ เป็นหนึ่งในตัวอย่างที่จะใช้จัดการมุมมองใหม่ของเมือง และกรณีนี้เทียบเคียงกับ ท่าเตียน ท่าพระจันทร์ ท่าช้าง ที่ปรับปรุงทาสีสวยงาม ดูเป็นระเบียบขึ้น แต่วิถีชีวิตกิจกรรมของชุมชนมันแห้งแล้ง เพราะคำว่าสวยของเมืองไม่ใช่แค่เพียงสิ่งปลูกสร้างเท่านั้น แต่ต้องเป็นเมืองที่มีการโอบรับวิถีชีวิตของคน
พร้อมกันนี้นายวิโรจน์ กล่าวถึงแนวทางการลงพื้นที่หาเสียงหลังจากมีว่า จะพบปะประชาชนพร้อมกับผู้สมัครสมาชิกสภากรุงเทพฯ (ส.ก.) พรรคก้าวไกล และนำเสนอว่า ส.ก.มีความสำคัญอย่างมาก อนุมัติงบประมาณเพื่อให้ผู้ว่าขับเคลื่อนนโยบายคือ ส.ก.จึงเป็นผู้ที่ดูแลการใช้จ่ายภาษีของประชาชน หากได้ ส.ก.ไม่ดี เงินของประชาชน จะถูกใช้อย่างสุรุ่ยสุร่าย ใช้กับโครงการที่ไม่จำเป็น และยังออกกติกาที่ใช้ร่วมกันหากไม่อิงกับประชาชน กติกาที่ออกมาก็จะริดรอนสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ทั้งนี้ตั้งใจจะลงพื้นที่ครบทั้ง 50 เขต
ส่วนผลสำรวจความคิดเห็นคนรุ่นใหม่ เลือกนายวิโรจน์ เป็นผู้ว่าฯ กทม อันดับ 2 รองจากนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ นั้น นายวิโรจน์ มองว่ายังเหลือเวลาอีกเยอะและตนต้องทำงานอย่างหนัก ซึ่งการได้รับการพิจารณาที่มากขึ้นจากประชาชน ส่วนหนึ่งอาจมากจากประชาชนรู้สึกอัดอั้นกับปัญหาที่ถูกเอารัดเอาเปรียบ เพราะเมืองนี้ให้ราคาคนไม่เท่ากัน จึงต้องการคนกล้าเข้ามาแก้ ไม่ใช่คนที่จะเข้ามาบริหาร และเว้นวรรคปัญหาเหล่านี้ ตนจึงได้รับการพิจารณาและความสนใจที่มากขึ้น.-สำนักข่าวไทย