รัฐสภา 25 ก.พ.-“พล.อ.สมเจตน์” ซัดส.ส.แก้กม.พรรคการเมือง ทำลายคุณค่าประชาธิปไตย การให้ประชาชนมีส่วนร่วม ด้าน “เสรี” ชี้ปฏิรูปไม่เป็นผล เพราะนักการเมืองไม่เปลี่ยนตัวเอง ย้ำไม่มีอคติ
พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม สมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) อภิปรายต่อที่ประชุมร่วมรัฐสภา ในวาระพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง (ฉบับที่…) พ.ศ…ต่อเนื่องเป็นวันที่สอง โดยประกาศไม่รับหลักการร่างกฎหมายลูกว่าด้วยพรรคการเมืองดังกล่าวที่เสนอโดยส.ส.ทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาล รวม 5 ฉบับ เนื่องจากมีเนื้อหาเกินเลย ไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ แก้ปัญหาการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของพรรคการเมือง เพื่อให้การกระทำนั้นชอบด้วยกฎหมาย เป็นการขัดขวางการมีส่วนร่วมของสมาชิกที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ ขัดขวางการพัฒนาพรรคการเมืองให้เป็นของประชาชน แต่จะรับหลักการเพียงร่างกฎหมายลูกของคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพราะมีหลักการสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่1) พ.ศ.2564 ซึ่งพรรคการเมืองกล่าวอ้างว่าการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งโดยการเลือกตั้งขั้นต้น ให้สมาชิกพรรคร่วมคัดเลือกนั้น ทำไม่ได้จริง เสียค่าใช้จ่าย
“ผมมองว่าคือการทำลายคุณค่าและทำความสำคัญของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อย่างไรก็ตาม ในฐานะผมเป็นผู้ร่วมยกร่างกฎหมายลูกว่าด้วยพรรคการเมืองฉบับปัจจุบัน ต้องการสร้างพรรคการเมืองให้เป็นของประชาชน มีประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ ประชาชนมีส่วนร่วมแท้จริง โดยเฉพาะการคัดเลือกผู้สมัคร จึงออกแบบให้มีรายได้ของตนเอง เพื่อพ้นจากการครอบงำของนายทุน มีทุนประเดิมจากผู้ริเริ่ม รวมถึงการกำหนดเงื่อนไขไม่ให้คนนอกพรรคถูกครอบงำ ยืนยันว่าเจตนาของการทำกฎหมายลูกไม่ใช่มุ่งเพื่อทำลายพรรคการเมือง อย่างไรก็ตาม กรณีที่ส.ส.เสนอแก้ไขกฎหมายอาจทำให้ย้อนไปสู่วิกฤติการเมืองอีกครั้ง โดยเฉพาะแก้ไขเกินเลยกว่ารัฐธรรมนูญ มาตรา 83 ที่มีคำถามว่าจะทำได้หรือไม่” พล.อ.สมเจตน์ กล่าว
พล.อ.สมเจตน์ อภิปรายโดยฝากข้อคิดไปยังส.ส.ว่า พรรคการเมืองเป็นองค์กรสำคัญในระบอบประชาธิปไตย รับมอบอำนาจจากประชาชนไปทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติ และบริหารราชการแผ่นดิน แก้ไขปัญหาสังคมที่ซับซ้อน เพื่อประโยชน์สุขประเทศ ประชาชน จึงน่าคิดว่าการปฏิบัติของพรรคการเมือง ต้องการการปฏิบัติแบบง่าย ๆ ทั้งจัดตั้งพรรค จัดตั้งสาขา คัดเลือกผู้สมัครง่าย ๆ ดังนั้น พรรคการเมืองจะเข้าไปรับผิดชอบแก้ไขปัญหาชาติที่ซับซ้อนได้อย่างไร นอกจากนั้นการปฏิรูปพรรคการเมืองไม่สำเร็จ หากผู้มีอำนาจในพรรคลดอำนาจตนเองให้กับสมาชิกพรรรคหรือปฏิรูปตนเอง
ขณะที่นายเสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว. อภิปรายว่า การปฏิรูปประเทศด้านการเมืองที่ตนมีส่วนร่วมฐานะสมาชิกสภาขับเคลื่อนสภาปฏิรูปประเทศ (สปท.) พบปัญหาการเมืองว่าด้วยพรรคการเมืองถูกนายทุนครอบงำ และในการทำงานของ สปท. มีนักการเมืองหลายคนร่วมคิดถึงการแก้ปัญหา โดยเฉพาะการซื้อตัวประชาชนให้เป็นสมาชิกพรรค นายทุนออกค่าบำรุงพรรคแทนประชาชน และที่ผ่านมามีข้อพิจารณาว่า หากลงทุน 2 หมื่นล้านบาทสามารถซื้อประเทศได้ โดยให้ส.ส.400 คน ลงทุนคนละ 50 ล้านแต่ละเขต มีโอกาสเป็นส.ส.ใช้อำนาจบริหารประเทศ จึงมีข้อเสนอให้ใช้วิธีแก้ไขโดยการเลือกตั้งขั้นต้น หรือไพรมารี่โหวต เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วม ดังนั้นจึงเป็นวิธีแก้ปัญหาไม่ใช่ทำให้พรรคการเมืองทำงานลำบาก
“5 ปีที่กฎหมายใช้ แต่ทำไม่สำเร็จ เพราะพวกเราไม่ยอมเปลี่ยนแปลง หากมีความตั้งใจสามารถทำได้ แต่ปัจจุบันไม่ให้ความสำคัญ เช่นการตั้งสาขาพรรค จึงบอกว่ายุ่งยาก แต่ความจริงไม่ยุ่งยาก หากต้องการให้ประชาชนเลือกตัวแทนในเขตหรือพื้นที่ เป็นผู้สมัคร ส.ส.สามารถแก้ปัญหาลงทุน หรือ ธุรกิจการเมือง อย่างไรก็ตาม ผมเชื่อว่าไม่มีนักการเมืองคนไหนอยากซื้อเสียง แต่คนดีไม่มีคะแนน จึงเกิดคืนหมาหอน” นายเสรี กล่าว
นายเสรี ยืนยันว่าการเขียนร่างกฎหมายลูกว่าด้วยพรรคการเมือง ไม่ได้มีอคติ หากไม่ยอมเปลี่ยนแปลง และต้องการย้อนกลับไปสู่ปัญหาเก่า ตนจะรับแค่บางร่างเท่านั้น .-สำนักข่าวไทย