ทำเนียบรัฐบาล 8 ก.พ.-“อนุทิน” นำทีมรมต.ภูมิใจไทยตบเท้ายื่นหนังสือลาประชุมครม. คัดค้านมท. 1 ดันขยายสัญญาสัมปทานสายสีเขียวเข้า หวั่นมีปัญหาข้อกม.ในอนาคต
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมคณธรัฐมนตรี(ครม.) วันนี้(8ก.พ.) รัฐมนตรีในสังกัดพรรคภูมิใจไทยจำนวน 7 คน ซึ่งประกอบด้วย นายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม นายทรงศักดิ์ ทรงศรี รมช.มหาดไทย นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรและสหกรณ์ และนางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รมช.ศึกษาธิการยื่นหนังสือขอลาการประชุมเนื่องจากติดภารกิจ
ทั้งนี้ การพร้อมใจกันลาดังกล่าว ถูกตั้งข้อสังเกตว่าเพื่อแสดงออกถึงความไม่เห็นด้วยกรณีกระทรวงมหาดไทยเสนอวาระให้ครม.พิจารณาขอความเห็นชอบร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวของกรุงเทพมหานคร(กทม.) เพื่อขยายสัญญาสัมปทานให้กับ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC บริษัทในเครือ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS ออกไปอีก 30 ปี จากเดิมที่จะสิ้นสุดสัญญาสัมปทานในปี 2572 ออกไปเป็นปี 2602 แลกกับเก็บค่าโดยสาร 65 บาทตลอดสาย ทั้งยังมองว่ากระทรวงมหาดไทยไม่ดำเนินการให้เป็นไปตามระเบียบกฎหมาย และหลักธรรมาภิบาล หากอนุมัติวาระดังกล่าวจะส่งผลทางด้านกฎหมายในอนาคตได้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เรื่องดังกล่าวกระทรวงคมนาคม คัดค้านการขยายสัญญาสัมปทานมาโดยตลอด พร้อมเสนอความเห็นเพิ่มเติมเข้าครม.ทุกครั้งที่จะเสนอ เรื่องนี้ โดยเฉพาะ 4 ประเด็นหลัก คือ 1.ประเด็นความครบถ้วนตามหลักการของพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 2.ประเด็นการคิดค่าโดยสารที่เหมาะสมและเป็นธรรมแก่ผู้ใช้บริการเพื่อส่งเสริมให้ผู้มีรายได้น้อยมาใช้บริการ รวมทั้งรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่สามารถกำหนดอัตราค่าโดยสารสูงสุดได้ต่ำกว่า 65 บาท 3.ประเด็นการใช้สินทรัพย์ของรัฐที่ได้รับโอนจากเอกชนให้เกิดประโยชน์สูงสุด ควรพิจารณาให้เกิดความถ่องแท้ถึงการใช้สินทรัพย์ว่ารัฐควรได้ประโยชน์จากการขยายสัญญาสัมปทานเป็นจำนวนเท่าไร อย่างไร จนกว่าจะครบอายุสัญญา
4.ประเด็นข้อพิพาททางกฎหมาย ซึ่งเกิดขึ้นจากกรณี กทม.ได้ทำสัญญาจ้าง BTSC เดินรถส่วนต่อขยายที่ 1 และส่วนต่อขยายที่ 2 ไปจนถึงปี 2585 และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ได้ไต่สวนข้อเท็จจริง จึงสมควรรอผลการไต่สวนข้อเท็จจริงก่อน โดยกระทรวงคมนาคมได้ขอให้กทม.ชี้แจงทั้ง 4 ประเด็นนี้ให้ชัดเจนก่อน
ล่าสุดวันนี้กระทรวงคมนาคมได้เสนอความเห็นเพิ่มเติมให้ครม.พิจารณาประกอบด้วย เนื่องจากมีประเด็นเพิ่มอีก 2 ประเด็นคือ สิทธิการคำนวณค่าโดยสาร การรองรับระบบตั๋วร่วม และความชัดเจนของประเด็นข้อกฎหมาย ที่กทม.ยืนยันว่าจะเข้าดำเนินการตั๋วร่วม แต่จะไม่ยอมลงทุนเอง.-สำนักข่าวไทย