กทม. 3 ม.ค.- “พิชัย” คาดการณ์เศรษฐกิจ ปี 2565 “ฟื้นไม่มี หนีไม่พ้น” ชี้ 8 ปัญหาเศรษฐกิจที่ไทยต้องเผชิญ เช่น เงินเฟ้อสูง ดอกเบี้ยขึ้น หนี้พุ่ง งบประมาณลด ว่างงานเพิ่ม แนะถ้ารู้ตัวอย่าดันทุรัง เพราะไม่มีทางแก้ไขได้
นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รองประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย ด้านเศรษฐกิจ กล่าวว่า เป็นประจำทุกปีที่จะคาดการณ์เศรษฐกิจ โดยเศรษฐกิจไทยในปี 2565 เชื่อว่าจะหนักหนาสาหัสแบบสุดๆ ถึงขนาด “ฟื้นไม่มี หนีไม่พ้น” และคาดว่า “งบประมาณจะมีปัญหา รายได้ลด หนี้มีแต่จะเพิ่ม ว่างงานพุ่งพลเอกประยุทธ์ จะอยู่ยาก” ทั้งนี้ ที่บอกว่า “ฟื้นไม่มี” เพราะในปี 2565 เศรษฐกิจไทยโดยรวมจะยังติดลบและหยุดนิ่งเป็นปีที่สามติดต่อกัน จากปี 2563 ที่ติดลบ -6.1% ปี 2564 จะขยายได้น่าจะไม่ถึง 1% และ ปี 2565 นี้น่าจะขยายได้ประมาณ 3% เท่านั้น ซึ่งรวม 3 ปีแล้วก็ยังต่ำกว่าที่ตกลงมา ประเทศอื่นเขาเดินไปข้างหน้าไกลแล้ว แต่ 3 ปี ประเทศไทยยังถอยหลังติดลบอยู่ รายได้โดยรวมของคนไทยยังลดลง แล้วคนไทยจะมีความสุขได้อย่างไร อีกทั้งการปิดรับนักท่องเที่ยวในปัจจุบันยังไม่ทราบว่าจะเปิดรับนักท่องเที่ยวได้อีกเมื่อไหร่ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างต่อเนื่องในปีนี้
และที่จะ “หนีไม่พ้น” นี้คือ ปัญหาเศรษฐกิจที่ตกต่ำและติดลบนี้ จะทำให้หนี้พุ่งขึ้นไม่หยุด เพราะไม่มีรายได้เพียงพอที่จะใช้หนี้ได้ ไม่ว่าจะเป็นหนี้สาธารณะของรัฐบาล หนี้ครัวเรือนของประชาชน หนี้ธุรกิจที่เจ๊งกันมาตลอด หนี้เสียและหนี้เสี่ยงที่จะเสียในระบบธนาคาร และ หนี้นอกระบบ ซึ่งจะทำให้หนี้เหล่านี้ที่สูงอยู่แล้วต้องพุ่งสูงขึ้นอีก ซึ่งจะเป็นเหมือนระเบิดเวลารอจะประทุได้ตลอดเวลา แต่พลเอกประยุทธ์ กลับทำเหมือนทองไม่รู้ร้อน ยังคงออกมาตรการแจกเงินสะเปะสะปะอย่างต่อเนื่อง ทั้งที่ทำมาหลายปีเศรษฐกิจไทยก็ไม่ได้ดีขึ้นเหมือนตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ คนจนจริงลำบากจริงกลับเข้าไม่ถึงและไม่ได้ประโยชน์
อีกทั้งหนี้สาธารณะพุ่งกระฉูดแต่โครงสร้างพื้นฐานของประเทศกลับเสื่อมลง รถไฟความเร็วสูงของไทยถูกประเทศลาวแซงไปแล้ว การศึกษาไทยอยู่อันดับท้ายๆในอาเซียน ไทยไม่สามารถมีบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ได้ ระบบบริหารจัดการน้ำยังเป็นปัญหา ปริมาณฝุ่น PM 2.5 ที่เพิ่มขึ้นทุกปี และโอกาสหารายได้ในอนาคตของประเทศและของประชาชนกลับลดลงเรื่อยๆ จนไม่เห็นอนาคต ตลอด 7 ปี ประเทศไทยย่ำแย่ลงเรื่อยๆ เหมือนฉายาที่สื่อตั้งว่า “ชำรุดยุทธ์โทรม” โดยยังไม่เห็นว่าจะฟื้นกลับมาได้อย่างไร ดังนั้น จึง “หนีไม่พ้น” ที่พลเอกประยุทธ์ จะอยู่ในตำแหน่งต่อไปได้ยากในปีนี้ จากปัญหาเศรษฐกิจที่ทรุดหนักรุมเร้า ปัญหาความแตกแยกในพรรคพลังประชารัฐเอง ปัญหาข้อจำกัด 8 ปีในการอยู่ในตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญ และปัญหาอื่นๆ ที่จะตามมาอีกมาก
ทั้งนี้ อยากชี้ปัญหาทางเศรษฐกิจที่พลเอกประยุทธ์ จะต้องเผชิญ และเตรียมรับมือ 8 ปัญหาหลัก ดังนี้
- ปัญหาการระบาดของไวรัสโอมิครอน และ โอกาสที่จะเกิดซูนามิของไวรัสโควิดทั้งสายพันธุ์โอมิครอนและสายพันธุ์เดลต้าพร้อมกัน ตามคำเตือนขององค์กรอนามัยโลก (WHO) โดยหวังว่าจะไม่เกิดการกลายพันธุ์เพิ่มขึ้นอีก ซึ่งจะส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยอย่างรุนแรงและต่อเนื่อง โดยหวังว่าวิกฤตไวรัสโควิดจะจบกลางปีนี้จริงตามการคาดหมาย มิเช่นนั้นเศรษฐกิจไทยอาจจะขยายตัวต่ำกว่าที่คาดการณ์มาก
- ปัญหาเงินเฟ้อของโลกซึ่งจะส่งผลกระทบมาถึงไทย โดยเฉพาะเงินเฟ้อในประเทศสหรัฐอเมริกา นอกจากจะเกิดจากเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวเร็วแล้ว ยังเกิดจากราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น อีกทั้งปัญหาห่วงโซ่อุปทาน (Supply chain) ที่ทำให้สินค้าขาดแคลนและมีราคาสูง โดยเฉพาะชิป ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ อีกทั้งระบบการขนส่งขาดแคลน และ ค่าขนส่งที่เพิ่มขึ้นสูง จะส่งผลกระทบเพิ่มภาระต่อคนไทยที่ต้องมีค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น ในขณะที่รายได้ไม่เพิ่ม
- ปัญหาอัตราดอกเบี้ยที่จะเพิ่มขึ้น จากภาวะเงินเฟ้อ โดยแนวโน้มสหรัฐอเมริกาจะขึ้นดอกเบี้ยในกลางปีนี้และอาจจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีแนวโน้มที่อัตราดอกเบี้ยจะเพิ่มขึ้นถึง 1.5% ภายในสิ้นปี 2566 ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างมาก เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังไม่ฟื้น แต่ไทยคงต้องขึ้นดอกเบี้ยตามสหรัฐ ซึ่งจะทำให้หนี้ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนเพิ่มสูงขึ้นมาก มีภาระต้นทุนทางการเงินมากขึ้น จะส่งผลให้เกิดหนี้เสียเพิ่มมากขึ้น
- ปัญหาการขาดดุลแฝด (Twin Deficits) คือการขาดดุลงบประมาณ และ การขาดดุลบัญชีเดินสะพัด ซึ่งเป็นปัญหาสืบเนื่องจากปีที่แล้ว ที่รัฐบาลต้องใช้เงินจำนวนมากทำให้ขาดดุลงบประมาณสูง อีกทั้งยังขาดดุลบัญชีเดินสะพัดที่แม้การส่งออกจะเพิ่มสูงแต่ก็ไม่ได้ช่วยมากนัก เพราะการนำเข้าก็สูงขึ้นด้วย โดยเฉพาะยอดเงินการนำเข้าน้ำมันที่มีราคาสูงขึ้นมาก โดยใน 11 เดือนไทยต้องจ่ายค่านำเข้าน้ำมันแพงมากขึ้นถึง 412,186 ล้านบาท หรือ เพิ่มขึ้น 54.9% จากปีที่แล้ว อีกทั้งรายได้จากการท่องเที่ยวขาดหายไปเกือบหมด ดังนั้น ไทยจึงมีรายจ่ายในเงินตราต่างประเทศมากกว่ารายรับทำให้ขาดดุลบัญชีเดินสะพัด ซึ่งหากต้องปิดรับนักท่องเที่ยวนานปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดจะยังคงเป็นปัญหาหนัก
- ปัญหาการจัดทำงบประมาณ ทั้งนี้ประเทศไทยต้องจัดทำงบประมาณลดลงในปี 2565 เนื่องจากเก็บรายได้ได้น้อยลง ซึ่งถือเป็นความเสื่อมถอยของประเทศที่ควรจะต้องจัดงบประมาณเพิ่มขึ้นทุกปี การจัดงบประมาณในปี 2566 ก็จะเป็นปัญหาอีก เพราะการจัดเก็บรายได้ในปี 2564 พลาดเป้าไปถึง 3.07 แสนล้านบาท ซึ่งจะเป็นการถดถอยของประเทศอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งรัฐบาลจะประสบปัญหาการกู้เงินนอกงบประมาณเพิ่มเพราะแม้จะเพิ่มเพดานเงินกู้จาก 60% เป็น 70% แต่ก็อาจจะยังไม่พอ ถ้ารัฐบาลยังหารายได้ไม่เป็น ใช้งบประมาณแล้วเพิ่มจีดีพีไม่ได้ คิดได้แค่การกู้เงินมาแจกเท่านั้น นอกจากนี้ในภาวะที่คนไทยลำบากกันอย่างมากทั้งประเทศ แต่พลเอกประยุทธ์ ยังคิดจะซื้อเครื่องบินรบ F35 กันอีก เหมือนไม่สนใจความทุกข์ของประชาชนเลย
- ปัญหาหนี้ที่เพิ่มสูง ทั้งหนี้ภาครัฐ และ หนี้ภาคเอกชน เหมือนที่เตือนมาตลอดและบอกเสมอว่าไทยจะเจอกับ “ประเทศหนี้ล้น ประชาชนหนี้ท่วม” โดยล่าสุดหนี้สาธารณะของไทยพุ่งขึ้นถึง 9.62 ล้านล้านบาท โดยอีกไม่นานคงจะทะลุ 10 ล้านล้านบาท หนี้ครัวเรือนทะลุ 14.35 ล้านล้านบาท ซึ่งพลเอกประยุทธ์ ไม่รู้จะแก้ไขอย่างไร เพราะขาดแนวคิด ไม่มีความรู้ความสามารถในเรื่องนี้ ขนาดในภาวะเศรษฐกิจโลกที่ดี อัตราดอกเบี้ยต่ำ ราคาน้ำมันถูก เงินเฟ้อต่ำ พลเอกประยุทธ์ ยังไม่สามารถทำให้เศรษฐกิจไทยดีได้ แต่ต่อไปนี้จะเจอกับปัญหาทางเศรษฐกิจอีกมาก พลเอกประยุทธ์ จะไม่มีทางแก้ไขได้เลย ยิ่งถ้าดอกเบี้ยจะขึ้นตามกระแสโลกปัญหาหนี้เสียจะยิ่งเพิ่มมากขึ้น และจะเป็นปัญหาหนักของไทยในอนาคต
- ปัญหาการไร้ทิศทางเศรษฐกิจของไทย โดยประเทศไทยภายใต้การบริหารของพลเอกประยุทธ์ ยังหาตัวเองไม่พบว่าจะเป็นอย่างไร จะขยายตัวในอนาคตต่อในด้านไหน อะไรจะเป็นเครื่องจักรของการเจริญเติบโต (Growth Engines)ในอนาคต ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยเสื่อมลงเรื่อยๆ ยิ่งนานไปไทยจะถูกประเทศอื่นแซงไปและแย่งธุรกิจไปเรื่อยๆ
- ปัญหาการว่างงานที่จะเพิ่มสูงขึ้นอีก โดยล่าสุดตัวเลขคนว่างงานมีถึง 8.7 แสนคน ซึ่งสูงที่สุดในรอบ 20 ปี ซึ่งความจริงอาจจะว่างงานสูงมากกว่านี้มาก โดยอาจถึงกว่าหลายล้านคน เป็นผลมาจากเศรษฐกิจไทยที่ขยายตัวต่ำมาตลอด การจ้างงานจึงมีน้อย พลเอกประยุทธ์ สร้างงานน้อยมากในตลอด 7 ปี อีกทั้งบริษัทห้างร้านขาดทุนหนักต้องปิดตัวกันมาก การแจกเงินไม่ได้ทำให้เกิดการจ้างงาน
ทั้ง 8 ปัญหานี้เป็นปัญหาที่ใหญ่มากและมีความเชื่อมโยงกัน และต้องเข้าใจและหาทางแก้ไขและรับมือไปพร้อมกัน ซึ่งเชื่อว่าพลเอกประยุทธ์ ไม่น่าจะไม่รู้และไม่เข้าใจปัญหา ซึ่งหากไม่รู้ปัญหาแล้วจะแก้ปัญหาได้อย่างไร ขนาดในสภาวะเศรษฐกิจโดยรวมที่ดี พลเอกประยุทธ์ ยังบริหารได้ล้มเหลว ดังนั้น จึงไม่อยากให้พลเอกประยุทธ์ ต้องดันทุรังอีกต่อไป เพราะจะไม่มีทางแก้ปัญหาได้ แต่จะยิ่งเพิ่มปัญหาให้กับประเทศมากขึ้น ยิ่งอยู่นานประชาชนจะยิ่งลำบากมากขึ้น.- สำนักข่าวไทย