รัฐสภา 16 ธ.ค.- “ชินวรณ์” จี้ หาคนรับผิดชอบปัญหาสภาฯ ล่ม ขณะที่วิปรัฐบาล เตรียมเสนอแก้กฎหมายลูก 2 ฉบับ เฉพาะประเด็นบัตร 2 ใบ เผย “วิษณุ” เชิญหารือ 20 ธ.ค. นี้
นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รองประธานคณะกรรมการประวานงานพรรคร่วมรัฐบาล หรือ วิปรัฐบาล กล่าวถึงปัญหาการประชุมสภาผู้แทนราษฎรล่มเมื่อวานนี้(15 ธ.ค.)ว่า เป็นเรื่องที่วิปรัฐบาลต้องวิเคราะห์ให้ชัดเจนถึงสาเหตุปัญหาและหาแนวทางแก้ปัญหาอย่างน้อย 3 ประเด็นคือ ฝ่ายค้านไม่แสดงตน ทั้งที่เสนอกฎหมายเอง ซึ่งต่างจากสมัยก่อน และไม่ยึดหลักการพิจารณากฎหมายร่วมกันของรัฐสภา อาจมองได้ว่าเป็นเกมการเมือง และเสียงข้างมากของรัฐบาลต้องรับผิดชอบ ซึ่งตนเองได้แจ้งไปยังประธานวิปรัฐบาลแล้วว่า ต้องดูว่าใครต้องเป็นคนรับผิดชอบ เพราะเรื่องนี้ทำให้สภาเสียหาย อีกทั้งเมื่อวานนี้(15 ธ.ค.) ประธานในที่ประชุมก็สั่งปิดประชุมเร็วเกินไป หลังสั่งตรวจองค์ประชุมในเวลา 16.30 น.และสั่งปิดประชุมในเวลา 16.38 น. ทั้งที่ควรให้เวลามากกว่านี้ เพราะ เพื่อนส.ส.ยังอยู่ระหว่างประชุมคณะกรรมาธิการฯ กันอยู่ และบางส่วนก็กำลังรับประทานอาหาร ทั้งนี้ ยอมรับว่า ที่ส.ส. ขาดประชุมนั้น มี 2 ประเภท คือ ลาประชุมและไม่แสดงตนโดยไม่มีเหตุสมควร
“ประธานวิปรัฐบาลต้องประสานงานกับประธานสภาผู้แทนราษฎรและพรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งต้องร่วมรับผิดชอบในเสียงข้างมาก และต้องหาต้นเหตุสำคัญว่าใครขาดประชุม นอกจากนี้ ยังต้องประสานงานกับฝ่ายค้าน ขณะที่ฝ่ายค้านก็ต้องยอมรับกติกาที่เป็นสากล ทั้งนี้ ส่วนตัวอยากให้สภาและวิป 2 ฝ่ายใช้กลไกสภาฯ รับผิดชอบร่วมกันเพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพ” นายชินวรณ์ กล่าว
นายชินวรณ์ ยังกล่าวถึงการเสนอแก้กฎหมายลูก 2 ฉบับว่า พรรคร่วมรัฐบาลจะเสนอเป็นฉบับเดียวกัน 23 ธ.ค.นี้ และประเด็นที่จะแก้ไขจะเป็นไปตามที่แก้ไขรัฐธรรมนูญ คือระบบบัตร 2 ใบเท่านั้น ย้ำว่า จะยอมรับร่างที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต.เสนอผ่านคณะรัฐมนตรีมา เพราะเป็นส่วนที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของ กกต. จึงไม่ขัดข้อง ส่วนบางประเด็นที่ไม่เห็นด้วย ก็จะมีการแปรญัตติ เช่น การกำหนดหมายเลขผู้สมัครส.ส.เขตและบัญชีรายชื่อเป็นหมายเลขเดียวกัน
นายชินวรณ์ ยังเปิดเผยว่า วันจันทร์ที่ 20 ธ.ค.นี้ เวลา 10.00 น. นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้เชิญคณะทำงานร่างกฎหมายลูกของพรรคร่วมรัฐบาลไปแลกเปลี่ยนความเห็นที่ทำเนียบรัฐบาลด้วย ส่วนกรณีที่สภาฯ ตีตกร่าง พ.ร.บ.ยกเลิกคำสั่ง คสช. นั้น นายชินวรณ์ ยืนยันว่า ไม่ได้เป็นการปิดกั้นการเสนอกฎหมายของประชาชน และส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการออกกฎหมาย ซึ่งที่ผ่านมาร่างกฎหมายที่ประชาชนเสนอนั้น มีทั้งผ่านและไม่ผ่าน และสภาฯเคารพความเห็นและรับพิจารณาความเห็นดังกล่าวไว้.-สำนักข่าวไทย