สำนักงาน ป.ป.ช. 9 ธ.ค.-ประธานป.ป.ช. แถลงผลงานปี 64 ทำคดีทุจริตเสร็จแล้วกว่า 4 พันคดี ร้องให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินกว่า 400 ล้าน “พล.ต.อ.วัชรพล” ชี้งาน ป.ป.ช.ไม่สบาย ถูกฟ้องแล้ว 18 คดี แต่พร้อมสู้
คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) จัดกิจกรรมเนื่องในวันต่อต้านคอร์รัปชันสากล โดยมีพล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการป.ป.ช. นายพีรพล พิชยวัฒน์ ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ(ป.ป.ท.) นายวิเชียร พงศธร ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ร่วมงาน โดยมีการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ “ไม่ทำ ไม่ทน ไม่เฉย” ต่อต้านการทุจริต
พล.ต.อ. วัชรพล แถลงผลงานป้องกันและปราบปรามการทุจริต หลังจากที่พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มีผลบังคับใช้ครบ 3 ปี ว่า สถิติเรื่องไต่สวนก่อนพ.ร.ป. 2561 ที่ดำเนินการแล้วเสร็จปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 3,752 คดี ปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ทำเสร็จ 5,167 คดี ปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ทำเสร็จ 5,062 คดี ขณะที่ปีงบประมาณ 2564 ทำเสร็จ 4,552 คดี
“ส่วนกรณีสำนักงานอัยการสูงสุดไม่ฟ้องคดีแล้วสำนักงานป.ป.ช.ฟ้องคดีเองเพิ่มขึ้น ซึ่งคดีสำคัญที่ฟ้องเองชนะและคดีถึงที่สุดแล้ว อาทิ คดีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีสั่งการให้ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย(เอ็กซ์ซิมแบงค์ ) อนุมัติให้เงินกู้แก่รัฐบาลเมียนมา 4,000 ล้านบาท เพื่อจัดซื้ออุปกรณ์กิจการโทรคมนาคมจากบริษัทในเครือชินคอร์ป กรณีกล่าวหาการทุจริตโครงการออกสลากพิเศษแบบเลขท้าย 3 ตัว และ 2 ตัว หรือคดีหวยบนดิน” ประธานป.ป.ช. กล่าว
พล.ต.อ. วัชรพล กล่าวว่า สำหรับการตรวจสอบทรัพย์สิน ปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 จำนวน 22 เรื่อง เป็นเรื่องไม่ยื่นบัญชี 2 เรื่อง ยื่นบัญชีเท็จ 20 บัญชี ทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติหรือร่ำรวยผิดปกติ 4 เรื่อง โดยมีมูลค่าทรัพย์สินที่ร้องขอให้ตกเป็นของแผ่นดินเป็นเงิน 746,631,860.07 บาท ปีงบประมาณ 2564 ดำเนินการไป 28 เรื่อง แบ่งเป็นยื่นบัญชีเท็จ 21 บัญชี กรณีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นหรือผิดปกติหรือร่ำรวยผิดปกติจำนวน 7 เรื่อง มีมูลค่าทรัพย์สินที่ร้องขอให้ตกเป็นของแผ่นดินเป็นเงิน 471,094,091 บาท ซึ่งการที่จำนวนเรื่องที่ส่งเข้าสู่ศาลมีจำนวนคดีลดลงต่อเนื่อง มาจากข้อกฎหมายที่เปลี่ยนแปลงไปและป.ป.ช.วิเคราะห์และพิสูจน์เรื่องของเจตนาประกอบการพิจารณาคดีด้วย
พล.ต.อ.วัชรพล กล่าวว่า สำนักงาน ป.ป.ช.จัดสร้างชุดข้อมูลความเสี่ยงต่อการทุจริตที่เป็นปัจจุบันเพื่อบันทึกลงในแผนที่พื้นที่เสี่ยงต่อการทุจริต โดยนำข้อมูลความเสี่ยงจากทั้งในกทม.และต่างจังหวัดนำมาวิเคราะห์ จำแนกและบันทึกเป็นชุดข้อมูลความเสี่ยงต่อการทุจริตประจำปีงบประมาณ 2564 ปรากฏประเด็นความเสี่ยงต่อการทุจริตที่เกิดขึ้นคล้ายกันในหลายพื้นที่จำนวน 3 ประเด็น คือ 1.ประเด็นความเสี่ยงต่อการทุจริตเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติเช่น การบุกรุกป่า การรุกล้ำลำน้ำ การจัดสรรพื้นที่ป่าเพื่อเกษตรกรรม การลักลอบดูดทรายในลำน้ำในหลายจังหวัด
ประธานป.ป.ช. กล่าวว่า 2.ประเด็นความเสี่ยงต่อการทุจริตเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐาน เช่น เสาไฟฟ้าประติมากรรม เสาไฟฟ้านวัตกรรม ประปาหมู่บ้าน ทางระบายน้ำ เขื่อนที่เกิดขึ้นในหลายจังหวัด และ 3.ประเด็นความเสี่ยงต่อการทุจริต การใช้จ่ายงบประมาณโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจจากผลกระทบโควิด-19 (เงินกู้ 4 แสนล้านบาท) เช่น โครงการโคกหนองนา โครงการเกษตรทฤษฎีใหม่ โครงการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง หรืออุทกภัย
พล.ต.อ.วัชรพล กล่าวว่า ด้านการต่างประเทศ ป.ป.ช.ให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อการแก้ไขปัญหาคดีทุจริตระหว่างประเทศ โดยเฉพาะคดีสินบนข้ามชาติ ซึ่งเป็นคดีที่มีลักษณะการกระทำผิดซับซ้อน มีมูลค่าความเสียหายมาก ป.ป.ช.จึงมุ่งเน้นการติดตามเอาทรัพย์สินของผู้กระทำความผิดกลับคืนสู่ประเทศไทย ควบคู่ไปกับการนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ เพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างการทุจริต
“หลังที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกามีมติว่าฟ้องคณะกรรมการป.ป.ช.ได้ เราถูกฟ้อง 18 คดี การทำหน้าที่ของป.ป.ช.จึงไม่ใช่เรื่องสนุกและไม่สบายเท่าไหร่ แต่เราต้องต่อสู้คดีต่อไป” ประธานป.ป.ช.กล่าว.-สำนักข่าวไทย