สำนักงานป.ป.ช. 23 ก.พ.-“ธีรยุทธ” นำสำเนาคำวินิจฉัย “พิธา-44 สส.ก้าวไกลล้มล้างการปกครองของศาลรัฐธรรมนูญยื่นป.ป.ช. เร่งเอาผิดจริยธรรม เผยทราบว่าปธ.ป.ป.ช.รับเรื่องแล้ว จะเร่งตั้งคกก.ไต่สวนโดยเร็ว
นายธีรยุทธ สุววรรณเกษร ในฐานะผู้ร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญขอให้พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 กรณีนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลและพรรคก้าวไกล กระทำการล้มล้างการปกครอง โดยนำสำเนาคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2567 คดีล้มล้างการปกครอง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ฉบับเต็มที่รับรองโดยสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ มายื่นแก่ประธานคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อใช้ประกอบคำร้องที่ได้ยื่นเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ขอให้ตรวจสอบและเอาผิดจริยธรรมของนายพิธา และ 44 สส.พรรคก้าวไกลที่ร่วมลงชื่อสนับสนุนเสนอร่างฯ
นายธีรยุทธ กล่าวว่า ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ การเสนอร่างแก้ไขพระราชบัญญัติ ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 มีลักษณะเจตนาซ่อนเร้นที่จะทำลายการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง และในการยื่นสำเนาดังกล่าวได้สอบถามเจ้าหน้าที่และได้รับแจ้งว่า เป็นความเมตตาของประธานป.ป.ช.ที่จะรับเรื่อง และจะเร่งรีบรวบรวมพยานหลักฐาน โดยจัดตั้งเป็นคณะทำงานหรือคณะไต่สวนต่อไปเร็ว ๆ นี้
“ทราบว่าประธาน ป.ป.ช.รับทราบเรื่องแล้ว มีความเอาใจใส่ และได้สั่งการเบื้องต้น ว่าต้องเร่งรีบรวบรวมพยานหลักฐาน เพราะจะต้องตั้งคณะกรรมการขึ้นมาไต่สวน รวบรวมพยานหลักฐานอีกช่วงหนึ่ง ซึ่งจะต้องใช้ระยะเวลา แต่คาดว่าน่าจะใช้เวลาไม่นาน” นายธีรยุทธ กล่าว
ส่วนการดำเนินการกับ 44 สส. ที่ร่วมลงชื่อและขับเคลื่อนผลักดันการแก้ไขกฎหมายดังกล่าว นายธีรยุทธ กล่าวว่า ขณะนี้กำลังรวบรวมหลักฐานและข้อเท็จจริงเพิ่มเติม เบื้องต้น จะเตรียมการเรื่องคำชี้แจงของนายพิธาและนายชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกลที่ทำคำชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญ โดยจะขออนุญาตศาลคัดถ่ายคำให้การในชั้นไต่สวนพยานเปิดเผย ก่อนที่ศาลจะมีคำวินิจฉัย เพื่อยื่นต่อกกต.และป.ป.ช. เพื่อทั้ง 2 หน่วยจะมีคำสั่งเรียกนายพิธาและนายชัยธวัชเข้าชี้แจงข้อเท็จจริง โดยทั้ง 2 หน่วยงานสามารถใช้คำชี้แจงหรือคำให้การที่เคยให้ไว้ต่อศาลรัฐธรรมนูญมาประกอบการพิจารณาไต่สวนได้
นายธีรยุทธ กล่าวว่า นอกจากการติดตามเรื่องการแก้ไขมาตรา 112 แล้ว ขณะนี้ยังติดตามความพยายามผลักดันความผิดตามมาตรา 112 ให้ไปอยู่ในกฏหมายนิรโทษกรรม เนื่องจากเห็นว่าความผิดตามมาตรา 112 ไม่ใช่ความผิดในทำนองทางการเมือง แต่เป็นความผิดเกี่ยวกับการล้มล้างการปกครอง ซึ่งอยู่คนละหมวดกัน เมื่อศาลวินิจฉัยว่าการกระทำลักษณะ 112 ภายนอกสภา มีผู้รับทอดเข้ามาสู่สภาฯ โดยผ่านกระบวนการซ่อนเร้น ใช้การเสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 เข้าสู่สภาฯ
“การรณรงค์มาตรา 112 การตั้งม็อบ การตั้งขบวนต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น เมื่อเจตนาต้องการทำลายการปกครองก็เท่ากับว่า มีเจตนาที่ไม่ดี มีเจตนาที่จะไม่ให้การเมืองมีอยู่ ดังนั้น การจะกล่าวอ้างว่าเป็นข้อขัดแย้งทางการเมือง ผมมองว่าไม่ใช่ เมื่อคุณทำลายการปกครอง ไม่ให้การเมืองมีอยู่ ข้อขัดแย้งก็จะไม่มีอยู่ตามมาด้วย แต่คณะนิติบัญญัติที่กำลังพิจารณาร่างกฎหมายนิรโทษกรรมในชั้นกรรมาธิการกำลังมองว่า การปกครองยังมีอยู่ ความขัดแย้ง ความไม่เข้าใจกันในทางการเมืองก็เลยยังมีอยู่ หากประสงค์จะล้างความขัดแย้ง ปลดปล่อยความวิตกกังวลต่าง ๆ เพื่อให้บ้านเมืองเกิดความสงบสุข ต่างกับคณะรณรงค์ 112 ผมจึงเห็นว่าหากได้บรรจุความผิดมาตรา 112 เข้าสู่กฎหมายนิรโทษกรรม ตนจะตามไปดำเนินการบางอย่าง แต่ยังไม่ขอเปิดเผย” นายธีรยุทธกล่าว
เมื่อถามว่า มองว่าการแก้มาตรา 112 โดยชอบ ตามที่ศาลวินิจฉัยเอาไว้ควรจะเป็นอย่างไร นายธีรยุทธ กล่าวว่า ยังเชื่อตามที่ศาลวินิจฉัยแล้ว ซึ่งไม่ได้ปิดประตูการแก้กฎหมาย แม้กระทั่งการแก้มาตรา 112 เพียงลักษณะที่พรรคก้าวไกลเสนอและประชาสัมพันธ์ไปยังสื่อสารมวลชน ใช้เป็นนโยบายหาเสียงมาตลอด ซึ่งพฤติการณ์ดังกล่าวนั้นทำไม่ได้ เช่น การย้ายหมวด
“ที่พรรคก้าวไกลเสนอไว้คือถอดออกจากความมั่นคงแห่งรัฐมาอยู่ในอีกหมวดหนึ่งที่ตั้งขึ้นมานั้นทำไม่ได้ ซึ่งศาลวินิจฉัยว่าเป็นเจตนาซ่อนเร้นที่จะจำแนกพระมหากษัตริย์ออกจากรัฐ เพราะศาลเคยวางบรรทัดฐานเอาไว้แล้วว่าสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับชาติ เป็นศูนย์รวมจิตใจของพสกนิกรและประชาชนของชาติ เป็นรากฐานของสิ่งต่างๆของการเมืองการปกครอง และความเป็นอยู่ ประเพณีต่าง ศาลจึงวินิจฉัยไว้เบื้องต้น โดยใช้คำว่ามีโบราณราชประเพณีและนิติประเพณีสืบต่อกันมา ดังนั้น ความชอบที่หากจะแก้มาตรา 112 ก็คงจะต้องทำในทิศทางตรงกันข้ามในทิศทางที่ศาลวินิจฉัยเอาไว้.-314 .-สำนักข่าวไทย