fbpx

นายกฯ เข้าร่วมการหารือสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค

ทำเนียบรัฐบาล 11 พ.ย.-นายกฯ เข้าร่วมการหารือสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค ชูโมเดลเศรษฐกิจ BCG สร้างการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน มุ่งหน้าสู่เป้าหมายภูมิภาคคาร์บอนต่ำ


วันนี้ (11 พ.ย.64) เวลา 19.00 น. ตามเวลาประเทศไทย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เข้าร่วมการหารือระหว่างผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคกับสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค (ABAC – Leaders’ Dialogue) ผ่านระบบการประชุมทางไกล ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล โดยนายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

นายโรเบิร์ต มิลลิเนอร์ ผู้แทน ABAC ออสเตรเลีย ในฐานะประธาน ABAC กล่าวถึงความสำคัญของการบูรณาการความร่วมมือระหว่างกันในการพิจารณาเรื่องการเปิดพรมแดนใหม่อีกครั้ง การฟื้นฟูเศรษฐกิจภายหลังสถานการณ์ของโรคโควิด-19 การรับมือกับปัญหาความเหลื่อมล้ำ และการช่วยเหลือกลุ่มผู้เปราะบางที่ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 พร้อมขอให้ APEC กำหนดเป้าหมายร่วมกันโดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง


ด้านนายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์กล่าวเปิดการประชุมระบุว่า เอเปคมีความเข้าใจดีถึงความประสงค์ของประชาคมภาคธุรกิจที่ต้องการแนวทางที่มีการประสานการทำงานร่วมกัน เพื่อให้พวกเราก้าวไปสู่ภูมิภาคที่มีความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้ นิวซีแลนด์เองก็จำเป็นต้องพึ่งพาความร่วมมือจากเอเปค ไม่มีประเทศใดที่จะเอาชนะปัญหาได้เพียงฝ่ายเดียว ทุกฝ่ายควรร่วมมือกันพิจารณาส่งเสริมให้เกิดความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจ พัฒนาแรงงานที่มีทักษะและมีคุณภาพ รวมทั้งช่วยเหลือกลุ่มผู้เปราะบางในสังคม อาทิ ชนกลุ่มน้อยทางชาติพันธุ์และสตรีที่ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 และยังไม่เข้าถึงเทคโนโลยี เพื่อนำไปสู่การฟื้นฟู

การหารือระหว่างผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคกับสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค (APEC Business Advisory Council: ABAC) ครั้งนี้ แบ่งผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคออกเป็น 5 กลุ่ม ไทยอยู่ในกลุ่มที่ 1 ร่วมกับผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคจากออสเตรเลีย มาเลเซีย และจีนไทเป โดยในการหารือนายโรเบิร์ต มิลลิเนอร์ ผู้แทน ABAC ชิลี มีประเด็นคำถามต่อนายกรัฐมนตรีว่า “โควิด-19 ก่อให้เกิดผลกระทบทางลบที่รุนแรงต่อกลุ่มเปราะบางในสังคม ได้แก่ สตรี ธุรกิจขนาดเล็กและกลุ่มชาติพันธุ์ ABAC เชื่อว่าในการปกป้องรักษาอนาคต เราต้องแก้ไขและปลดล็อกศักยภาพของกลุ่มเปราะบางเหล่านี้อย่างเต็มที่ ในขณะเดียวกัน เราเผชิญกับภยันตรายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เพิ่มมากขึ้นและความจำเป็นของการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ ขอทราบว่าเครื่องมือใดที่จะสามารถนำมาใช้เพื่อจัดการกับความท้าทายต่อการพัฒนาที่ครอบคลุมและยั่งยืน”

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ประเทศไทยตระหนักดีว่า โลกกำลังเผชิญกับความท้าทายมากมายในหลายมิติ การเลือกใช้เครื่องมือที่เหมาะสมจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในการก้าวไปสู่อนาคตของเอเปค ปัจจุบันไทยได้ฉีดวัคซีนให้ประชาชนแล้ว 83 ล้านโดส และคาดว่าจะครบ 100 ล้านโดสภายในสิ้นเดือนพฤศจิกายน และได้เตรียมการไว้ล่วงหน้าสำหรับปี 2565 ด้วย โดยที่ ไทยในฐานะประเทศหนึ่งใน 12 ประเทศผู้ก่อตั้งเอเปคเชื่อว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เป็นโอกาสที่ดีที่จะวิเคราะห์ว่าความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจนั้นมีความเปราะบางเพียงใด


ในปี 2563 กลุ่มเศรษฐกิจเอเปคทั้ง 21 เขตมีผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) 53 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ (US$ 53 Trillion) ขณะที่ผลิตภัณฑ์มวลรวมของโลกในปีเดียวกันอยู่ที่ 84.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ไทยเชื่อว่าการจะบรรลุการเจริญเติบโตที่เข้มแข็ง ยืดหยุ่น ยั่งยืน และครอบคลุมได้ต้องเปลี่ยนแนวความคิดเรื่องการพัฒนาใหม่ (paradigm shift) ไม่หยุดอยู่ที่ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวม แต่ควรตั้งอยู่บนหลักการของก้าวไปสู่ความสมดุล (Thriving for balance) และการหาจุดยืนร่วมกันที่จะทำให้เกิดความกลมกลืนปรองดอง (Harmony) ของทุกภาคส่วนของสังคมและเศรษฐกิจ ระหว่างเขตเศรษฐกิจ ตลอดจนระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ ซึ่งความสมดุล (balance) และความร่วมมือร่วมใจในฐานะหุ้นส่วน (collaborative partnership) ดังกล่าวคือหัวใจขององค์รวมของการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว หรือ เศรษฐกิจ BCG

ทั้งนี้ กลไกขับเคลื่อนการฟื้นตัวและการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจที่สำคัญคือภาคเอกชน โดยที่ภาครัฐเป็นผู้ให้การสนับสนุน (facilitation) กุญแจสำคัญ คือ ความร่วมมือและการลงทุนร่วมระหว่างเอกชนกับรัฐ (PPP) เพื่อสร้างอนาคตที่ยั่งยืนครอบคลุม และตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงในอนาคต โดยเฉพาะในด้านการนำเทคโนโลยี และนวัตกรรม มาพัฒนาต่อยอดจากฐานความเข้มแข็งทางด้านทรัพยากรชีวภาพ ในขณะที่ดำเนินธุรกิจที่มุ่งเน้นการลดผลกระทบต่อโลกอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม ดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ และการให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล

สำหรับประเทศไทย จะต้องมีความร่วมมือกันอย่างจริงจังทั้งในด้านผู้ผลิตและผู้บริโภคเพื่อให้เอเปคเป็นภูมิภาคเศรษฐกิจที่ผลิตคาร์บอนต่ำ ตั้งแต่วิธีการผลิตจนถึงการอนุรักษ์ การใช้พลังงานอย่างคุ้มค่า การลดจำนวนขยะ และมลพิษ โดยการนำวิวัฒนาการและเทคโนโลยีใหม่ๆมาใช้ มีการสร้างความพร้อมในการปรับตัว และการเปลี่ยนผ่านที่เหมาะสม และเป็นธรรม

นายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่า เอเปคในฐานะเวทีที่ให้ความสำคัญต่อความร่วมมือกับประชาคมภาคธุรกิจจะช่วยผลักดันความพยายามร่วมกัน ครอบคลุม และยั่งยืน ตามแนวคิดเศรษฐกิจ BCG และสามารถร่วมมือกันอย่างจริงจังเพื่อให้เขตเศรษฐกิจของเราเป็นผู้นำด้านสภาพภูมิอากาศเพื่อความอยู่รอดของโลกที่

หลังจากนั้น นายฮิโรชิ นาคาโซะ ผู้แทน ABAC ญี่ปุ่น และประธานสถาบันวิจัยของกลุ่มบริษัทหลักทรัพย์ไดวา มีประเด็นคำถามต่อนายกรัฐมนตรีว่า “ในความเห็นของท่าน เอเปคควรมีบทบาทอย่างไรในการอำนวยความสะดวกเพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและภาคธุรกิจสามารถสนับสนุนบทบาทดังกล่าวได้อย่างไรบ้าง”

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ภายในกลไกการทำงานของเอเปค การเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำได้รับการผลักดันอย่างต่อเนื่อง แต่เอเปคยังคงต้องรักษาพลวัตการขับเคลื่อนประเด็นดังกล่าว เห็นได้จากเสียงเรียกร้องจากการประชุม COP26 เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ย้ำถึงความจำเป็นที่ทุกฝ่ายต้องแสดงความมุ่งมั่นที่จะเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน และการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน

สำหรับประเทศไทย รัฐบาลมุ่งมั่นที่จะเพิ่มความพร้อมในการแก้ไขความท้าทายด้านสภาพภูมิอากาศและลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน อาทิ การบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี ค.ศ. 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ. 2065 หรือก่อนหน้านั้น นอกจากนี้ ไทยยังได้ตั้งเป้าที่จะให้มีการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าให้ได้ร้อยละ 30 ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมด ภายในปี ค.ศ.2030 ให้มีการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า 15 ล้านคัน หรือ 1 ใน 3 ของยานยนต์ทั้งหมดภายในปี ค.ศ. 2035 รวมถึงเพิ่มพื้นที่ป่าให้ได้ร้อยละ 55 ของประเทศ

ในช่วงการเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทย ไทยจะพยายามเสนอรายการเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมร่วมกันของเอเปคบนพื้นฐานของแนวคิดเศรษฐกิจ BCG ซึ่งภาคธุรกิจมีความสำคัญยิ่งในกระบวนการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำของเอเปค ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียน การดำเนินการตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน การจัดการของเสีย การพัฒนานวัตกรรม รวมถึงด้านสิทธิมนุษยชนในการดูแล คุ้มครอง และเยียวยา .-สำนักข่าวไทย

ดูข่าวเพิ่มเติม

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

รวบรอง ผอ.โรงเรียนดัง หน.แก๊งค้ายา พบข้าราชการเป็นลูกค้าเพียบ

รวบหัวหน้าแก๊งค้ายาเป็น “รอง ผอ.” โรงเรียนดังย่านปากเกร็ด พร้อมสมุน ขยายผลพบลูกค้าเป็นข้าราชการอีกจำนวนมาก

คนไทย-คนจีนขับรถไล่ชนกันหน้าคลับดังเมืองพัทยา คาดหึงหวงสาวที่มาด้วย

รถตู้ 3 คัน และรถฟอร์จูนเนอร์ 1 คัน ขับไล่ชนกันไปมา บริเวณหน้าคลับแห่งหนึ่งในเมืองพัทยา พบเป็นศึกระหว่างคนไทย 1 กลุ่ม และคนจีน 1 กลุ่ม สาเหตุคาดมาจากคนจีนหึงหวงแฟนสาวที่มาด้วย

ปัญหาต่างชาติในภูเก็ต ตอนที่ 3

ปัจจุบันการเข้ามาทำธุรกิจรถเช่าของต่างชาติที่ใช้คนไทยเป็นนอมินีในภูเก็ตมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น เช่นเดียวกับจำนวนอุบัติเหตุที่เกิดจากการขับขี่รถของชาวต่างชาติในภูเก็ตก็มากขึ้นด้วย ปัญหานี้ถือเป็นเรื่องใหญ่ที่โยงใยไปถึงเรื่องของภาพลักษณ์ด้านความปลอดภัยทางการท่องเที่ยว ไม่เฉพาะแค่ภูเก็ต แต่เป็นของเมืองไทยด้วย

ศาลอาญาทุจริตฯ ยกฟ้อง คุณหญิงพรทิพย์ และพวก ในคดี GT200

ศาลอาญาทุจริตฯ ยกฟ้อง “คุณหญิงพรทิพย์” และพวกรวม 10 คน ในคดีจัดซื้อเครื่องตรวจวัตถุระเบิด GT200 ของสถาบันนิติวิทยาศาสตร์
ระบุไม่พบมีมูลความผิด ทุจริต มีการแสวงหาประโยชนแก่ตนเองและผู้อื่นโดยมิชอบ

ข่าวแนะนำ

ทองคำนิวไฮ พุ่งกระฉูด 550 บาท ทองรูปพรรณแตะ 39,000 บาท

ทองคำเปิดตลาดปรับขึ้นรวดเดียว 550 บาท ทองแท่งขายออก 38,500 บาท ทองรูปพรรณขายออก 39,000 บาท ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ครั้งใหม่

รถไฟฟ้าสีเหลืองขัดข้องอีกแล้ว (29 มี.ค.)

รถไฟฟ้าสีเหลืองขัดข้องอีกแล้วช่วงสายวันนี้ (29 มี.ค.) ทำให้รถจากสถานีลาดพร้าว เดินทางไปถึงสถานีหัวหมาก ต้องสิ้นสุดที่สถานีศรีกรีฑา

เรียกปลัดคลังพบที่ทำเนียบฯ แต่เช้า

นายกฯ เรียกปลัดคลังพบที่ทำเนียบฯ แต่เช้า หารือเรื่องยกเว้นภาษี​นำเข้าสินค้า​จากตปท.ที่ต่ำกว่า​ 1,500 บาท ​ขณะที่ปลัดยันไม่ได้คุยเรื่องดิจิทัล วอลเล็ต แต่ให้เชื่อว่าชัดเจน 10 เม.ย.นี้แน่นอน

อุตุฯ เผยไทยตอนบนอากาศร้อนจัดบางพื้นที่

กรมอุตุฯ เผยไทยตอนบนอากาศร้อนจัดบางพื้นที่ ขอให้ประชาชนดูแลรักษาสุขภาพเนื่องจากสภาพอากาศร้อนถึงร้อนจัดในระยะนี้ ส่วนภาคอีสานตอนล่าง ภาคกลาง และภาคตะวันออก มีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง