ศาลรัฐธรรมนูญ 20 ต.ค.-ศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมากชี้“ไพบูลย์” ไม่สิ้นสุดสมาชิกภาพส.ส. พรรคประชาชนปฏิรูปสิ้นสภาพชอบด้วยกฎหมาย ส่วนข้อกล่าวหามีวาระซ่อนเร้น ไม่มีพยานหลักฐาน
คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญนัดประชุมเพื่อแถลงด้วยวาจา ปรึกษาหารือ ลงมติกรณีประธานสภาผู้แทนราษฎรส่งคำร้องของ ส.ส.จำนวน 60 คน ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 ว่า สมาชิกภาพส.ส.ของนายไพบูลย์ นิติตะวัน สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 101(10) ประกอบมาตรา 90 และมาตรา 91 วรรคหนึ่ง (5) หรือไม่ กรณีนายไพบูลย์ ซึ่งเป็นหัวหน้าพรรคประชาชนปฏิรูปและส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรคประชาชนปฏิรูป สมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ หลังจากพรรคประชาชนปฏิรูปสิ้นสภาพความเป็นพรรคการเมือง ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรค มาตรา 91 วรรคหนึ่ง (7) ทั้งที่ต้องปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าพรรคประชาชนปฏิรูปอยู่จนกว่าการชำระบัญชีจะแล้วเสร็จ และไม่ได้เป็นผู้มีชื่อในบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ของพรรคพลังประชารัฐที่ยื่นต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง ก่อนปิดการรับสมัครเลือกตั้ง จะเป็นเหตุให้สมาชิกภาพสิ้นสุดลงหรือไม่
จากนั้น องค์คณะศาลรัฐธรรมนูญได้ออกนั่งบัลลังก์อ่านคำวินิจฉัยให้คู่กรณีฟัง โดยศาลรัฐธรรมนูญมอบหมายให้นายวิรุฬห์ แสงเทียน ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้อ่านคำวินิจฉัย ว่าพิจารณาแล้วเห็นว่าข้อเท็จจริงตามคำร้อง คำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา คำชี้แจงของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและเอกสารประกอบ ปรากฎว่าผู้ถูกร้องเป็นหัวหน้าพรรคประชาชนปฏิรูปภายหลังการเลือกตั้งทั่วไป ผู้ถูกร้องเป็นส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคประชาชนปฏิรูปเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2562 พรรคประชาชนปฏิรูปประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคครั้งที่ 10/2562 และมีมติเป็นเอกฉันท์ให้เลิกพรรคประชาชนปฏิรูป และให้แจ้งต่อนายทะเบียนพรรคการเมือง ผู้ถูกร้องมีหนังสือลงวันที่ 5 สิงหาคม 2562 แจ้งต่อนายทะเบียนพรรคการเมืองว่าที่ประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคมีมติเป็นเอกฉันท์ให้เลิกพรรคประชาชนปฏิรูป ตามข้อบังคับพรรคประชาชนปฏิรูป 2561 ข้อ 122 นายทะเบียนพรรคการเมือง ตรวจสอบข้อเท็จจริงเสนอต่อ กกต.พิจารณาและประกาศการสิ้นสภาพความเป็นพรรคการเมืองของพรรคประชาชนปฏิรูปในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2562
ต่อมาวันที่ 9 กันยายน 2562 นายไพบูลย์สมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ และเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2562 หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐแจ้งจำนวนสมาชิกตามมาตรา 25 วรรคสองต่อนายทะเบียนพรรคการเมือง และนายทะเบียนพรรคการเมืองมีหนังสือลงวันที่ 17 ตุลาคม 2562 แจ้งเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรว่าผู้ถูกร้องเข้าเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐแล้ว มีข้อพิจารณาเบื้องต้นว่าการสิ้นสภาพความเป็นพรรคการเมืองของพรรคประชาชนปฏิรูปชอบด้วย พ.ร.ป. ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 มาตรา 91 วรรคหนึ่ง (7) ประกอบวรรคสี่หรือไม่
ศาลเห็นว่าเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าคณะกรรมการบริหารพรรคประชาชนปฏิรูปได้ประชุม และมีมติเป็นเอกฉันท์ให้เลิกพรรคการเมือง ตามข้อบังคับพรรคประชาชนปฏิรูป 2561 ข้อ 122 เป็นไปตามขั้นตอนและกระบวนการที่กำหนดในข้อ 54 คือมีกรรมการบริหารพรรคการเมืองมาประชุมจำนวน 16 คน ซึ่งไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองที่มีอยู่ในขณะนั้น คือ 29 คน และกรรมการบริหารพรรคการเมืองผู้มาประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ทั้ง 16 คน จึงเป็นเสียงข้างมากของคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองตามข้อ 55 มติของคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองที่ให้เลิกพรรคประชาชนปฏิรูป จึงเป็นไปโดยชอบตามข้อ 122 ประกอบข้อ 54 และข้อ 55 โดยเหตุผลให้เลิกพรรคประชาชนปฏิรูปว่าเนื่องจากกรรมการบริหารพรรคการเมืองหลายคนลาออก และอีกหลายคนกำลังจะลาออก รวมทั้งขาดบุคลากรสนับสนุน ทำให้ไม่สามารถดำเนินกิจการพรรคประชาชนปฏิรูปต่อไปได้
เมื่อนายทะเบียนพรรคการเมืองได้รับแจ้งการเลิกพรรคประชาชนปฏิรูป นายทะเบียนพรรคการเมืองจึงตรวจสอบกรณีดังกล่าวตามอำนาจหน้าที่ตามพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 มาตรา 91 วรรคสอง และให้คณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองผู้เข้าร่วมประชุมลงมติครั้งนั้นให้ถ้อยคำต่อนายทะเบียนพรรคการเมืองแล้ว ปรากฏว่าคณะกรรมการบริหารพรรคการเมือง 15 คนให้ถ้อยคำยืนยันสอดคล้องกันว่าการประชุมลงมติให้เลิกพรรคประชาชนปฏิรูปด้วยเหตุผลดังกล่าวจริง ส่วนอีก 1 คนอยู่ระหว่างเดินทางไปต่างประเทศ นายทะเบียนพรรคการเมืองจึงเสนอให้กกต.พิจารณา ซึ่งกกต.พิจารณาแล้วมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ประกาศการสิ้นสภาพความเป็นพรรคการเมืองของพรรคประชาชนปฏิรูป และได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2562 การสิ้นสภาพของพรรคประชาชนปฏิรูปจึงเป็นไปโดยชอบ
ส่วนข้ออ้างของผู้ร้องที่ว่าการเลิกพรรคประชาชนปฏิรูปตามข้อบังคับพรรคอันเป็นเหตุให้พรรคประชาชนปฏิรูป สิ้นสภาพความเป็นพรรคการเมือง ตามประกาศของ กกต.เป็นการกระทำของผู้ถูกร้องที่มีเจตนาซ่อนเร้น อาศัยมติของคณะกรรมการบริหารพรรค ซึ่งนายไพบูลย์เป็นหัวหน้าพรรค มีอำนาจเหนือกว่ากรรมการบริหารพรรค เห็นว่าไม่มีข้อเท็จจริงหรือพยาน หลักฐานใดแสดงให้ศาลรัฐธรรมนูญ เห็นได้ว่ากรณีเป็นไปดังที่ผู้ร้องกล่าวอ้าง เมื่อพรรคประชาชนปฏิรูปเลิกตามข้อบังคับของพรรคประชาชนปฏิรูป 2561 ข้อ 122 และกกต.ประกาศสิ้นสภาพของพรรคประชาชนปฏิรูปในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2562 มีผลให้พรรคประชาชนปฏิรูปสิ้นสุดลงตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 มาตรา 90 (1) ประกอบมาตรา 91 วรรคหนึ่ง (7) ทำให้สมาชิกภาพของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลง
เมื่อพรรคประชาชนปฏิรูปสิ้นสภาพการเป็นพรรคการเมืองตามข้อบังคับพรรคประชาชนปฏิรูป 2561 ข้อ 62 วรรคหนึ่ง (6 ) ตั้งแต่วันที่ 6 กันยายน 2562 แต่นายไพบลูย์เป็นส.ส. ซึ่งได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (10 )ประกอบพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 91 วรรคสี่ ที่บัญญัติให้ถือว่าการสิ้นสภาพของพรรคการเมืองตามมาตรานี้เป็นการถูกยุบพรรคการเมืองโดยมีเจตนารมณ์เพื่อคุ้มครองสมาชิกที่เป็น ส.ส. ซึ่งจะได้รับผลกระทบจากพรรคการเมืองสิ้นสภาพ อันเป็นหลักการเดียวกับการคุ้มครอง ส.ส.ที่สังกัดพรรคการเมืองที่ถูกยุบพรรคการเมืองตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (10 ) ดังนั้น สมาชิกพรรคการเมืองที่สิ้นสภาพตามมาตรา 91 จึงเข้าไปสมาชิกพรรคการเมืองอื่นได้ภายใน 60 วันนับแต่วันที่พรรคการเมืองสิ้นสภาพ นายไพบูลย์จึงสมัครเข้าเป็นสมาชิกของพรรคการเมืองอื่นภายใน 60 วัน นับแต่วันที่มีคำสั่งยุบพรรคการเมืองได้ คือวันที่ 6 กันยายน 2562 ซึ่งเป็นวันที่พรรคประชาชนปฏิรูปสิ้นสภาพความเป็นพรรคการเมือง
เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าผู้ถูกร้องสมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2562 จึงเป็นระยะเวลาภายใน 60 วันนับแต่วันที่พรรคประชาชนปฏิรูปสิ้นสภาพความเป็นพรรคการเมือง สำหรับข้ออ้างของผู้ร้องที่ว่านายไพบูลย์ในฐานที่เป็นหัวหน้าพรรคประชาชนปฏิรูปต้องอยู่ปฎิบัติหน้าที่หัวหน้าพรรคจนกว่าจะชำระบัญชีเสร็จ ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 95 ศาลเห็นว่าบทบัญญัติมาตราดังกล่าวเป็นการกำหนดหน้าที่ของหัวหน้าพรรคการเมือง ที่พรรคการเมืองสิ้นสภาพหรือยุบพรรคการเมืองต้องปฎิบัติหน้าที่จนกว่าการชำระบัญชีจะแล้วเสร็จ โดยมีหน้าที่ให้ข้อมูลส่งบัญชีและงบดุล รวมทั้งเอกสารเกี่ยวกับการเงินของพรรคการเมืองภายใน 30 วัน นับแต่วันที่พรรคการเมืองสิ้นสภาพหรือยุบ และห้ามหัวหน้าพรรคการเมืองดำเนินกิจกรรมทางการเมืองในนามพรรคการเมืองที่สิ้นสภาพหรือถูกยุบไปแล้ว แต่ไม่ห้ามดำเนินกิจกรรม ทางการเมืองในนามพรรคการเมืองอื่น
ส่วนข้ออ้างของผู้ร้องที่ว่าผู้ถูกร้องไม่ได้เป็นบุคคลที่พรรคพลังประชารัฐเสนอชื่อเป็น ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อต่อ กกต.ก่อนการปิดรับสมัครการเลือกตั้ง นายไพบูลย์จึงไม่สามารถเป็น ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อของพรรคพลังประชารัฐได้ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 90 และมาตรา 91 วรรคหนึ่ง (5) และพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.มาตรา 56 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 57 ศาลเห็นว่ารัฐธรรมนูญ มาตรา 90 กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการจัดทำบัญชีรายชื่อของพรรคการเมือง และมาตรา 91 วรรคหนึ่ง (5) กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการได้มา ซึ่งส.ส.แบบบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองโดยมีวัตถุประสงค์ใช้บังคับกับกรณีที่อยู่ระหว่างการจัดการเลือกตั้งและก่อนประกาศผลการเลือกตั้ง จึงเป็นคนละกรณีกับการเป็นสมาชิกพรรคการเมืองอื่นตามรัฐธรรมนูญมาตรา 101 ( 10 ) ประกอบ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 มาตรา 91 วรรคหนึ่ง (7) และมาตรา 91 วรรคสี่ที่เกิดขึ้นภายหลังจากการเลือกตั้ง และผู้ถูกร้องได้รับการประกาศผลการเลือกตั้งเป็นส.ส.แบบบัญชีรายชื่อแล้ว อาศัยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีมติเสียงข้างมากวินิจฉัยว่าสมาชิกภาพ ส.ส.ของผู้ถูกร้อง ไม่สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 101(10) ประกอบมาตรา 90 และมาตรา 91 วรรคหนึ่ง (5).-สำนักข่าวไทย