กองบัญชาการกองทัพไทย 19 ต.ค.-เหล่าทัพ เตรียมรับมือ แรงงานทะลักเข้าไทยหลังเปิดประเทศ ต้องเร่งสกัด ยอมรับชายแดนเมียนมาตรวจยาก เหตุปัญหาชาติพันธุ์-คนกลุ่มน้อย ไร้เอกสารประชากร
พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด แถลงภายหลังการประชุมผู้บัญชาการเหล่าทัพว่า ในที่ประชุมได้มีการพูดถึงภารกิจการสนับสนุนการแก้ไขปัญหาสำคัญของชาติ รวมถึงการช่วยเหลือรัฐบาลแก้ไขปัญหาแพร่ระบาดโควิด-19 โดยเฉพาะปัญหาการลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายตามแนวชายแดน ซึ่งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ย้ำในเรื่องนี้ จากข้อมูลของกระทรวงแรงงานในช่วง 3-4 เดือนสถานประกอบการในประเทศมีความต้องการแรงงานถึง 4 แสนคน ภายใต้สภาพการณ์ที่ไม่สามารถเปิดรับแรงงานอย่างถูกกฎหมายได้ จึงเป็นหน้าที่ ทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครองสกัดกั้นตามแนวชายแดนได้ โดยลักษณะการปฏิบัติหน้างานชายแดน ทางกัมพูชา ได้รับความร่วมมือจากกองทัพกัมพูชาเป็นอย่างดี ในการให้ข้อมูลว่ามีคนกัมพูชาลักลอบเข้ามา มีผลทำให้เราจับกุมได้มากและส่งกลับ การปฏิบัติงานค่อนข้างมี ประสิทธิภาพ ทั้งนี้ได้มีการเตรียมพร้อมในการสนับสนุนรัฐบาล ดูแลตามแนวชายแดน รับมือเปิดประเทศด้วย
“ขณะนี้ภาพรวมสถานการณ์ของแรงงานต่างด้าว ปริมาณลักลอบใกล้เคียง เม.ย. – พ.ค.64 ตอนนั้นกิจการเริ่มปิด ทำให้แรงงานกลับประเทศ ช่วงปลายปี 2563 ครม.มีมติผ่อนคลาย มีการผ่อนผันแรงงานผิดกฎหมายกรณีฉุกเฉิน เปิดลงทะเบียนเดือน กพ. และหลังจากนั้นก็เปิดให้ลงทะเบียน มีผู้ประกอบการลงทะเบียนประมาณ 6 แสนคน ช่วงนั้นมีการนำข้อมูลแรงงานที่กลับประเทศมาลงทะเบียนแต่ตัวอย่างต่างประเทศ ทำให้ เม.ย.-พค.มีการลักลอบเข้ามาจำนวนมาก สถานการณ์ตอนนี้ก็ใกล้เคียงกัน เมื่อครม.มีมติ 28 กย.65 ให้สามารถทำงานได้ยาวถึง กพ.66 ตอนนี้ เจ้าหน้าที่ก็เข้มงวดตามแนวชายแดนมากกว่าปกติ เพราะน่าจะมีแนวโน้ม การลักลอบเข้ามามากขึ้น “ผู้บัญชาการทหารสูงสุด กล่าว
ผู้บัญชาการทหารสูงสุด กล่าวถึงการดูแลชายแดนเมียนมาร์ ซึ่งมีชายแดนติดกับไทยว่า เมียนมาร์ก็มีปัญหาภายใน ทั้งเรื่องชาติพันธ์ และชนกลุ่มน้อย ที่บางกลุ่มในประเทศเมียนมาร์ไม่ถูกยอมรับว่าเป็นชาวเมียนมาร์ทำให้หลักฐานของคนที่อยู่ในแผ่นดินนั้นไม่สามารถบันทึกเป็นหลักฐานบุคคลได้ ทาง ตร. ได้พัฒนาเก็บข้อมูลอัตลักษณ์บุคคล สามารถบ่งบอกบุคคลได้ว่าคนนี้คือใคร นอกจากบัตรที่เขาแสดงตน จึงต้องปฏิบัติภายใต้หลักสิทธิมนุษยชนและความปลอดภัยของประเทศ บางส่วนก็ส่งกลับไป เป็นการดำเนินการโดยไม่ให้แรงงานใหม่เข้ามา คาดว่าอีกไม่นานน่าจะรับแบบถูกกฎหมายได้
สำหรับข้อห่วงใยจากสถานการณ์ความรุนแรง อาจจะมีผู้หนีภัยจากความไม่สงบนั้น ผู้บัญชาการทหารสูงสุด กล่าวว่า ทางกองทัพได้ร่วมกับ จังหวัด และอำเภอที่เกี่ยวข้องเรียบร้อยแล้ว เป็นการเตรียมพร้อมให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนบนพื้นฐานของผลประโยชน์ของประเทศด้วย เพราะเราก็มีบทเรียนจากผู้หนีภัยจากการสู้รบที่ผ่านมา ปัจจุบันยังอยู่ในศูนย์พักพิงหลายหมื่นคน คิดว่าพอพัฒนาการพัฒนาไปแล้วปัญหาต่างๆ ไม่ได้กคลี่คลายโดยง่ายองค์กรต่างประเทศ สุดท้ายก็เป็นส่วนทีเราก็ต้องดูแลต่อไป. สำนักข่าวไทย