จ.นครราชสีมา 1 ต.ค.-“พล.อ.ประวิตร” ลงพื้นที่นครราชสีมา สั่งทุกหน่วยเร่งช่วยประชาชนเร่งด่วน หาแนวทางแก้น้ำท่วมให้กลับคืนสู่สภาวะปกติโดยเร็ว
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ลงพื้นที่ตรวจสถานการณ์น้ำท่วมโดยรอบในพื้นที่จ.นครราชสีมาและลุ่มน้ำลำเชียงไกร พร้อมมอบถุงยังชีพให้กับผู้ประสบอุทกภัย โดยมีนายกอบชัย บุญอรณะ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) และนายชยันต์ เมืองสง รองเลขาธิการ สทนช. พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการในพื้นที่ ให้การต้อนรับ ที่เทศบาลตำบลบัลลังก์ อ.โนนไทย จ.นครราชสีมา หลังจากนั้นลงพื้นที่บริเวณก่อสร้างอาคารบังคับน้ำอ่างเก็บน้ำลำเชียงไกรตอนล่าง
พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ขณะนี้สั่งการให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำโดยเร่งด่วน และหาแนวทางแก้ไขปัญหาน้ำท่วมที่เกิดขึ้น เพื่อให้พื้นที่ที่ประสบภัยกลับคืนสู่สภาวะปกติโดยเร็ว ซึ่งในปัจจุบันยังคงมีพื้นที่น้ำท่วมจำนวน 4 อำเภอ ได้แก่ อ.โนนสูง อ.โชคชัย และ อ.ด่านขุนทดและอ.เมือง เนื่องจากได้รับอิทธิพลจากพายุโซนร้อน “เตี้ยนหมู่” ในช่วงที่ผ่านมา ทำให้มีฝนตกหนัก ครอบคลุมพื้นที่ทั้งจ.นครราชสีมา โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มน้ำลำเชียงไกร ซึ่งครอบคลุมเขตพื้นที่อ.ด่านขุนทด อ.พระทองคำ อ.โนนไทย และ อ.โนนสูงที่มีฝนตกลงมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีมวลน้ำไหลเข้าในอ่างเก็บน้ำลำเชียงไกรตอนบน และมวลน้ำดังกล่าวได้ไหลต่อเข้ามายังอ่างลำเชียงไกรตอนล่าง ซึ่งกรมชลประทานจำเป็นต้องเปิดช่องทางระบายน้ำออกจากอ่างเก็บน้ำลำเชียงไกรตอนล่างเพิ่มเติมจากเดิม
พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ปัจจุบัน(ข้อมูล 30 ก.ย.64) อ่างเก็บน้ำลำเชียงไกร (ตอนบน) มีปริมาณน้ำในอ่างฯ 7.62 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) คิดเป็น 90.7 % ของความจุ ลดลงจากเมื่อวาน(30 ก.ย.) โดยมีปริมาณน้ำไหลลงอ่างฯ ประมาณ 3 ล้าน ลบ.ม. ระบายน้ำลงลำน้ำเดิมและทางระบายน้ำล้นรวม 4.3 ล้าน ลบ.ม. ส่วนอ่างเก็บน้ำลำเชียงไกร (ตอนล่าง) ปัจจุบันมีปริมาณน้ำในอ่างฯ 6.87 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 24.82 % ของปริมาณความจุ มีระดับน้ำลดลง โดยมีปริมาณน้ำไหลลงอ่างฯ 5.75 ล้าน ลบ.ม. ระบายน้ำออก 13.8 ล้าน ลบ.ม. อย่างไรก็ตาม หากไม่มีฝนตกเพิ่มเติม ปริมาณน้ำท่าไหลลงอ่างเก็บน้ำจะลดลง และพื้นที่ท้ายอ่างฯ ที่ได้รับผลกระทบก็จะเข้าสู่ภาวะปกติ
พล.อ.ประวิตร สั่งการให้กรมชลประทานเร่งปิดทำนบดินชั่วคราวเพื่อเก็บกักน้ำไว้ในอ่างฯ ให้แล้วเสร็จโดยเร็วภายใน 5 วัน เพื่อเก็บกักน้ำไว้ในในฤดูแล้งหน้า ซี่งกรมชลประทานยืนยันว่าก่อนสิ้นสุดฤดูฝนนี้จะสามารถเก็บกักน้ำที่ยังไหลมาจากอ่างฯ ลำเชียงไกรตอนบนได้อีกไม่น้อยกว่า 60 % ของความจุ หรือคิดเป็น 18 ล้านลูกบาศก์เมตร ที่สำคัญยังสั่งการให้ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาเร่งสำรวจผลกระทบและความเสียหายเพื่อเร่งจ่ายค่าชดเชยโดยเร็ว
สำหรับจ.นครราชสีมา อยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำมูลตอนบน ซึ่งสภาพภูมิประเทศของพื้นที่ลุ่มน้ำมีความลาดชันสูง เสี่ยงทั้งภัยน้ำท่วมและภัยแล้ง โดยเฉพาะปัญหาน้ำท่วม หากมีฝนตกหนักอย่างต่อเนื่องจะเกิดปัญหาน้ำท่วมทันที เนื่องจากลำน้ำรับปริมาณน้ำได้จำกัด อีกทั้งมีการตื้นเขินของลำน้ำ ตลอดจนการบุกรุกลำน้ำ และสภาพการใช้ที่ดินที่เปลี่ยนแปลงไป ในส่วนปัญหาภัยแล้งส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในพื้นที่เงาฝน ใน อ.ประทาย อ.โนนแดง อ.สีดา อ.บัวลาย อ.พระทองคำ อ.ขามสะแกแสง อ.ด่านขุนทด อ.เทพารักษ์ อ.เฉลิมพระเกียรติ และ อ.พระทองคำ
นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการ สทนช. กล่าวว่า ในส่วนแผนงาน/โครงการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในพื้นที่ จ.นครราชสีมา ช่วงปี 2561-2564 ได้ดำเนินการไปแล้ว 2,394 แห่ง ปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น 54.81 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่รับประโยชน์ 172,490 ไร่ ประชาชนได้รับประโยชน์ 149,355.82 ครัวเรือน และพื้นที่ได้รับการป้องกัน 73,703 ไร่ สามารถป้องกันตลิ่งได้ 860 เมตร นอกจากนี้ ยังมีแผนงาน/โครงการที่ดำเนินการตามงบบูรณาการ ในปี 2565 จำนวน 59 แห่ง ความจุ 7.83 ล้าน ลบ.ม. มีพื้นที่รับประโยชน์ 25,028 ไร่ ประชาชนได้รับประโยชน์ 39,103 ครัวเรือน และมีพื้นที่ได้รับการป้องกัน 78,174 ไร่
นายสุรสีห์ กล่าวว่า ยังมีแผนงาน/โครงการสำคัญที่จะดำเนินการอีก 11 โครงการ ซึ่งเมื่อดำเนินการแล้วเสร็จ จะสามารถเพิ่มความจุได้ 102 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่รับประโยชน์ 153,270 ไร่ และประชาชนได้รับประโยชน์มากกว่า 104,175 ครัวเรือน ประกอบด้วย 1.โครงการผันน้ำอ่างเก็บน้ำป่าสักชลสิทธิ์-มวกเหล็ก-ลำตะคอง มีความจุ 94 ล้าน ลบ.ม. ครัวเรือนได้รับประโยชน์ 20,000 ครัวเรือน ซึ่งอยู่ในระหว่างการศึกษาสิ่งแวดล้อม 2.โครงการบรรเทาอุทกภัยเทศบาลนครนครราชสีมา-อำเภอพิมาย และเพิ่มพื้นที่ชลประทาน อ.โนนสูง มีพื้นที่รับประโยชน์ 40,00 ไร่ ประชาชนได้รับประโยชน์ 5,000 ครัวเรือน ขณะนี้ดำเนินการศึกษาแล้วเสร็จ 3. โครงการก่อสร้างปรับปรุงขยายการประปาส่วนภูมิภาคสาขาปักธงชัย-โชคชัย ครัวเรือนได้รับประโยชน์ 25,500 ครัวเรือน ซึ่งอยู่ระหว่างการออกแบบ และ 4. โครงการจัดหาน้ำดิบเพื่อผลิตน้ำประปาที่โรงกรองน้ำบ้านมะขามเฒ่า มีประชาชนได้รับประโยชน์ 64,371 ครัวเรือน โดยได้ดำเนินการศึกษาและออกแบบเสร็จเรียบร้อยแล้ว.-สำนักข่าวไทย