รัฐสภา 19 ส.ค. – ถกงบฯ ปี 65 วันที่ 2 กร่อย ฝ่ายค้านไล่บี้ “ดีอีเอส” แนะตัดงบฯ ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ชี้ไม่เป็นกลางทางการเมือง ปกป้องแต่รัฐบาล
การประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 วันนี้ (19 ส.ค.) เป็นการประชุมวันที่ 2 พิจารณาต่อรายมาตรา วาระ 2 ในส่วนของกระทรวงการคลัง กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยที่ประชุมเห็นชอบกับที่กรรมาธิการเสียงข้างมากเสนอปรับลด
สำหรับการอภิปรายรายมาตราตลอดทั้งวันเป็นไปอย่างราบรื่น มีการอภิปรายเข้มข้นในช่วงของงบฯ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ที่นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ขอปรับลดงบฯ ของกระทรวงดีอีเอส ร้อยละ 10 โดยเฉพาะในส่วนของกรมอุตุฯ ซึ่งตั้งงบฯ ถึงประมาณ 1,100 ล้านบาท โดยมองว่า กรมอุตุฯ บริหารงานล้มเหลว สร้างความเสียหายต่องบประมาณแผ่นดิน เช่น โครงการปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจวัดข้อมูลอุตุนิยมวิทยาระดับตำบลและอำเภอให้เป็นระบบอัตโนมัติ งบประมาณ 615 ล้านบาท ที่เมื่อได้งบประมาณก็ไปประกาศตั้งกรรมการร่างทีโออาร์ครั้งแรก ปรากฏว่า ทีโออาร์ออกไม่ได้ สุดท้ายโครงการเดียวกันเปลี่ยนกรรมการร่างทีโออาร์ถึง 3 ครั้ง เปลี่ยนเหมือนรอบริษัทไหนอยู่ ขณะที่อธิบดีกรมอุตุฯ ยืนยันกับกรรมาธิการฯ ว่า งบประมาณก้อนนี้ใช้ทันและเซ็นสัญญาทันก่อน 30 กันยายน 2564 สุดท้ายวันนี้ยังอยู่ในขั้นออกทีโออาร์ แสดงให้เห็นว่า การบริหารงานขาดประสิทธิภาพ ล้มเหลว เสียหายต่องบประมาณแผ่นดิน
ด้านนายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ขอตัดงบฯ กระทรวงดีอีเอส ในโครงการศูนย์ประสานงานและแก้ไขปัญหาข่าวปลอม โดยขอตัดทิ้งทั้งโครงการ จำนวนเงิน 79,997,000 บาท โดยระบุว่า สาเหตุที่เราไม่ควรให้งบประมาณกับศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม เพราะโครงการนี้ไม่สามารถดำเนินงานได้ตามวิสัยทัศน์และมาตรฐานที่เคยได้ให้ไว้ตั้งแต่ที่จัดตั้งขึ้น โดยการดำเนินงานของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม มีปัญหาตั้งแต่ใช้คำว่า “เฟคนิวส์” ที่ในระดับนานาชาติเห็นตรงกันว่า คำว่าเฟคนิวส์ไม่สามารถอธิบายปัญหาที่ซับซ้อนตามเจตนาของผู้เผยแพร่ข่าวได้ อีกทั้งยังมีปัญหาเกี่ยวกับความเป็นกลางและการลำเอียง ที่ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมเลือกที่จะตรวจสอบเฉพาะข่าวปลอมที่เป็นผลลบต่อนโยบายรัฐบาลเท่านั้น เพราะเมื่อมีข่าวปลอมที่เป็นผลบวกกับรัฐบาล แม้ได้รับการยืนยันจากองค์กรนานาชาติว่าเป็นข่าวปลอม ก็ไม่มีการตรวจสอบ
“ศูนย์นี้ตั้งขึ้นมาเพื่อที่จะปกป้องรัฐบาล หรือฟากฝ่ายการเมืองใดฝั่งหนึ่งเท่านั้น ดังนั้น ตราบใดที่หน่วยงานที่ทำการตรวจสอบข้อมูลข้อเท็จจริงเป็นหน่วยงานภายใต้รัฐโดยตรง ไม่ว่าพรรคการเมืองใดจะเป็นรัฐบาล เป็นไปไม่ได้ที่จะถูกครหาหรือไม่ถูกครหาด้านความเป็นกลาง” นายปกรณ์วุฒิ กล่าว
นายปกรณ์วุฒิ ยืนยันว่า ตนเห็นด้วยว่าปัญหาข่าวปลอมเป็นปัญหาที่ควรได้รับการแก้ไข แต่การไล่ฟ้องดำเนินคดีกับประชาชนไม่สามารถแก้ไขปัญหานี้ได้อย่างแน่นอน และการที่อำนาจในการชี้ว่าสิ่งใดคือความจริงและความเท็จไปอยู่กับหน่วยงานที่ขึ้นตรงกับฝ่ายการเมือง และเป็นหน่วยงานเดียวกันที่ถืออำนาจทางกฎหมายในการดำเนินคดีกับประชาชน ก็ไม่มีทางสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนได้ ทำให้หากศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม สร้างข่าวปลอมเสียเอง ใครจะเป็นคนดำเนินคดี ดังนั้น ควรจะส่งเสริมองค์กรลักษณะนี้ให้เกิดจากความร่วมมือของภาคประชาสังคมและสื่อมวลชน ซึ่งแน่นอนว่าจะเป็นอิสระจากภาคการเมือง มีความเป็นกลางมากกว่า ตราบใดที่หน่วยงานตรวจสอบข้อเท็จจริงยังอยู่ภายใต้อำนาจของรัฐ ก็ไม่สมควรได้งบประมาณแม้แต่บาทเดียว
การประชุมในวันนี้ ที่ประชุมให้ความเห็นชอบถึงมาตราที่ 17 ในส่วนของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ก่อนจะปิดการประชุมในเวลา 20.18 น. โดยวันพรุ่งนี้ (20 ส.ค.) จะเริ่มพิจารณาต่อในมาตราที่ 18 งบประมาณในส่วนของกระทรวงพลังงาน. – สำนักข่าวไทย