กรุงเทพฯ 3 ส.ค. – ที่ประชุม ครม. เห็นชอบขยายขอบเขตมาตรการบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 และให้ความช่วยเหลือกลุ่มแรงงานและผู้ประกอบการในพื้นที่สีแดงเข้ม พร้อมเพิ่มกรอบวงเงินการให้ความช่วยเหลือเป็น 60,000 ล้านบาท จากเดิม 30,000 ล้านบาท
สำหรับรายละเอียดคือ ปรับเพิ่มพื้นที่ดำเนินการจากเดิม 13 จังหวัด เป็น 29 จังหวัด โดย 13 จังหวัดสีแดงเข้มที่ประกาศครั้งแรกเพิ่มระยะเวลาให้ความช่วยเหลือเป็น 2 เดือน คือในเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร สงขลา นราธิวาส ปัตตานี ยะลา ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และพระนครศรีอยุธยา
ส่วน 16 จังหวัดเพิ่มเติมให้ความช่วยเหลือ 1 เดือน คือในเดือนสิงหาคม ได้แก่ กาญจนบุรี ตาก นครนายก นครราชสีมา ประจวบคีรีขันธ์ ปราจีนบุรี เพชรบุรี เพชรบูรณ์ ระยอง ราชบุรี ลพบุรี สิงห์บุรี สมุทรสงคราม สระบุรี สุพรรณบุรี และอ่างทอง
ส่วนการโอนเงินนั้น กระทรวงแรงงานแจ้งว่าในวันที่ 4-6 สิงหาคมนี้ จะโอนเงินเยียวยางวดแรกให้ลูกจ้างผู้ประกันตนมาตรา 33 และนายจ้าง ผู้ประกอบการมาตรา 33 ตามจำนวนลูกจ้าง ในพื้นที่ 10 จังหวัดแรกที่มีการประกาศเป็นพื้นที่สีแดงเข้มตั้งแต่แรกเริ่ม (กรุงเทพมหานคร นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร สงขลา นราธิวาส ปัตตานี ยะลา) ผ่านเข้าบัญชีพร้อมเพย์เท่านั้น หรือบัญชีนิติบุคคลสำหรับผู้ประกอบการ ส่วน 3 จังหวัดที่มีประกาศตามมาคือ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และพระนครศรีอยุธยา จะมีการโอนเงินในวันที่ 9 สิงหาคม
ส่วนเงินเยียวยามาตรา 39 และมาตรา 40 คาดว่าจะโอนเข้าบัญชีพร้อมเพย์แก่ผู้ประกันตนในวันที่ 24 สิงหาคม พร้อมกัน
สำหรับกลุ่มเป้าหมายยังคงครอบคลุมกลุ่มแรงงานและผู้ประกอบการในกิจการที่ได้รับผลกระทบ ทั้งในส่วนที่อยู่ในระบบประกันสังคมและไม่อยู่ในระบบประกันสังคม
ประเภทกิจการที่ให้ความช่วยเหลือคือ กิจการในระบบประกันสังคมจะครอบคลุม 9 สาขา และในกลุ่มผู้ประกอบการในระบบ “ถุงเงิน” ภายใต้โครงการคนละครึ่ง และโครงการเราชนะ ที่ผ่านการคัดกรองแล้ว และไม่เป็นผู้ถูกตัดสิทธิจากกระทรวงการคลัง จำนวน 5 กลุ่ม โดยรูปแบบการให้ความช่วยเหลือเป็นไปตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคมที่ผ่านมา คือ ลูกจ้าง ผู้ประกันตนมาตรา 33 ได้รับเงินช่วยเหลือ 2,500 บาทต่อคน ชดเชยเงินเดือน 50% ของค่าจ้าง รวมไม่เกินคนละ 10,000 บาท, ผู้ประกอบการ ได้เงินช่วยเหลือรายละ 3,000 บาทต่อลูกจ้าง 1 คน จำกัดไม่เกิน 200 คน, ผู้ประกันตน มาตรา 39 และมาตรา 40 รับเงินช่วยเลือก 5,000 บาท ส่วนผู้ประกอบการ รับเงินช่วยรายละ 3,000 บาทต่อลูกจ้าง 1 คน จำกัดไม่เกิน 200 คน
ส่วนกลุ่มรถแท็กซี่ และรถจักรยานยนต์สาธารณะ ที่มีอายุเกิน 65 ปี ซึ่งไม่สามารถสมัครเป็นผู้ประกันตนมาตรา 40 ทำให้ไม่สามารถได้รับความช่วยเหลือตามมติ ครม. ที่ประชุมได้มอบหมายให้กระทรวงแรงงานเร่งจัดทำข้อเสนอโครงการให้ความช่วยเหลือ เพื่อนำเข้าที่ประชุมเพื่อให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาในโอกาสต่อไป.-สำนักข่าวไทย