รัฐสภา 24 มิ.ย. – “กรวีร์ ปริศนานันทกุล” ลั่นควรยกเลิกมาตรา 272 ถึงเวลาแล้ว! ส.ว. ต้องคืนอำนาจให้กับประชาชน
นายกรวีร์ ปริศนานันทกุล ส.ส.พรรคภูมิใจไทย อภิปรายและเสนอในเรื่องของการแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญ ประเด็นแรก คือ เรื่องระบบการเลือกตั้ง ที่จะเปลี่ยนระบบใหม่ ไม่ว่าจะเป็นสูตรไหนก็แล้วแต่ ซึ่งเข้าใจในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่ผ่านมาทั้งระบบเขต และระบบบัญชีรายชื่อ ได้รู้และเห็นถึงความสำคัญของการมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากทั้ง 2 ระบบ เป็นอย่างดี แต่ก็อดไม่ได้ว่าจะหนีไม่พ้นคำครหาของพี่น้องประชาชนที่บอกว่า การแก้ไขกฎหมายก็จะแก้เพื่อตัวพวกเราเอง ไม่อยากจะให้รัฐสภาแห่งนี้เป็นรัฐสภาที่ต้องแบกความรับผิดชอบว่า สุดท้ายแล้วการแก้ไขไม่ได้แก้ไขปัญหาเพื่อประชาชน เมื่อคำนวณสูตรการคิดคำนวณ ส.ส.แล้ว ไม่เห็นประชาชนอยู่ในสมการการคิดคำนวณเลย นี่จึงเป็นที่มาที่พรรคภูมิใจไทยเสนอในการแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ว่า อยากจะเห็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อปากท้อง แก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยที่กินได้ เพื่อให้กับพี่น้องประชาชนผ่านการเขียนบรรจุลงไปในกฎหมายหลัก ก็คือกฎหมายรัฐธรรมนูญ ในสภาแห่งนี้ เชื่อว่าเรามีความคิดเห็นที่แตกต่างกันได้หลากหลายเรื่อง แต่เชื่อว่าเรื่องหนึ่งที่พวกเราในฐานะสมาชิกรัฐสภา ไม่ว่าจะเป็น ส.ส.ฝ่ายค้าน หรือฝ่ายรัฐบาล หรือแม้กระทั่ง ส.ว. ก็ตาม เราเห็นตรงกัน คือ เรื่องของปากท้อง และการแก้ไขปัญหาความยากจนของพี่น้องประชาชนให้หมดไป เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ถ้าเราเห็นตรงกันว่าเรื่องปากท้องของพี่น้องประชาชนเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด ทำไมไม่บรรจุใส่ไว้ในกฎหมายที่สูงที่สุดของประเทศ นั่นก็คือ กฎหมายรัฐธรรมนูญ ทำไมปล่อยให้เป็นเรื่องของรัฐบาลที่จะไปพิจารณาว่าจะช่วยหรือไม่ช่วย ที่จะให้ความช่วยเหลือพี่น้องประชาชนให้เขาลืมตาอ้าปากได้หรือไม่
นายกรวีร์ กล่าวต่ออีกว่า ครั้งนี้เป็นโอกาสที่ดี และในร่างกฎหมายแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 13 ฉบับ มีของพรรคภูมิใจไทยฉบับเดียวที่บรรจุเรื่องนี้เอาไว้ในกฎหมายรัฐธรรมนูญ หวังว่าเพื่อนสมาชิกรัฐสภา ทั้งฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล และ ส.ว. จะเห็นตรงกัน แล้วจะหยิบยกเรื่องนี้ให้ผ่านในวาระแรก และเข้าไปสู่กระบวนการแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญในท้ายที่สุด
ประเด็นที่ 3 เรื่องของการยกเลิกมาตรา 272 ในกฎหมายรัฐธรรมนูญ คือ การยกเลิกอำนาจในการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีจาก ส.ว. ซึ่งประเด็นนี้ ทางพรรคภูมิใจไทยไม่ได้รังเกียจ ส.ว. พวกเรารู้ถึงความจำเป็น และรู้ว่าการทำหน้าที่ ระหว่างสภา ส.ส. และสภาสูง (สภาของสมาชิกวุฒิสภา) นั้น การทำงานร่วมกันมีความจำเป็น ในทางตรงกันข้าม เรายังปรารถนาดีที่อยากจะเห็น ส.ว. เป็นสภาอันทรงเกียรติ เป็นสภาที่กลั่นกรองกฎหมายที่ผ่านจาก ส.ส. ของพวกเราขึ้นไป เพื่อความรอบคอบ และทำหน้าที่รับใช้ประชาชนเคียงคู่กันไปกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
นอกจากนั้น ต้องชื่นชมสมาชิกวุฒิสภาหลายท่านในชุดนี้ เป็นคนเก่ง มีความสามารถ แต่สิ่งที่เป็นปัญหา มีอยู่ 2 เรื่อง เรื่องแรก คือ ไม่ได้มาจากพี่น้องประชาชน และเรื่องที่ 2 คือ ส.ว. มีอำนาจบางอย่างอยู่ในมือของท่าน โดยที่เป็นอำนาจไม่พึงจะมี ด้วย 2 อย่างนี้ จึงทำให้สถานะการดำรงอยู่ของ ส.ว. ไม่ค่อยสง่างาม และด้วยอำนาจของท่านที่ไม่พึงจะมี และทำให้ท่านไปใช้อำนาจแทนพี่น้องประชาชนในการเลือกตั้ง ในการเลือกตัวนายกรัฐมนตรีนั้น ขัดกับหลักการของประชาธิปไตยอย่างเสียหายเป็นอย่างยิ่ง
“เมื่อปี 2559 ต่อเนื่องถึงปี 2560 มาตรา 272 ไม่ได้ถูกบรรจุไว้ในกฎหมายรัฐธรรมนูญในเบื้องแรก แต่มาจากการตั้งคำถามพ่วงในวันที่พวกเราทำประชามติถามกับพี่น้องประชาชน แล้วคำถามพ่วงนั้นมาจากสมาชิก สนช. โดยความให้อนุมัติผ่านสภา สนช. โดยคำแนะนำของ สปท. (สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปแห่งประเทศ) และบังเอิญที่บางส่วนของสมาชิก สนช. และบางส่วนของสมาชิก สปช. (สภาปฏิรูปแห่งชาติ) มาอยู่ในสภาแห่งนี้ มากลายร่างเป็น ส.ว.ในยุคปัจจุบัน และ ส.ว.ในชุดนี้ บังเอิญเป็นการแต่งตั้ง คัดเลือกโดย คสช. และ ส.ว.ชุดนี้ ก็ไปเลือกนายกรัฐมนตรี เป็นนายกฯ ท่านปัจจุบันนี้ ที่พวกเราทราบกันดี ด้วยกติกาและวิธีการแบบนี้ จึงทำให้ ส.ว.ชุดนี้ หนีไม่พ้นคำครหา เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์จากประชาชน จนทำให้คนอื่นดูแคลนสมาชิกวุฒิสภาชุดนี้ไปต่างๆ นานา ด้วยเหตุนี้เอง ถึงบอกว่าเห็นใจ เพราะ ส.ว.ชุดปัจจุบันไม่ได้เป็นคนเขียนกติกา แต่ท่านต้องมารับเผือกร้อนด้วยการถือเอาอำนาจที่ท่านไม่ควรที่จะได้รับตั้งแต่แรกมาไว้ในมือ จึงเกิดเรื่องแบบนี้ขึ้นมา”
อย่างไรก็ตาม ตลอดช่วงวันนี้ที่ผ่านมา สมาชิกวุฒิสภาหลายท่านแสดงเจตจำนงที่ชัดเจนว่า เห็นด้วยในหลักการที่จะรับในการยกเลิกมาตรา 272 แล้วคืนอำนาจในการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีให้เป็นอำนาจของประชาชน ผ่านตัวแทนของพี่น้องประชาชน ก็คือ ส.ส. ที่เลือกตั้งกันเข้ามา ประเด็นนี้อยากจะบอกกับท่านวุฒิสมาชิกว่า ถึงเวลาแล้วที่จะคืนอำนาจเหล่านี้ให้กับพี่น้องประชาชน เขาเลือกตั้ง ส.ส. เลือกพรรคการเมืองเข้ามา ด้วยความหวังว่า พรรคการเมืองเหล่านั้นจะมาเป็นรัฐบาล และผลักดันนโยบายต่างๆ แต่สุดท้ายการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรี การแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีผ่านรัฐสภาแห่งนี้ กลับมีเสียงที่ไม่ได้มาจากประชาชน 250 เสียง ในการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีด้วย
“นี่คือโอกาสที่ดีที่จะทำให้คำครหาต่างๆ ที่มีกับท่าน ส.ว. หมดไป และเป็นโอกาสที่ดีที่จะแก้ไขกติกาที่ผิดเพี้ยนจากหลักระบอบประชาธิปไตยให้ถูกต้อง ให้กลับมาอยู่ในเส้นทางของระบอบประชาธิปไตยเสียที นี่คือโอกาสที่จะสร้างความชอบธรรม สร้างอำนาจอธิปไตยในการเลือกตัวนายกรัฐมนตรี ให้กลับไปอยู่ที่ตัวแทนของพี่น้องประชาชนผ่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร”
นายกรวีร์ กล่าวทิ้งท้ายว่า “ถ้าเราจะเห็นการแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญสักฉบับหนึ่ง คาดหวังว่าจะไม่เป็นคำติฉินนินทา และไม่เป็นคำครหากลับมาที่รัฐสภาแห่งนี้ ว่าพวกเราแก้เพื่อตัวเอง ถ้าเราจะแก้รัฐธรรมนูญกันใหม่สักครั้งหนึ่ง ก็อยากจะเห็นว่าเป็นการแก้ไขเพื่อแก้ปัญหาปากท้อง การกินดีอยู่ดี และสร้างรัฐธรรมนูญที่กินได้ให้กับพี่น้องประชาชนเสียที และถ้าเราจะแก้รัฐธรรมนูญ หวังว่าเราจะสร้างกติกาที่เป็นสากลในระบอบประชาธิปไตย และหวังว่าการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรี การแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีผ่านสภาในครั้งหน้านั้น เราจะได้ทำหน้าที่ในการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีอย่างสมเกียรติ สมศักดิ์ศรี และเราจะได้นายกรัฐมนตรีที่สง่างามให้กับคนไทยทั้งประเทศ” – สำนักข่าวไทย