กรุงเทพฯ 4 พ.ค.-โฆษก ศบค. เผยนายกฯ เตรียมตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์โควิด-19 กรุงเทพฯและปริมณฑล คัดกรองเชิงรุก นำผู้ป่วยแยกจากชุมชนและครอบครัว ลดการแพร่เชื้อ หลังยอดติดเชื้อเพิ่มรายวัน
นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) แถลงสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศไทย ว่า วันนี้พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 1,763 คน แบ่งเป็นติดเชื้อในประเทศ 1,750 คน จากต่างประเทศ 13 คน คือ อินเดีย 1 คน ไนจีเรีย 1 คน อียิปต์ 1 คน อิตาลี 1 คน ปากีสถาน 1 คน ซูดาน 1 คน ทำให้ยอดผู้ป่วยยืนยันสะสม อยู่ที่ 72,788 คน หายป่วยแล้ว 42,472 คน วันนี้เสียชีวิต 27 ราย ยอดเสียชีวิตสะสม 303 ราย โดยการระบาดระลอกใหม่ ตั้งแต่ 1 เม.ย. – 4 พ.ค. 64 ยอดผู้ป่วยยืนยันสะสม 43,925 คน เป็นผู้ป่วยจากระบบ 37,103 คน ค้นหาเชิงรุกในชุมชน 6,580 คน จากต่างประเทศ 242 คน หายป่วยแล้ว 15,048 คน ยังคงรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 30,011 คน แบ่งเป็นในโรงพยาบาล 21,453คน โรงพยาบาลสนาม 8,558 คน อาการหนัก 1,009 คน ใส่เครื่องช่วยหายใจ 311 คน
สำหรับผู้เสียชีวิต ทั้ง 27 ราย เป็นชาย 21 ราย และหญิง 6 ราย โดยค่าเฉลียของอายุ 66 ปี ระหว่าง 25 – 92 ปี แบ่งเป็น กทม. 8 ราย นนทบุรี 5 ราย ลำพูน สมุทรปราการ 2 ราย ส่วนชลบุรี อุบลราชธานี ปทุมธานี บครปฐม บุรีรัมย์ สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช กำแพงเพชร ชัยนาท น่าน จังหวัดละ 1 ราย ซึ่งปัจจัยเสี่ยงต่อความรุนแรงของโรค คือ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคหัวใจ ไขมันในเลือดสูง ไทรอยด์ ติดเตียง อ้วน มะเร็ง โรคปอดเรื้อรัง ไตเรื้อรัง ส่วนปัจจัยเสี่ยงติดเชื้อ คือ สมาชิกในครอบครัว เพื่อน เพื่อนร่วมวาน พนักงานสถานบันเทิง ตลาด
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ยอดผู้ติดเชื้อใน กทม.ยังสูงเป็นอันดับ 1 ยอดสะสม อยู่ที่ 14,520 คน อันดับ 2 คือ เชียงใหม่ สะสม 3,714 คน อันดับ 3 ชลบุรี สะสม 2,853 คน อันดับ 4 สมุทรปราการ สะสม 2,368 คน อันดับ 5 นนทบุรี 2,309คน อันดับ 6 สมุทรสาคร สะสม 1,114 คน อันดับ 7 ประจวบคีรีขันธ์ สะสม 1,105 คน อันดับ 8 ปทุมธานี สะสม 979 คน อันดับ 9 สุราษฏร์ธานี สะสม 857 คน อันดับ 10 สงขลา สะสม 724 คน
ถือว่าแนวโน้มค่อนข้างทรงตัว แต่ยังไว้ใจไม่ได้ ซึ่งต่างจังหวัดค่อนข้างควบคุมได้ ยกเว้น กรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยผลการประชุม EOC และ ศบค.ชุดเล็ก วันนี้ พบว่า กรุงเทพฯ ปริมณฑล มีจำนวนผู้ติดเชื้อ มากกว่า 73 จังหวัดรวมกัน จึงจัดทำยุทธศาสตร์การทำงานและโฟกัสลงไปที่เขตในกทม. ที่มีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก โดยการตรวจคัดกรองเชิงรุกและแยกผู้ป่วยออกจากครอบครัว และเข้าสู่กระบวนการรักษา อย่างเช่นวันนี้ คือ บ่อนไก่เขตคลองเตย ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันของหลายภาคส่วน ทั้งกรุงเทพมหานคร สาธารณสุข ในการคัดกรอง หลังพบติดเชื้อใน 6 ชุมชนแออัด คือ ชุมชนพัฒนาบ่อนไก่ 61 คน ชุมชนเคหะบ่อนไก่ 14 คน ชุมชนโปโล 10 คน ชุมชนพระเจน 8 คน ชุมชนร่วมฤดี 2 คน ชุมชนกุหลาบแดง 1 คน ซึ่งพบว่ามีรายงานมาตั้งแต่วันที่ 8 เมษายน พอเข้าสู่ช่วงเทศกาลสงกรานต์ ทำให้ยอดยิ่งพุ่งขึ้นมา ไม่เฉพาะพบผู้ติดเชื้อในชุมชน แต่ยังพบมีการแพร่เชื้อไปยังคอนโด บ้าน หลังจากมีการค้นหาเชิงรุกมากขึ้น รวม 162 ราย ตั้งเป้าตรวจเชิงรุกให้ได้วันละ 1,000 คน โดยวันนี้ได้เข้าไปตรวจที่ชุมชนพัฒนาบ่อนไก่ และอีกชุมชน คือ ชุมชนสี่แยกมหานาค เขตดุสิต โดยมีการรายงานในที่ประชุมว่าพบผู้ติดเชื้อถึง 80 ราย กระจายตัวอยู่ในหลายพื้นที่ เช่นชุมชนวัดญวน – คลองลำปัก 73 คน ชุมชนหลังบ้านมนังคศิลา 5 คน และชุมชนริมทางรถไฟสายแปดริ้วอีก 2 คน ซึ่งทั้ง 3 ชุมชนนี้เป็นชุมชนแออัด พบว่าจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นหลังสงกรานต์เช่นกัน พบ 3 ต้นตอในการระบาด คือ 1.คลัสเตอร์ ที่ไปผับแถวรัชดา เมื่อวันที่ 7-8 เมษายน และมาพบเชื้อเมื่อช่วง 14-15 เมษายน และคลัสเตอร์ที่ 2 คือไปแถวพระราม 2 และพบเชื้อในช่วง 16 เมษายน เป็นพนักงานบริษัท และคลัสเตอร์ 3 คือ ไปเที่ยวแพเมืองกาญ กับกลุ่มเพื่อนในช่วงสงกรานต์
ขณะที่ผู้ติดเชื้อจังหวัดสมุทรปราการตัวเลขวันนี้ ซึ่งติดเชื้อเป็นกลุ่มก็ในโรงงานแถวอำเภอพระสมุทรเจดีย์ จำนวน 160 คน ต้นต่อจากพนักงานชาวเมียนมา มีอาการป่วยตั้งแต่วันที่ 17 เมษายน และแพร่เชื้อให้กับเพื่อนร่วมห้องชาวเมียนมา 2 คน และค่อยๆ ขยายวงกว้างไปสู่เพื่อนๆ พนักงานคนอื่นๆ มีการรายงานต่อที่ประชุม ศบค.ชุดเล็กวันนี้ ขณะนี้โรงงานดังกล่าวได้หยุดทำการชั่วคราวแล้วตั้งแต่วันที่ 22 เมษายนที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังมีการรายงาน ปริมาณยาฟาวิพิราเวียร์ คงเหลืออีกกว่า 1.6 ล้านเม็ด และจะสั่งมาจากญี่ปุ่นอีกกว่า 2 ล้านเม็ดภายในวันที่ 12 พ.ค. ส่วนวัคซีนมีการจัดสรร ไปแล้ว กว่า 1.9 ล้านโดส ตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ – 3 พฤษภาคม ฉีดไปแล้ว 1,498,617 โดส
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า สำหรับการประชุมนัดพิเศษที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานเมื่อวานที่ผ่านมา ในฐานะ ผอ.ศบค. นัดหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งส่วนของกรุงเทพมหานครและปริมณฑลมาหารือในสถานการณ์เร่งด่วน โดยสรุปมี 2 ประเด็นใหญ่ คือ จะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการ 1 ชุดในการบูรณาการงานโควิด- 19 ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งถือว่ามีผู้ติดเชื้อเป็นจำนวนมาก เพิ่มความเข้มข้น คือ ตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์โควิด-19 กรุงเทพฯและปริมณฑล โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้อำนวยการศูนย์ และ 2. ตั้งศูนย์ควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ระดับเขต โดยมี ผอ. เขตเป็นผู้อำนวยการศูนย์ ส่วนสถานการณ์โลก ยอดติดเชื้อรวม 154,178,244 คน อันดับ1 คือ สหรัฐ 33,230,561 คน อันดับ 2 คือ อินเดีย 20,275,543 คน อันดับ 3 บราซิล อันดับ 4 ฝรั่งเศส และอันดับ 5 ตุรกี ส่วนไทยอยู่ที่อันดับ 99 .-สำนักข่าวไทย