กระทรวงกลโหม 23 เม.ย. -นายกฯ ย้ำสภากลาโหมหนุนรับมือโควิด-19 ชี้เป็นภัยคุกคามรูปแบบใหม่ สั่งพร้อมรับคนไทยกลับจากมาเลย์ เฝ้าระวังชายแดนไทย-เมียนมาเตรียมแผนอพยพ หากสถานการณ์รุนแรงขึ้น
พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม แถลงผลการประชุมสภากลาโหม ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชานายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมมอบนโยบายให้หน่วยขึ้นตรงของกระทรวงกลาโหมและผู้บัญชาการเหล่าทัพเกี่ยวกับสถานการณ์ในประเทศเมียนมาร์ โดยกำชับให้ติดตามสถานการณ์ เตรียมรับมือกับปัญหาและผลกระทบ หากมีสถานการณ์ต่อสู้บริเวณชายแดนมากขึ้น โดยให้ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานด้านความมั่นคงในพื้นที่ เข้มงวดตรวจตราบริเวณตามแนวชายแดน
“นายกรัฐมนตรีกำชับเรื่องการแสดงท่าทีต่อสถานการณ์ในเมียนมาร์ โดยให้ยึดตามกรอบของกระทรวงการต่างประเทศ และแนวทางของอาเซียนเป็นหลัก นอกจากนี้ให้เตรียมแผนรับผู้ลี้ภัยความไม่สงบตามแนวชายแดน ตามที่สภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.) เสนอ ยึดหลักเมตตาธรรม มนุษยธรรมและสิทธิมนุษยชน” โฆษกกระทรวงกลาโหม กล่าว
พล.ท.คงชีพ กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำภารกิจหลักของกองทัพในการป้องกันประเทศ โดยให้ปรับแผน ให้ทันสมัยเพื่อรักษาความมั่นคง โดยเฉพาะการฝึกในระดับต่าง ๆ เพื่อให้พร้อมใช้สำหรับตอบสนองภารกิจต่าง ๆ อย่างมีประสิทธิภาพ ขอให้ทดสอบแผนเผชิญเหตุอย่างสม่ำเสมอ ให้ดำรงความต่อเนื่องในการสนับสนุนรัฐบาลป้องกันปัญหายาเสพติด การลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย การแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ และแก้ปัญหาทำประมงผิดกฎหมาย รวมทั้งการควบคุมโรค ร่วมกับประชาชนฝ่าวิกฤติโควิด-19
“นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำเรื่องปฏิรูปกองทัพ ขับเคลื่อนให้ทันสมัยสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ และสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป แสวงหาความร่วมมือเรื่องพัฒนานวัตกรรมและเทคโลยี พร้อมย้ำการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ว่าเป็นภัยคุกคามรูปแบบใหม่ที่กองทัพต้องนำศักยภาพและความพร้อมที่มีอยู่สนับสนุนการทำงานของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อควบคุมโรคให้ประชาชนปลอดภัยและใช้ชีวิตได้ตามมาตรการที่กำหนด” โฆษกกระทรวงกลาโหม กล่าว
พล.ท.คงชีพ กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีกำชับทุกเหล่าทัพและสำนักงานตำรวจแห่งชาติสนับสนุนการคัดกรองผู้ที่เดินทางกลับจากต่างประเทศในสถานที่กักตัว เตรียมมาตรการรองรับคนไทยที่เดินทางกลับจากประเทศมาเลเซีย การเตรียมอพยพคนไทยกลับจากประเทศเมียนมากรณีสถานการณ์รุนแรงขึ้น สกัดกั้นผู้หลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย ขยายการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามมากขึ้นรองรับผู้ป่วยโควิด ซึ่งปัจจุบันมีโรงพยาบาลสนามในพื้นที่ทหาร 22 แห่ง 3,456 เตียง และกำลังเร่งขยายโรงพยาบาลสนามในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑลอีก 3 แห่ง
“ขยายขีดความสามารถของโรงพยาบาลในการรองรับผู้ป่วย ซึ่งเชื่อว่าขณะนี้ปริมาณเตียงเพียงพอ สนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์ การบริหารจัดการส่งตัวผู้ป่วยเข้ารับการรักษา โดยกระทรวงกลาโหมได้จัดรถนำส่งผู้ป่วย ทำงานร่วมกับศูนย์เอราวัณ กวดขันพื้นที่ควบคุม พื้นที่เสี่ยงตามที่รัฐกำหนด การบริหารจัดการวัคซีนให้กับกำลังพลที่ปฎิบัติงานใกล้ชิดกับกลุ่มเสี่ยง ขณะเดียวกันกองทัพได้สนับสนุนงานแก้ไขปัญหา โควิด-19 ทั้งสนับสนุนกำลังพลและอุปกรณ์ตั้งโรงพยาบาลสนาม สนับสนุนกำลังพล ขับรถชีวะนิรภัยพระราชทานให้สถาบันป้องกันควบคุมโรคเพื่อตรวจหาเชื้อเชิงรุก สนับสนุนเคลื่อนย้ายผู้ติดเชื้อไปโรงพยาบาลสนาม จัดชุดแพทย์สนับสนุนการทำงานของโรงพยาบาลสนาม” โฆษกกระทรวงกลาโหม กล่าว
พล.ท.คงชีพ กล่าวว่า กำลังพลกว่า 50,000 คนร่วมบริจาคโลหิตสะสมกว่า 23,000,000 มิลลิลิตร และจะทยอยบริจาคเพิ่มเติม เนื่องจากปัญหาโลหิตขาดแคลน พร้อมกันนี้กำลังเร่งฉีดวัคซีนให้กำลังพล โดยเฉพาะที่ต้องปฏิบัติงานในพื้นที่เสี่ยงหรือใกล้ชิดกับกลุ่มเสี่ยง.-สำนักข่าวไทย