ศาลอาญา 5 เม.ย.-ปชป. เดินหน้าแก้รธน. รายมาตรา 6 ประเด็นแยก 6 ร่าง ป้องกันตกยกแผง ส่ง “ชินวรณ์” ประสานพรรคร่วม-ส.ว.หาจุดร่วม
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าขณะนี้พรรคประชาธิปัตย์เดินหน้าแก้ไขรายมาตรา โดยยกร่างเสร็จแล้วทั้งหมด 6 ประเด็นและแยกเป็นหนึ่งร่างต่อหนึ่งประเด็น เพื่อต้องการไม่ให้เกี่ยวพันกัน ถ้าประเด็นใดประเด็นหนึ่งตกไปจะไม่ทำให้ประเด็นอื่นได้รับความเสียหายด้วย ซึ่งยกร่างเสร็จเรียบร้อยแล้ว และจะได้นำเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคในวันนี้
“มอบหมายให้นายชินวรณ์ บุญเกียรติ ประธานวิปพรรคประชาธิปัตย์ นำไปหารือกับพรรคภูมิใจไทยและพรรคชาติไทยพัฒนา รวมทั้งบุคคลที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ เพื่อพิจารณาร่วมกันว่าจะมีความเห็นอย่างไร หลังจากนั้นถ้ามีความเห็นร่วมกันเรื่องใดแล้วก็คงจะต้องไปหารือในวิปรัฐบาลอีกขั้นตอนหนึ่ง เพื่อแสวงหาจุดร่วมกัน เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะสำเร็จได้ จำเป็นจะต้องใช้เสียงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภารวมกันไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่ง และในจำนวนนั้นจำเป็นจะต้องมีพรรคร่วมรัฐบาลเป็นด้านหลัก ขณะเดียวกันฝ่ายค้านต้องมีเสียงไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ให้การสนับสนุนด้วย โดยเฉพาะวุฒิสมาชิกต้องมีเสียงสนับสนุนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสาม เพราะฉะนั้นถ้าผ่านวิปรัฐบาลแล้วต้องคุยกับฝ่ายค้านและวุฒิสภาด้วย หรือจะเรียกว่าวิปสามฝ่ายฝ่ายก็ได้” หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าว
นายจุรินทร์ กล่าวว่า สำหรับร่างของพรรค 6 ประเด็นมีหัวใจสำคัญคือการขยายสิทธิเสรีภาพของประชาชน สิทธิชุมชน การกระจายอำนาจ การเพิ่มศักยภาพการตรวจสอบการทุจริตคอร์รัปชั่น รวมทั้งประเด็นที่เป็นที่สนใจคือการแก้ไขมาตรา 256 ซึ่งว่าด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมาตรา 256 กำหนดกระบวนการแก้ไขไว้ยุ่งยากจนเกือบจะไม่สามารถทำได้ เพราะนอกจากจะใช้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของที่ประชุมร่วมแล้ว ต้องใช้เสียงวุฒิสมาชิกหนึ่งในสาม ต้องมีเสียงฝ่ายค้านไม่น้อยกว่า 20% และรวมต้องไปทำประชามติด้วยเป็นบางกรณี ซึ่งเกือบจะเรียกว่าเป็นการปิดประตูตายการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
“จึงเป็นที่มาที่พรรคประชาธิปัตย์เห็นว่าอย่างน้อยควรนับหนึ่งที่แก้มาตรา 256 ให้เรียบร้อยเสียก่อน และใช้เสียงที่ประชุมร่วม 3 ใน 5 ไม่จำเป็นต้องมีเสียงวุฒิเท่าใด เสียงฝ่ายค้านเท่าใด ไม่จำเป็นต้องทำประชามติ เพียงพอที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญได้เหมือนรัฐธรรมนูญหลาย ๆ ฉบับในอดีตที่ผ่านมา ประเด็นที่สองคือแก้ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับอำนาจการเลือกนายกรัฐมนตรีในสภา โดยให้ผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงเท่านั้นที่จะเป็นผู้มีสิทธิ์เลือกนายกรัฐมนตรี เพื่อให้ตรงกับเจตนารมณ์อันเป็นผลจากการเลือกตั้งของประชาชน” หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าว
ส่วนกรณีที่ผู้ชุมนุมเรียกร้องให้พรรคถอนตัวจากการเป็นพรรคร่วมรัฐบาล นายจุรินทร์ กล่าวว่า จะต้องพิจารณาให้รอบคอบว่าหากผลกระทบใด ๆ ทางการเมืองเกิดขึ้นจนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ต้องนำไปสู่การเลือกตั้ง หรือรัฐบาลมีปัญหาและเลือกตั้ง ปัญหาการเมืองจะย้อนกลับมาที่เดิมอีก เพราะต้องเลือกตั้งภายใต้กติกาเดิม รัฐธรรมนูญยังไม่ได้แก้ การเมืองแบบเบี้ยหัวแตกจะวนกลับมาที่เดิม และจะเรียกร้องแก้รัฐธรรมนูญกลับมาที่เดิม เพราะฉะนั้นต้องพิจารณาด้วยความรอบคอบ
“ส่วนการชุมนุม ทำได้ ถ้าใช้สิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญ ตามกฎหมาย เพียงแต่ต้องระมัดระวังอย่าให้มีผลกระทบต่อการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ เพราะขณะนี้หลายฝ่ายมีความกังวลเรื่องนี้ อยากให้การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจดำเนินการต่อไปได้ด้วยความราบรื่น ไม่มีประเด็นทางการเมืองเข้ามากระทบ ซึ่งต้องช่วยกันทั้งสองฝ่าย ทั้งในส่วนของผู้ชุมนุมและในส่วนของรัฐบาลเอง ผู้มีอำนาจต้องไม่สร้างเงื่อนไขการก่อให้เกิดเป็นเงื่อนไขในการชุมนุมเรียกร้องในทางการเมือง การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นทางออกอีกทางหนึ่งที่จะช่วยลดความขัดแย้งทางการเมือง” หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าว.-สำนักข่าวไทย