ทำเนียบ 25 ก.พ.64 -วิษณุ เผยนายกฯ ยังไม่ได้เรียกหารือปม 3 รมต.พ้นตำแหน่ง หลังศาลสั่งจำคุก ชี้เป็นยาแรงของ รธน. แจงตั้งคุณหญิงกัลยา -อิทธิพล รักษาการ ศธ.-ดีอีเอส ระบุ “ทยา” ลงสมัครเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ไม่ได้
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีศาลพิพากษาจำคุกแกนนำและแนวร่วมคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ กปปส. ส่งผลให้รัฐมนตรี 3 คน พ้นจากตำแหน่ง ว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยังไม่ได้เรียกไปหารือข้อกฎหมายในเรื่องนี้ เพราะตนก็ไม่ได้ฟังคำพิพากษาอย่างละเอียด ทั้งนี้ย้ำว่าความเป็นรัฐมนตรีของทั้ง 3 คน สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญที่กำหนดไว้ชัดเจนในมาตรา 170 (4) ที่กำหนดว่า ความเป็นรัฐมนตรีต้องสิ้นสุดลงเป็นการเฉพาะตัว เมื่อมีลักษณะต้องห้าม ตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ในมาตรา 98 ดังนั้นเมื่อศาลพิพากษาให้จำคุกไม่ว่าจะถึงที่สุดหรือไม่ แม้จะมีโอกาสสู้คดีอีกหลายปี แต่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงทันที
ส่วนกรณีที่รัฐมนตรีแต่ละคน เป็น ส.ส.อยู่ด้วยนั้น นายวิษณุ กล่าวว่า ต้องแยกกัน เพราะรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ในมาตรา 101 (13) โดยปกติ หากเป็นส.ส. และศาลยังไม่ได้ตัดสินให้ถึงที่สุด จะยังไม่พ้นความเป็น ส.ส. แต่ก็จะมีเหตุอื่นเข้ามา โดยหากศาลสั่งเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้ง ก็จะโยงกลับไปในการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ในมาตรา 96 (2) เพราะหากเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งไม่ว่าคดีจะสิ้นสุดหรือไม่ก็จะพ้นจากความเป็น ส.ส.ด้วย ซึ่งแต่ละคนอยู่ในเงื่อนไขที่ไม่เหมือนกัน
ส่วนกรณีที่ศาลไม่ได้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง โดยหลักจะถือว่าการจำคุกนั้นไม่ถึงที่สุด เพราะสิทธิเลือกตั้งไม่ได้ถูกเพิกถอน ดังนั้นจะยังไม่พ้นความเป็น ส.ส. แต่หาก มีเหตุอื่นแทรกคือ ถูกจำคุกโดยมีหมายศาล หากเป็นเช่นนั้นก็จะพ้นสภาพการเป็น ส.ส.
นายวิษณุ กล่าวด้วยว่า ในกรณีที่เป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ ก็จะต้องเลื่อนรายชื่อลำดับถัดไปขึ้นมา และเลื่อนช้าหรือเร็วก็มีผล เนื่องจากสภาฯกำลังจะปิดสมัยประชุม หากเลื่อนเร็วเข้ามาและปฏิญาณตนก็จะถือว่าทำหน้าที่ได้เร็ว เพราะหากเปิดประชุมสภาฯสมัยวิสามัญ เพื่อโหวตรัฐธรรมนูญในกลางเดือนมี.ค. ก็จะสามารถทำหน้าที่โหวตได้เลย และจะมีผลถึงเงินเดือนและค่าตอบแทนอื่นๆ ด้วย ซึ่งหากยังไม่สามารถเลื่อนขึ้นมาได้ก็จะไม่ถือว่าเป็น ส.ส.
ส่วนถ้าเป็น ส.ส.เขตก็ต้องไปจัดการเลือกตั้งใหม่ ประเด็นนี้ หากคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต.มีความสงสัยก็ต้องส่งไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเหมือนกรณีของเทพไท เสนพงศ์ อดีต ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ เนื่องจากการเลือกตั้งซ่อมเขตจะต้องออกพระราชกฤษฎีกา แต่ก็ขึ้นอยู่กับกกต.จะพิจารณา ซึ่งสามารถเทียบกับคดีของนายเทพไท ได้อยู่แล้ว
เมื่อถามว่ากรณีเก้าอี้รัฐมนตรีที่ว่างลงนั้นจะมีผู้ปฏิบัติหน้าที่อย่างไร นายวิษณุ ชี้แจงว่า ในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ให้คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ รักษาราชการแทน ส่วนตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้กำหนดรักษาการไว้ 2 ตำแหน่ง คือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการและลำดับต่อไปคือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ดังนั้นผู้ที่จะมารักษาราขการแทน คือ นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ซึ่งในระหว่างนี้สามารถทำหน้าที่ไปก่อน เว้นแต่ ครม.จะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่นในการประชุมครม.สัปดาห์หน้า โดยไม่ได้มีกำหนดเงื่อนเวลาว่าจะต้องปรับครม. ภายในระยะเวลาเท่าไหร่
ส่วนเรื่องเอกสิทธิ์คุ้มครอง ส.ส. นั้น นายวิษณุ กล่าวว่า ส.ส.มีเอกสิทธิ์และการคุ้มกันที่แยกออกจากกัน โดยเอกสิทธิ์จะใช้ในการพูดในสภาฯอย่างเดียว ส่วนการคุ้มกัน หมายความว่าในระหว่างสมัยประชุมจะนำตัวไปดำเนินคดีไม่ได้ เว้นแต่ปิดสมัยประชุมที่สามารถทำได้
เมื่อถามว่า ส.ส.ที่ถูกดำเนินคดีล่าสุดจะได้รับการคุ้มกันหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า การคุ้มกันมีกระบวนการต้องยื่น ต้องขอจากสภาฯ ส่วนกรณีที่ถูกควบคุมตัวไปแล้ว จะสามารถทำเรื่องจากสภาฯจะขอคุ้มกันได้หรือไม่นั้น สามารถทำได้ และยังไม่ถือว่าการเดินเข้าไปในเรือนจำจะสิ้นสภาพความเป็นส.ส. เพราะคดีอยู่ในระหว่างการอุทรณ์ และ ยังไม่ถูกจำคุกโดยหมายของศาล ตามมาตรา 98(6) ดังนั้น ส.ส.ที่ถูกคุมขังเมื่อคืน ต้องพิจารณาว่าถูกคุมขังโดยหมายศาลหรือควบคุมตัวโดยธรรมดา หาก ส.ส.ที่ถูกคุมขังอ้างการคุ้มกันขึ้นมาก็ต้องปล่อยตัว ไป
เมื่อถามถึงกรณี นางทยา ทีปสุวรรณ อดีตแกนนำกปปส. ที่มีโทษรอลงอาญาและถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง จะสามารถอุทรณ์เพื่อได้สิทธิ์ทางการเมืองกลับมาหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า สามารถอุทธรณ์ได้ แต่ขณะนี้ยังไม่สามารถลงสมัครเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในช่วงเวลานี้ได้ จนกว่าศาลอุทรณ์จะตัดสินเป็นอย่างอื่น “นี่คือความรุนแรงของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ที่ตั้งใจมาตั้งแต่ต้น แม้กระทั่งรัฐมนตรีจำคุกไม่ถึงที่สุด ก็ถือว่าพ้นจากความเป็นรัฐมนตรี เมื่อศาลตัดสินยกฟ้องไม่จำคุกความเป็นรัฐมนตรีก็จะไม่กลับมา ซึ่งหากจะตั้งให้เป็นรัฐมนตรีก็สามารถตั้งบุคคลเหล่านี้กลับมาได้ แต่จะมีความหมายตามมา คือ เมื่อมีการเลือกตั้งใหม่ จะมีสิทธิ์ไปสมัครหรือไม่ ดังนั้นหากกรณีศาลอุทรณ์ไปตัดสินว่า ไม่ตัดสิทธิ์เลือกตั้งความเป็น ส.ส.สิ้นสุดในเวลานี้ แต่สามารถสมัครในคราวหน้าได้” นายวิษณุ กล่าว .-สำนักข่าวไทย