ทำเนียบรัฐบาล 3 ม.ค. – ติดเชื้อพุ่ง 315 คน ใน 53 จังหวัด ศบค.จ่อชงนายกฯลงนามประกาศ ศบค.ฉบับที่ 6 วันพรุ่งนี้ ขณะนี้ยืดหยุ่น ยังไม่สั่งปิดร้านอาหาร โดยมอบให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดพิจารณาเป็นรายกรณี พร้อมขอความร่วมมือชะลอเดินทางข้ามจังหวัด เว้นแต่มีเหตุจำเป็น
นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงสถานการณ์ประจำวัน ว่า วันนี้ (3 ม.ค.) พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 315 ราย แบ่งเป็น ติดเชื้อในประเทศ 294 ราย ผู้เดินทางมาจากต่างประเทศในสถานที่กักตัวของรัฐ 21 ราย ทำให้ยอดผู้ป่วยสะสมรวมอยู่ที่ 7,694 ราย หายป่วยแล้ว 4,337 ราย รักษาตัวอยู่ 2,417 ราย เสียชีวิตคงที่ 64 ราย
“ตัวเลขที่เพิ่มขึ้นวันนี้ 315 ราย เป็นผู้ป่วยที่มีประวัติเชื่อมโยงกับจังหวัดสมุทรสาคร จำนวน 2 ราย คือ อยู่ใน กทม. 1 ราย และสมุทรสงคราม 1 ราย ส่วนที่เชื่อมโยงกับจังหวัดชลบุรี 1 ราย มีประวัติไปสถานที่เสี่ยง สถานบันเทิง 37 ราย อยู่ระหว่างการสอบสวนโรค 234 ราย แรงงานต่างด้าว 20 ราย ผู้ป่วยที่เดินทางจากต่างประเทศเข้า State Quarantine 21 ราย และขณะนี้ มีจังหวัดที่มีผู้ติดโควิดคงที่ 53 จังหวัด” โฆษก ศบค. กล่าว
นพ.ทวีศิลป์ ยังเปิดเผยร่างประกาศมาตรการฉบับที่ 6 ของ ศบค. ก่อนที่จะเสนอให้นายกรัฐมนตรีในฐานะ ผอ.ศบค.ลงนามวันพรุ่งนี้ (4 ม.ค.) ว่า หลังจาก ศบค.ชุดเล็กหารือกับกระทรวงสาธารณสุขเมื่อวานนี้ (2 ม.ค.) ก็ได้ทบทวนและปรับแก้ไขในบางมาตรการ เนื่องจากสถานการณ์ในแต่ละจังหวัดแตกต่างกันไป ทั้งนี้ ร่างประกาศมาตรการฉบับที่ 6 ที่จะเสนอให้นายกรัฐมนตรีลงนามนั้น มีรายละเอียดทั้งหมด 8 ข้อ ประกอบด้วย
1.ห้ามใช้อาคารหรือสถานที่ที่เสี่ยงต่อการแพร่โรค หรือการห้ามใช้อาคารและสถานที่ของสถาบันการศึกษาทุกประเภทในพื้นที่ควบคุมสูงสุด หรือพื้นที่สีแดงทั้งหมด 28 จังหวัด
2.ห้ามจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการควบคุมโรค เว้นแต่ได้รับการอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ สำหรับการจัดงานแต่งงานนั้น นายแพทย์ทวีศิลป์ ยอมรับว่า ได้เปิดช่องเอาไว้ว่า ต้องได้รับการอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ และต้องมีมาตรการตามแนวทางสาธารณสุข โดยได้ปรับเพิ่มรายละเอียด คือ ให้ผู้ว่าราชการจังหวัด โดยคำแนะนำคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด กำหนดหลักเกณฑ์พิจารณาอนุญาตของพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อให้เกิดความเหมาะสม
3.การปิดสถานที่เสี่ยงต่อการแพร่โรค โดยให้อำนาจผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้พิจารณาสั่งปิดพื้นที่ภายในจังหวัด
4.เรื่องร้านอาหาร ที่ประชุมได้ปรับแก้ร่างใหม่เพื่อให้มีความยืดหยุ่น โดยกำหนดว่า ในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดนั้น การจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม ให้จัดระเบียบการเข้าใช้บริการ จำนวนผู้นั่งบริโภคในร้าน การจัดสถานที่ตามแนวปฏิบัติตามมาตรการควบคุมโรค โดยอาจให้เป็นลักษณะของการนำกลับไปบริโภคที่อื่น และให้ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 ของกระทรวงมหาดไทย และศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข ร่วมกันพิจารณาและกำหนดรูปแบบ รวมถึงการกำกับการดำเนินการตามข้อปฏิบัติ และมาตรการต่างๆเพื่อให้เหมาะสม หรือ ให้เข้าใจง่ายคือ ให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด เป็นผู้พิจารณาเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนที่ประกอบกิจการร้านอาหาร เช่น หากมีพื้นที่ที่พบผู้ติดเชื้อสูง ก็อาจให้ร้านอาหารในพื้นที่นั้น เป็นลักษณะซื้อกลับไปบริโภคที่อื่นเท่านั้น โดยที่ยังห้ามการจำหน่ายและบริโภคเครื่องดื่มแอลกฮอล์ในร้านเช่นเดิม ขณะที่ห้างสรรพสินค้า ยังเปิดทำการตามเวลาปกติ อย่างไรก็ตาม สุดท้ายต้องขึ้นอยู่กับการพิจารณาของ ผอ.ศบค.อีกครั้ง จากนั้น แต่ละพื้นที่จะออกประกาศเฉพาะในแต่ละพื้นที่
- มอบอำนาจให้ผู้ว่าราชการจังหวัด สั่งปิดหรือเปิดพื้นที่นอกเหนือจากที่กำหนดได้
- ไม่ได้ห้ามเรื่องการเดินทางข้ามจังหวัด ยังสามารถเดินทางได้ แต่ต้องตรวจคัดกรองถึงความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ โดยไม่ก่อความเดือดร้อนแก่ประชาชน ทั้งนี้ ขอความร่วมมือประชาชนชะลอการเดินทางข้ามจังหวัด เว้นแต่มีเหตุจำเป็น แต่ก็ยอมรับว่า มีพบกรณีคนขับรถตู้ติดเชื้อ ทำให้ผู้โดยสารติดเชื้อไปกว่าครึ่งรถ จึงไม่อยากให้เดินทางกันมาก ดังนั้น ต้องนำข้อมูลของแต่ละจังหวัดมาพิจารณา และออกประกาศเป็นรายจังหวัด
7.การทำงาน Work From Home สลับวันเวลา เหลื่อมวันทำงาน
8.ให้คณะกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาผ่อนคลายข้อบังคับการใช้มาตรการป้องกันและยับยั้ง เสนอต่อนายกรัฐมนตรี เพื่ออนุญาตให้ผ่อนคลายหรือกระชับมาตรการที่บังคับใช้กับสถานที่ต่างได้ตามความเหมาะสม.-สำนักข่าวไทย