รัฐสภา 17 พ.ย.- กมธ.ศึกษา รธน. ชี้แจงรายงานการศึกษาว่า หลายเรื่องยังเห็นต่างกัน แต่เห็นตรงกันว่าต้องไม่แก้ไข รธน. ที่กระทบพระราชอำนาจ
ทันทีที่เปิดการประชุมรัฐสภา เพื่อพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา รายงานต่อที่ประชุมว่า ส.ว.ได้เวลาอภิปราย 5 ชั่วโมงครึ่ง ภาคประชาชนที่เสนอร่างกฎหมายได้เวลาชี้แจงร่างกฎหมายครึ่งชั่วโมง ขณะที่นายสุทิน คลังแสง ประธานวิปฝ่ายค้าน รายงานว่า ได้ตกลงกันกับฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้านได้เวลา 5 ชั่วโมง ส่วน ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลได้ 4 ชั่วโมง แต่กังวลว่า หากจะตั้งเป้าหมายให้ลงมติได้ไม่เกินวันพรุ่งนี้ ในวันนี้ จะต้องอภิปรายจบหลังเที่ยงคืน แล้วอภิปรายวันพรุ่งนี้ต่อไม่เกิน 14.00 น. และลงมติจบไม่เกิน 18.00 น. ก่อนที่นายชวน จะกล่าวสรุปว่า ระยะเวลาอภิปราย จะใช้ประมาณ 15 ชั่วโมงเศษ
ต่อมา นายวิรัช รัตนเศรษฐ ประธานคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมก่อนรับหลักการ รายงานผลการศึกษาว่า ได้ศึกษาประเด็นข้อกฎหมายว่าการยกร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับขัดต่อคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญเมื่อปี 2555 หรือไม่ การทำประชามติจำเป็นต้องดำเนินการก่อนเริ่มการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ ควรกำหนดวิธีการอย่างไร เพื่อให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่กระทบต่อพระราชอำนาจในหมวดอื่นๆ นอกจากหมวด 1 และ 2 และร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญร่างที่ 3 ถึง 6 ขัดต่อร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญร่างที่ 1 และ 2 หรือไม่ เนื่องจากเมื่อมี ส.ส.ร.ขึ้นมาเพื่อยกร่างทั้งฉบับ จะทับซ้อนกับการแก้ไขเนื้อหารายมาตราหรือไม่
จากนั้นนายนิกร จำนง ประธานอนุกรรมาธิการจัดทำรายงานพิจารณาศึกษา ชี้แจงเนื้อหารายงานว่า เมื่อไม่มีฝ่ายค้านร่วมด้วย จึงไม่มีข้อสรุป โดยให้บันทึกความเห็นในคณะกรรมาธิการไว้ ซึ่งผลการพิจารณาของคณะกรรมาธิการเรื่องการยกร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 256 และคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญเมื่อปี 2555 หรือไม่นั้น มีความเห็นว่าการแก้ไขเพิ่มเติมสามารถทำได้ แต่การตั้ง ส.ส.ร. ก็มีความเห็นต่างกันเป็น 2 แนวทาง เช่นเดียวกับการออกเสียงประชามติ บางฝ่ายเห็นว่า ควรออกเสียงเพียง 1 ครั้ง อีกฝ่ายเห็นว่า ควรทำประชามติก่อนดำเนินการด้วย แต่ก็มีความเห็นเป็นทางเดียวกันว่า การดำเนินการประชามติต้องให้มีกฎหมายว่าด้วยการออกเสียงประชามติเสียก่อน ส่วนการป้องกันไม่ให้มีการแก้ไขกระทบพระราชอำนาจในมาตราอื่นๆ นอกจากหมวด 1 และ 2 ก็เห็นไปในทางเดียวกันว่า พระราชอำนาจในหมวดอื่นๆ เป็นไปในฐานะประมุขแห่งรัฐอยู่แล้วตามหมวด 1 และ 2 ส่วนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่ 3-6 ซึ่งเป็นการแก้ไขรายมาตรา บางฝ่ายเห็นว่าไม่มีปัญหา สามารถดำเนินการได้ แต่บางฝ่ายก็เห็นว่าซ้ำซ้อนกับ ส.ส.ร.-สำนักข่าวไทย