รัฐสภา 24 ก.ย.-ส.ว.อยากให้ทำประชามติถามประชาชนก่อน ว่าควรแก้ไข รธน.ทั้งฉบับหรือไม่ สมาชิกบางคนกังวล กระทบสถาบัน
นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา อภิปรายญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า วันนี้เมื่อ 8 ปีที่แล้ว อยู่ที่รัฐสภาพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 และเกิดวิกฤติทางการเมือง แต่วันนี้ก็เกิดเรื่องแบบเดียวกันคือการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 แต่ก็ขอความร่วมมือสมาชิกหากจะทำงานด้วยกัน ควรลดความความรุนแรง ลดการแสดงออกบางอย่าง โดยเฉพาะเรื่องการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งทำให้สมาชิกรัฐสภาหลายคนรู้สึกไม่สบายใจ
“ยืนยันว่าหากแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นใดที่เป็นประโยชน์ วุฒิสภาพร้อมลงมติให้ แต่ไม่ใช่ร่างใหม่ทั้งฉบับ บางเรื่องเป็นเรื่องสำคัญ หากจะแก้ไขต้องทำประชามติ แต่ขณะนี้สมาชิกหลายคนกังวลว่า หากจะตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ(ส.ส.ร.) เพราะไม่แน่ใจว่าจะเกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์หรือไม่ รวมถึงเห็นควรว่าควรทำประชามติก่อนว่าควรแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ และควรแก้ไขมาตรา 270 ให้ส.ส.และส.ว.เข้ามาติดตามการปฏิรูปประเทศ” นายสมชาย กล่าว
ส่วนอีก 4 ญัตติ ที่เสนอเพิ่มเติม นายสมชาย อภิปรายว่า ยังไม่ตอบโจทย์และขอให้ทำกลับเข้ามาใหม่ หากไม่ผ่านความเห็นชอบวันนี้ สมัยประชุมต่อไปยังสามารถเสนอใหม่ได้เรื่อย ๆ พร้อมตั้งข้อสังเกตว่าลายเซ็นรับรองหลายชื่อมีปัญหา เซ็นไม่เหมือนกัน
นายเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกวุฒิสภา อภิปรายญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ ยืนยันว่า วุฒิสภามีความคิดความร่วมมือทำงานร่วมกันให้มีประสิทธิภาพให้ได้ประโยชน์กับประชาชนทั้งประเทศ ดังนั้น การทำหน้าที่วุฒิสภาจึงต้องทำหน้าที่ด้วยความรอบคอบ การตัดสินใจจะต้องเป็นประโยชน์จริง ๆ โดยญัตติเสนอจัดตั้งส.ส.ร. ทั้ง 2 ญัตติ พิจารณาโดยตระหนักถึงผลที่จะออกมา หากตั้งส.ส.ร.จะทำหน้าที่ได้สมประโยชน์กับความตั้งใจของสมาชิกรัฐสภาที่เสนอญัตติหรือไม่ เพราะส.ส.ร.ทำหน้าที่แทนคนทั่วประเทศยกร่างรัฐธรรมนูญ แต่เมื่อพิจารณากระบวนการแล้วยังมีข้อกังวลใจ ว่าการทำหน้าที่ของ ส.ส.ร.จะทำด้วยหน้าที่อิสระหรือไม่ จะไม่ถูกแทรกแซงหรือไม่
“การให้มีคนนอกที่ไม่ใช่สมาชิกรัฐสภาทำหน้าที่ยกร่างเป็นคณะใหม่ จะต้องทำหน้าที่รักษาผลประโยชน์อย่างแท้จริง และที่ต้องพึงระมัดระวัง ข้อเสนอประเด็นต่างๆ ที่จะนำมาเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จะมีผลกระทบหรือมีส่วนใดที่จะเกิดปัญหากับประเทศชาติกับอนาคตหรือไม่ ดังนั้นจากการที่ได้ฟังสมาชิกท่านหนึ่งอภิปรายไปแล้ว เกี่ยวกับการมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่มีสถาบันพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ ทางวุฒิสภามีความกังวลใจว่ากรอบหรือวิธีคิดจะไปแค่นั้นหรือไม่ หรือหากมีคนไม่เห็นด้วยกับแนวคิดนี้ของส.ส.ร.แล้ว ส.ส.ร.จะถูกกดดันหรือไม่ จึงห่วงว่าข้อเสนอในอนาคตจะไปไกลกว่าที่คิด แต่ก็ดีว่าจะทำให้ ส.ว.ตัดสินใจง่ายขึ้น และเป็นสิทธิแต่ละคน” นายเสรี กล่าว
ส่วนอีก 4 ญัตติ ที่แก้ไขรายมาตรา นายเสรี กล่าวว่า ถ้าจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งที ข้อเสนอ 4 ญัตติยังน้อยเกินไปกับปัญหาที่เกิดขึ้นจริง ลงทุนหมื่นล้านแต่มีเพียง 4 ถึง 5 ประเด็น จึงมองว่าน้อยไปไหม แก้ปัญหาชาติ ปากท้องประชาชนจริงหรือไม่ หรือเพียงความต้องการโดยอ้างอิงสิทธิเสียงของประชาชน อยากเห็นรัฐธรรมนูญที่ทำบ้านเมืองสงบ มีการตรวสอบ การบริหารประเทศมั่นคง ส.ส., ส.ว. อยู่ครบสมัย 4 ปี มีระบบการเมืองที่แข็งแรง แต่ที่เสนอมายังไม่เห็นว่าประชาชนจะได้อะไร.-สำนักข่าวไทย