24 ก.ย. – NIA เปิดโมเดลความสำเร็จโครงการหมู่บ้านนวัตกรรมเพื่อสังคมสู่ชุมชนแม่เหาะ ชวนคนไทยร่วมเปิดประสบการณ์ใหม่เดินทางฤดูไหนก็เที่ยวได้ด้วยนวัตกรรม
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์กรมหาชน) หรือ NIA เปิดผลการดำเนินโครงการหมู่บ้านนวัตกรรมเพื่อสังคม ส่งมอบนวัตกรรมสู่พื้นที่ 9 ชุมชน ใน 9 จังหวัดยากจน รวม 38 โครงการ พร้อมเผยตลอดระยะเวลากว่า 2 ปี มีผู้สนใจส่งผลงานนวัตกรรมพร้อมใช้มาเพื่อร่วมส่งต่อไปใช้ประโยชน์ยังพื้นที่ต่างๆ รวมกว่า 200 โครงการ และมีนวัตกรรมที่ได้รับการสนับสนุนเพื่อนำไปขยายผลจริง จนสามารถสร้างรายได้ ลดค่าใช้จ่าย ตลอดจนยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนได้กว่า 10,500 ครัวเรือน สร้างผลตอบแทนเชิงสังคม (Social Return on Investment – SROI) ได้เฉลี่ยโครงการละ 3.83 เท่า นอกจากนี้ ยังสนับสนุนให้แต่ละชุมชนมีการคิดค้น หรือนำนวัตกรรมไปใช้เพื่อแก้ไขปัญหาและสอดรับกับบริบทของแต่ละชุมชน ซึ่งหาก 1 ชุมชนมีการคิดค้นหรือต่อยอดเพียง 1 นวัตกรรม ก็จะสามารถช่วยให้ทั้งเศรษฐกิจในระดับฐานราก คุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น สำหรับโครงการหมู่บ้านนวัตกรรมเพื่อสังคมในปี 2564 จะเริ่มเปิดรับสมัครผลงานนวัตกรรมพร้อมใช้เพิ่มเติมกลางเดือนธันวาคม 2563 นี้
นายคุณาวุฒิ บุญญานพคุณ ผู้อำนวยการฝ่ายนวัตกรรมเพื่อสังคม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า กลุ่มพื้นที่จังหวัดยากจนยังคงเป็นภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบในด้านคุณภาพชีวิตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ และการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ยิ่งทำให้การพัฒนาในพื้นที่เหล่านี้มีการหยุดชะงัก ประชากรหลายกลุ่มได้รับผลกระทบทั้งด้านการจ้างงาน การศึกษา สาธารณสุข รวมถึงการประกอบอาชีพ ซึ่ง NIA เล็งเห็นถึงความสำคัญในการบรรเทาปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่เหล่านี้ จึงได้นำ “โครงการหมู่บ้านนวัตกรรมเพื่อสังคม” เข้าไปช่วยตอบโจทย์กับผลกระทบที่แต่ละชุมชนได้รับ พร้อมสนับสนุนและจับคู่นวัตกรรมจากกลุ่มสตาร์ทอัพและวิสาหกิจเพื่อสังคมกับหมู่บ้าน และชุมชนต่างๆ ซึ่งได้ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องในระยะเวลากว่า 2 ปี
สำหรับในปี 2563 NIA ได้ร่วมพัฒนาและส่งต่อนวัตกรรมไปยังชุมชนในกลุ่มจังหวัดยากจนเพิ่มเติมอีก 3 พื้นที่เป้าหมาย ได้แก่ ชุมชนท่าเรือ อำเภอหน้าหว้า จังหวัดนครพนม ชุมชนแคนดง อำเภอแคนดง จังหวัดบุรีรีมย์ และชุมชนหนองตะเคียนบอน อำเภอวัฒนานคร จังหวัดสระแก้ว โดยมุ่งพัฒนาและส่งต่อนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับบริบทและปัญหาของพื้นที่ที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนในชุมชน ไม่ว่าจะเป็นด้านเกษตรปลอดภัยแปลงใหญ่แบบผสมผสาน การบริหารจัดการน้ำ เกษตรอัจฉริยะ นวัตกรรมด้านปศุสัตว์ นวัตกรรมการท่องเที่ยวชุมชนและวัฒนธรรม ฯลฯ ในการส่งเสริมนวัตกรรมทั้งหมดนี้ได้ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนเหล่านี้ได้กว่า 2,300 หลังคาเรือน คิดเป็นเงินทุนสนับสนุนเพื่อพัฒนาโครงการกว่า 10 ล้านบาท เกิดมูลค่าโครงการมากกว่า 20 ล้านบาท และปัญหาที่ได้รับการบรรเทามากที่สุดคือ ด้านการเกษตร และด้านการท่องเที่ยวและวัฒนธรรมชุมชน ซึ่งถือเป็นโจทย์ใหญ่ที่หลายชุมชนรอการแก้ไข นอกจากนี้ ตลอดระยะเวลากว่า 2 ปี ที่ NIA ได้พัฒนาโครงการหมู่บ้านนวัตกรรมเพื่อสังคม ยังก่อให้เกิดโซลูชั่นและนวัตกรรมที่ตอบโจทย์กับบริบทพื้นที่รวมแล้ว 38 โครงการ ขยายผลไปสู่ชุมชนต่างๆ ได้มากกว่า 9 ชุมชน ใน 10,500 ครัวเรือน ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จเกินความเป้าหมาย
ผลสัมฤทธิ์เชิงประจักษ์ คือที่ชุมชนแม่เหาะ อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ที่เข้าร่วมโครงการนี้ตั้งแต่ปี 2562 ซึ่งเป็นชุมชนที่ประกอบด้วย 13 หมู่บ้าน มีประชากรกว่า 8,000 คน โดยร้อยละ 80 ของประชากรเป็นชาวปกากะญอ มีลักษณะภูมิประเทศเป็นภูเขาสูงสลับซับซ้อนกันที่สวยงาม และอากาศเย็นตลอดปี จึงเหมาะแก่การพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม NIA จึงได้ร่วมกับวิทยาลัยพัฒนศาสตร์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นหน่วยขับเคลื่อนนวัตกรรมเพื่อสังคม ลงพื้นที่เพื่อดำเนินโครงการหมู่บ้านนวัตกรรมเพื่อสังคม เพื่อสนับสนุนการแก้ปัญหา และยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชน โดยให้การสนับสนุนโครงการด้านการท่องเที่ยวและวัฒนธรรม จำนวน 4 โครงการ มูลค่าการสนับสนุนกว่า 3.5 ล้านบาท ได้แก่ “Green route Good life” เที่ยวแม่เหาะ ลัดเลาะชมวิถีกะเหรี่ยง โดยบริษัท โลเคิล อไลค์ จำกัด “Sanuk@แม่เหาะ” แอ่วเมืองสามหมอกด้วย Sanuk AR (Augmented Reality) โดยห้างหุ้นส่วนจำกัด คอนเซาท์ ออร์แกไนท์เซอร์ แอนด์ ทราเวล “แม่เหาะ 360 องศา” แพลตฟอร์มท่องเที่ยวชุมชนแม่เหาะเสมือนจริง (Virtual Reality: VR) โดย บริษัท โอเวอร์แลปปิง ดีไซน์ แอนด์ แมเนจเม้นท์ จำกัด และระบบลดความชื้นและการอบแห้งผลิตภัณฑ์จากกาแฟแม่เหาะ โดยวิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้ผลิตและแปรรูปกาแฟคุณภาพบ้านแม่เหาะ
สำหรับจุดเด่นของแพลตฟอร์มการท่องเที่ยวในครั้งนี้คือ การเปิดประสบการณ์ใหม่ให้กับนักท่องเที่ยวด้วยการผสมผสานเทคโนโลยีเข้ากับโลกความเป็นจริง เพื่อผลักดันให้เกิดเส้นทางท่องเที่ยวแบบยั่งยืนโดยชุมชนเส้นทางใหม่และการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่โดยใช้เทคโนโลยี VR และ AR สัมผัสประสบการณ์ชมวิวทะเลหมอก พระอาทิตย์ตกดิน ที่ดอยหัวสิงห์และดอยหว่ากลึโจ๊ะ ได้ทุกช่วงเวลา ทุกฤดูกาล รวมถึงแหล่งท่องเที่ยวอื่น เช่น น้ำตกแม่สวรรค์น้อย น้ำพุร้อนแม่อุมลอง สัมผัสวิถีชีวิตและอัตลักษณ์ของชาวปกากะญอ พร้อมชม ช้อป ชิมผลิตภัณฑ์ของชุมชน โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์จากกาแฟหอมเหาะของชุมชน ที่ผ่านการตากแห้งโดยห้องควบคุมความชื้น ทำให้กาแฟได้ความชื้นที่เหมาะสม มีกลิ่นหอม และรสชาติเข้มข้น รวมไปถึงชาจากดอกกาแฟที่ผ่านการอบแห้งโดยเทคโนโลยี FIR (Far Infrared Radiation) ช่วยรักษา สี กลิ่น รสชาติให้คงเดิม
ชุมชนแม่เหาะ เป็นอีกหนึ่งหมุดหมายสำหรับนักท่องเที่ยวแห่งใหม่ที่นำนวัตกรรมเข้ามาประยุกต์ใช้กับการท่องเที่ยวและวิถีของชุมชน เพื่อสร้างรายได้ให้กับชุมชนในพื้นที่ตลอดทั้งปี และถือเป็นการปรับตัวครั้งสำคัญของชุมชนในช่วงการท่องเที่ยววิถีใหม่ในระยะต่อจากนี้. – สำนักข่าวไทย