ส.ว.เดือด! ค้านแก้ไข รธน.

รัฐสภา 23 ก.ย.- ส.ว.เดือด ค้านแก้ไขรัฐธรรม บอกไม่ใช่เรื่องด่วน สิ้นเปลืองงบประมาณ ด้าน ส.ส. รัฐบาล-ฝ่ายค้านหนุนตั้ง ส.ส.ร. ชี้เป็นทางสายกลาง เชื่อช่วยลดบรรยากาศความขัดแย้ง


การประชุมร่วมกันของรัฐสภา เพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม จำนวน 6 ญัตติ ตลอดช่วงบ่ายเป็นไปอย่างเข้มข้น เมื่อสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ส่วนใหญ่ อภิปรายไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ขณะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) สนับสนุนและชี้ ไม่เห็นถึงความจำเป็นของการแก้ไขวันนัดธรรมนูญด้วยการเปิดทางให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.)

พลอากาศตรีเฉลิมชัย เครืองาม ส.ว. อภิปรายร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ว่า อุปสรรคของการแก้ไขรัฐธรรมนูญคือมีคำถามว่าจะต้องไปทำประชามติสอบถามประชาชนก่อนที่จะลงมติวาระหนึ่งหรือไม่ ซึ่งส่วนตัวไม่ขัดข้องในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และไม่ได้อยู่ใต้อาณัติใคร แต่ถ้ารู้สึกขัดข้องหมองใจก็ยินดีลาออกจากการเป็นสมาชิกวุฒิสภาถ้ามีอะไรไม่ชอบมาพากล แต่เห็นว่าหลักการที่ถูกต้องควรกลับไปถามประชาชนก่อนว่าจะร่างรัฐธรรมนูญใหม่หรือไม่ ดังนั้นควรทำมติในเรื่องนี้ 2 ครั้ง โดยหลังจากยกร่างรัฐธรรมนูญแล้วจึงต้องถามประชาชนอีกเหมือนกันว่าประชาชนชอบพึงพอใจกับเนื้อหาของรัฐธรรมนูญที่ร่างใหม่หรือไม่ ความเห็นส่วนตัวตนเห็นว่าควรทำมติ 2 ครั้ง แล้วในที่สุดควรยุบสภาเพื่อเลือกสภาผู้แทนราษฎรใหม่เมื่อไหร่ เพราะต้องมีกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญอีกดังนั้นควรปรึกษาหรือว่าจะเดินเรื่องนี้อย่างไร เพราะถ้าดูไทม์ไลน์หรือเงื่อนเวลาแล้วต้องใช้เวลาอีกนาน


ด้านนายจเด็จ อินสว่าง ส.ว. อภิปรายว่า ขณะนี้รัฐบาลกำลังแก้ปัญหาโควิด-19 ซึ่งองค์การอนามัยโลกชื่นชมว่าไทยสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ดี แต่เหตุใดถึงมีการพูดถึงเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญในช่วงที่รัฐบาลพยายามแก้ปัญหาโควิด-19 จึงไม่แน่ใจว่าประชาชนจะได้ประโยชน์อะไรจากการแก้รัฐธรรมนูญในช่วงนี้ และทำให้บาปกรรมมาตกอยู่ที่ ส.ว. หากตนอยากปิดสวิตช์ ส.ส.บ้างจะทำได้หรือไม่ ทั้งนี้ ตนเองเกิดมาอายุ 74 ปี เห็นการทำรัฐประหารมาแล้วหลายครั้ง ต้องบอกว่าทหารก็รักประชาธิปไตยเหมือนกัน และสาเหตุที่ต้องมีการรัฐประหารส่วนหนึ่งก็มาจากความขัดแย้ง ซึ่งที่ต้องพูดเชื่อมโยงแบบนี้ เพราะอยากรู้ว่าหากแก้รัฐธรรมนูญแล้วประเทศชาติได้ประโยชน์อะไร ที่สำคัญส่วนหนึ่งเห็นว่าการแก้รัฐธรรมนูญมาจากกลุ่มที่ชุมนุมในวันที่ 19-20 ก.ย. จะเรียกนักเรียนนักศึกษาอะไรก็ตาม แต่ความจริงปรากฏว่าไม่ได้เรียกร้องอะไรเพื่อประชาชน นอกจากการมุ่งโจมตีสถาบันที่คนไทยเคารพนับถือ และสมาชิกบางพรรคเห็นดี เห็นงามไปด้วย จึงไม่ทราบว่าสมาชิกในพรรคเดียวกันยอมได้อย่างไร

นายจเด็จ ยืนยันรัฐธรรมนูญแก้ได้ แต่ที่ต้องกำหนดให้แก้ยาก เพราะไม่เช่นนั้นก็จะมีการขอแก้ไขกันอยู่เรื่อยๆ ทุก 2 ปี 3 ปี อีกทั้งในการตั้ง ส.ส.ร.จะต้องทำประชามติ 2 ครั้ง ใช้งบประมาณ 17,000-20,000 ล้านบาท ในยามนี้คงไม่มีใครกล้าพูดว่า เงินจำนวนนี้เพื่อประชาธิปไตยไม่ต้องเสียดาย เพราะงบประมาณนี้มาจากภาษีจากประชาชนทุกคนเช่นเดียวกัน ซึ่งหากการแก้ไขแล้วทำให้สถานการณ์โควิด-19 ดีขึ้น ประเทศชาติมั่นคงตนก็เห็นด้วย แต่หากเป็นเหตุผลอื่นที่เป็นวาระซ่อนเร้น คงไม่สามารถยอมรับการแก้ไขได้

ด้านนายบัญญัติ บรรทัดฐาน ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายว่า การเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นอย่างที่หลายคนเข้าใจ แต่มีการพูดถึงมานานแล้ว ตั้งแต่ที่มีการตั้งรัฐบาลใหม่ใหม่ไม่ใช่พึ่ง เกิดขึ้นมาในช่วงที่บ้านเมืองตกอยู่ในช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 หรือช่วงเหตุการณ์ 2-3 วันนี้


อีกทั้งยังมีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ซึ่งผลจากที่คณะอนุกรรมาธิการฯ ลงไปรับฟังความคิดเห็น ก็พบว่าทุกกลุ่มต่างเรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หลายประเด็น หลายมาตรา อาจจะยกเว้นหมวด 1 และหมวด 2 แต่ถ้าจะให้สภาเป็นผู้ดำเนินการแก้ไขก็คงต้องใช้เวลา จึงเป็นที่มาของข้อเสนอว่าควรจะมีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับการมี ส.ส.ร. เพราะการร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ที่ร่างโดย ส.ส.ร.ก็เป็นที่ได้รับการชื่นชมว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่มีประชาธิปไตย ส่วนจะต้องจัดทำประชามติหรือไม่ เห็นว่าหากร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญได้รับความเห็นชอบในชั้นรับหลักการ และเมื่อผ่านวาระที่ 3 แล้วก็มีความจำเป็นในการจัดทำประชามติ

นายบัญญัติ ยังกล่าวถึงการตั้งข้อสังเกตของสมาชิกรัฐสภาว่า งบประมาณที่ต้องใช้จ่ายในการทำประชามติถึง 2 ครั้ง กว่า 10,000 ล้านบาท อยากให้มองถึงความสำคัญ แน่นอนว่างบประมาณแผ่นดินในเวลานี้จำเป็นต้องคำนึงถึงการใช้จ่าย และต้องสำรองไว้เพื่อแก้ไขปัญหาของประเทศ แต่ถ้าคิดถึงความสำคัญของรัฐธรรมนูญในฐานะที่เป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ เป็นกฎหมายที่กำหนดโครงสร้าง กำหนดความสำคัญ กำหนดบทบาทอำนาจหน้าที่ของสถาบันและองค์กรที่เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญทั้ง เศรษฐกิจการเมือง สังคม เป็นกฎหมายสูงสุดที่รับรองสิทธิเสรีภาพและสิทธิประโยชน์ของประชาชน เป็นแม่บทในการกำหนดหลักการในการอำนวยความยุติธรรม ความเที่ยงธรรมให้กับประชาชนในทุกด้าน เมื่อรัฐธรรมนูญมีความสำคัญเช่นนี้ การจะนำงบประมาณบางส่วนมาใช้ในการจัดทำประชามติก็เป็นเรื่องที่ควรแก่การกระทำเป็นอย่างยิ่ง

ทั้งนี้ ส่วนตัวมีความมั่นใจว่าหลายคนเปิดกว้างทางการเมืองพอสมควร และคนที่สนใจติดตามการเมืองมาตลอดคงปฏิเสธไม่ได้ว่าเสียงเรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องใหญ่และเป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องทำอย่างยิ่ง และต้องยอมรับว่าข้อกฎหมายหลายข้อบกพร่องในการบังคับใช้ จะปล่อยให้ข้อบกพร่องนี้ยังคงอยู่หรือไม่ และก่อให้เกิดความขัดแย้งความเสียหายในประเทศจึงไม่ควรเพิกเฉย ย้ำว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยการมี ส.ส.ร. ถือเป็นทางสายกลางที่หลายฝ่ายน่าจะยอมรับกันได้ ทั้งคนที่อยากให้แก้หลายมาตรา ก็จะใช้เวทีนี้ ในส่วนของ ส.ว.หรือรัฐบาลก็ถือว่ามีเวลาตั้งหลักมาพอสมควรในการที่จะช่วยกันปรับปรุงรัฐธรรมนูญเพื่อทำให้รัฐธรรมนูญเป็นกฏหมายสูงสุดของประเทศถือเป็นประเด็นใหญ่ที่สุด และประเด็นที่สำคัญที่สุดคือการดึงหลายฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะทำให้เกิดความปรองดองและเห็นภาพความร่วมมือที่จะช่วยลดความคลี่คลายความขัดแย้งที่มีอยู่ให้ลดน้อยถอยลง อีกทั้งยังได้รัฐธรรมนูญที่มีหลักเกณฑ์ และคู่ควรกับการเป็นกฎหมายประเทศ จึงหวังว่าการแก้ไขประธรรมนูญด้วยการเปิดทางให้ใหม่ ส.ส.ร. จะได้รับการสนับสนุน

ด้านนายวงศ์สยาม เพ็งพานิชภักดี อภิปรายตอกย้ำว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน และยังไม่เห็นความจำเป็นที่จะแก้ไข ทั้งที่ใช้มาได้เพียงปีกว่า และประชาชนก็ไม่ได้เดือดร้อนจากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ รัฐธรรมนูญฉบับนี้ปิดช่องโหว่รัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 ไม่ให้เกิดเผด็จการรัฐสภา จนมาถึงวันนี้ เป็นรัฐธรรมนูญปราบโกง

ส่วนที่ ส.ว.ชุดนี้โหวตเลือกพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี เพราะเขามีเสียงของ ส.ส.เกินกึ่งหนึ่ง จึงขออย่าดูถูกสมองของ ส.ว. เพราะคิดวิเคราะห์แยกแยะเป็น และ ส.ว.เลือกเพราะพลเอกประยุทธ์ มีคะแนนนิยมสูงสุด ไม่ต้องเป็น ส.ว. เป็นชาวบ้าน เขาก็รู้ว่าจะเลือกใคร วุฒิภาวะมันได้หรอ และคิดว่าที่มาของ ส.ว.และ ส.ส.ควรจะต่างกัน เพราะทำหน้าที่คนละอย่างกัน เพราะหากมาจากที่เดียวกัน มันจะเป็นอย่างไร สมาชิกวุฒิสภามาทำหน้าทั้ตามบทเฉพาะกาลที่เขียนไว้ชัดเจนว่า เข้ามาปฏิรูปประเทศ มากลั่นกรองกฎหมาย จึงต้องมีคุณวุฒิลึกซึ้งทุกด้าน

นอกจากนี้ยังกล่าวการแสดงออกของกลุ่มผู้ชุมนุมว่า อยากให้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ชาติไทยให้ถ่องแท้ ไม่ใช่เรียนแค่สองหน้ากระดาษ

“ขอให้บ้านเมืองเดินไปอย่างราบรื่นบ้างได้ไหม ลงถนนกันตะพึดจะพือ ทุกปีเลย ยังไม่ทันจะทำอะไร ก็ลงถนนกันอีกแล้ว มันมีคนอยู่เบื้องหลังครับ ขอเท็จจริงเป็นแบบนั้น ประชาชนไม่เห็นเดือดร้อนอะไร เพราะฉะนั้น กลับมาตั้งหลักกันใหม่ กลับมาพิจารณากันใหม่ว่าวันนี้เรื่องมันด่วนจริงหรือไม่ ถ้าด่วนจริง เข้ามาตั้งแต่ 3 เดือนแล้วก็ยื่นเลย นี่มันปีกว่าแล้ว” นายวงศ์สยาม กล่าว

ขณะที่นายสุพล จุลใส ส.ส.ชุมพร พรรครวมพลังประชาชาติไทย อภิปรายไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยยกถึงเหตุการณ์เผด็จการรัฐสภาในอดีตที่ใช้เสียงข้างมาก เช่น การเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 190 ทำสนธิสัญญาโดยไม่ต้องขอความเห็นชอบจากรัฐสภา, การแก้ไขที่มา ส.ว.ให้ตกอยู่ในอิทธิพลของฝ่ายการเมือง กรณีเหล่านี้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแล้วว่าเป็นการกระทำที่มิชอบ และที่สำคัญคือการผลักดัน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม จนเกิดเหตุที่ กปปส. ต้องออกมาประท้วง ซึ่งเผด็จการรัฐสภานั้น เป็นผลพวงจากระบบการเลือกตั้งที่ไม่เหมาะสม จึงมีการปรับระบบการเลือกตั้งที่ได้ผลดี หากแก้ไขกลับไปใช้แบบเดิม เผด็จการรัฐสภาจะกลับมาอีก

นายสุพล กล่าวว่า นอกจากนั้น ยังบัญญัติไม่ให้ผู้มีประวัติเสียหายลงสมัครรับเลือกตั้ง, ไม่ให้ ส.ส. หรือ ส.ว.แปรญัตติงบประมาณแผ่นดินมาใช้, ห้ามก้าวก่ายแทรกแซงเลื่อนยศข้าราชการ ป้องกันให้รัฐมนตรีทำความเสียหาย โดยกำหนดคุณสมบัติซื่อสัตย์สุจริตอันเป็นที่ประจักษ์ และเป็นรัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง หากมีการแก้ไขใหม่ ไม่แน่ใจว่าจะเขียนป้องกันได้แข็งแกร่งเหมือนเดิมหรือไม่ รวมถึงยังเป็นรัฐธรรมนูญที่มีการบัญญัติเกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศไว้ ดังนั้นการร่างรัฐธรรมนูญใหม่จะสร้างความเสียหายให้กับประเทศ เสียโอกาสการพัฒนา โดยเฉพาะที่กำลังได้รับผลกระทบจากโควิด-19 หากมีการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ จะทำให้การปฏิรูปประเทศชะงัก อย่างเสียเวลาวุ่นวายกับรัฐธรรมนูญที่กินไม่ได้

จากนั้นเป็นการอภิปรายของนายจิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์ ส.ส.พรรคก้าวไกล ได้อภิปรายพาดพิงถึงการทำหน้าที่ของวุฒิสภา (ส.ว.) ที่เหมือนจับเอาคนพิการมือด้วน 250 คนมาไว้รวมกัน โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็น ผู้ควบคุม ทำให้นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ สมาชิกวุฒิสภา ลุกขึ้นประท้วงทันทีพร้อมยืนยันว่า ส.ว. เข้ามาตามรัฐธรรมนูญ แต่บางครั้งก็มีนักการเมืองบางคนที่แอบอยู่ใต้กระโปรงนักเรียน ทำให้นายชวน หลีกภัย ซึ่งทำหน้าที่ประธานการประชุมต้องปิดไมค์ และกล่าวเตือนสมาชิกว่าในสภาผู้แทนราษฎรไม่ควรกล่าวถึงสถาบัน และขอให้ทั้งสองฝ่ายถอนคำพูดที่ไม่เหมาะสม เนื่องจากเกรงว่าอาจทำให้เกิดการประท้วงยืดเยื้อบานปลายเสียเวลาในการอภิปราย แต่สถานการณ์ก็ยังไม่จบเนื่องจาก ส.ส. พรรคก้าวไกล หลายคนได้ลุกขึ้นประท้วง ขอให้นายกิตติศักดิ์ถอนคำพูดที่ไม่เหมาะสม โดยนายกิตติศักดิ์ ได้ยอมถอนคำพูด เหตุการณ์จึงจบลง. -สำนักข่าวไทย

ดูข่าวเพิ่มเติม

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

ยิงสส.กัมพูชา

ออกหมายจับชายไทย วัย 41 มือยิง ‘ลิม กิมยา” ดับกลางกรุงเทพฯ

ออกหมายจับชายไทย วัย 41 มือยิง ‘ลิม กิมยา” อดีต สส.ฝ่ายค้านกัมพูชา ดับใกล้วัดดังกลางกรุง พบเหยื่อมีบทบาทในการตรวจสอบรัฐบาลฮุนเซน

ครม.เห็นชอบร่างกฎกระทรวงเพิ่มบุหรี่ไฟฟ้า-บารากู่ไฟฟ้า เป็นของต้องห้าม

ครม. เห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดการประพฤติของนักเรียนและนักศึกษา เพิ่มบุหรี่ไฟฟ้า-บารากู่ไฟฟ้า เป็นของต้องห้าม พร้อมกำหนดบทลงโทษหากพบเข้าไปข้องเกี่ยว

สุดเจ๋ง! นศ.วอศ.เสาวภา-วอศ.สระบุรี ชนะเลิศแข่งขันแกะสลักหิมะนานาชาติ 2025

สุดเจ๋ง! นศ.วอศ.เสาวภา และ วอศ.สระบุรี ชนะเลิศในการแข่งขันแกะสลักหิมะนานาชาติ 2025 ณ เมืองฮาร์บิน สาธารณรัฐประชาชนจีน

ข่าวแนะนำ

พิธีศพจิมมีคาร์เตอร์

สหรัฐจัดรัฐพิธีศพ ‘จิมมี คาร์เตอร์’

รัฐบาลสหรัฐจัดพิธีศพ จิมมี คาร์เตอร์ อดีตประธานาธิบดีอย่างสมเกียรติในอาคารรัฐสภา มีบุคคลสำคัญเข้าร่วมคับคั่ง ก่อนที่จะนำร่างของเขาไปยังที่รัฐจอร์เจีย บ้านเกิด เพื่อประกอบพิธีฝัง

“เด็ก-เยาวชน” ส่ง ส.ค.ส.อวยพร “ปีใหม่-วันเด็ก” ให้นายกฯ

“เด็ก-เยาวชน” ส่ง ส.ค.ส.อวยพรปีใหม่ 2568 – วันเด็ก ให้ “นายกฯ พี่อิ๊งค์” มีความสุข สุขภาพแข็งแรง ตั้งใจทำงานเพื่อบ้านเมือง อยู่คู่ตึกไทยคู่ฟ้า บริหารประเทศไปนานๆ พร้อมฝากความคิดถึง “อดีตนายกฯ ทักษิณ”

16 บอสดิไอคอน แถลงปฏิเสธทุกข้อหา ศาลนัดตรวจพยานหลักฐาน 10 ก.พ.

16 บอส ดิไอคอนกรุ๊ป แถลงปฏิเสธทุกข้อหา ศาลนัดสอบคำให้การและตรวจพยานหลักฐาน 10 ก.พ.นี้ ขณะที่ “ทนายวิฑูรย์” เผย “บอสพอล-บอสกันต์” ดีใจ หลัง “แซม-มิน” ได้ปล่อยตัว ส่วนท่าทีทั้งคู่ดูสบายๆ ปกติ ล่าสุดมีรายงาน “บอสวิน” ยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราว อยู่ระหว่างรอผล