รัฐสภา 23 ก.ย.- ฝ่ายค้าน-รัฐบาลเห็นตรงกัน รัฐธรรมนูญปี 60 มีปัญหา ไม่เป็นประชาธิปไตย ควรให้มี ส.ส.ร. มายกร่างใหม่ เพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้ง พร้อมวอน ส.ว. ให้ความเห็นชอบ
การประชุมร่วมกันของรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 6 ฉบับ วันนี้ (23 ก.ย.) มีนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เป็นประธานการประชุม นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะผู้เสนอญัตติ ชี้แจงหลักการและเหตุผลญัตติของพรรคร่วมฝ่ายค้าน ย้ำว่าควรมีการจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ขึ้นมายกร่างรัฐธรรมนูญ
นายสมพงษ์ กล่าวถึงการให้ยกเลิกมาตรา 270 ถึง 272 ว่า เพราะเป็นหลักการที่ไม่เป็นประชาธิปไตย และขัดกับหลักการถ่วงดุลอำนาจ โดยเฉพาะมาตรา 272 เกี่ยวกับการให้ ส.ว.ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน มีสิทธิร่วมลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีด้วย ไม่สอดคล้องกับหลักการ และประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ส่วนการให้ยกเลิกมาตรา 279 เกี่ยวกับการประกาศ คำสั่ง หรือการกระทำของ คสช.และหัวหน้า คสช. ซึ่งมีผลกระทบต่อประชาชน นายสมพงษ์ กล่าวว่า เพราะประกาศ คำสั่ง หรือการกระทำของ คสช.และหัวหน้า คสช. ขัดหลักสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ แต่ได้รับการรับรองให้ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ทั้งที่ คสช. สิ้นสุดไปแล้ว แต่ยังคงบทบัญญัติไว้ ทำให้ไม่เป็นไปตามหลักการประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จึงควรแก้ไขเพิ่มเติมยกเลิก
นายสมพงษ์ ยังกล่าวถึงการให้เปลี่ยนมาใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ว่า การใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียวมีปัญหาหลายด้าน ยุ่งยากในทางปฏิบัติ ไม่สะท้อนเจตนารมณ์ประชาชน ไม่เป็นธรรมต่อพรรคการเมือง การคิดคำนวณไม่แน่นอนชัดเจน สมควรนำวิธีการเลือกตั้งในรัฐธรรมนูญฉบับก่อนหน้า ที่ใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ กลับมาใช้ ซึ่งเคยใช้มาหลายครั้ง ประชาชนเข้าใจ ไม่เกิดปัญหาในทางปฏิบัติ
ด้าน นายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ อภิปรายว่า การเสนอแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 กำหนดการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ตามมาตรา 256/1 ถึง 256/19 ว่า รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน มีผลใช้บังคับมาเป็นระยะเวลาหนึ่ง และหลายมาตรายังไม่สอดคล้องกับหลักประชาธิปไตย และบริบทของสังคมในด้านต่างๆ สภาพปัญหาต่างๆ อาจนำมาซึ่งความเข้าใจ และความคิดเห็นไม่ตรงกัน ที่จะส่งผลให้เกิดความขัดแย้งในสังคม รวมทั้ง อาจจะส่งผลกระทบต่อการพัฒนาประเทศด้านเศรษฐกิจสังคมหรือด้านอื่นๆ
นายวิรัช กล่าวว่า เพื่อแก้ไขสภาพปัญหาที่เกิดขึ้น จึงควรมีการศึกษาทบทวนรัฐธรรมนูญ ให้เกิดความเหมาะสมยิ่งขึ้น แต่บทบัญญัติเกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติม ที่ค่อนข้างยุ่งยาก เป็นอุปสรรคต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ดังนั้น เพื่อให้บรรลุเจตนารมณ์ดังกล่าว สมควรที่จะแก้ไขมาตรา 256 เพื่อให้วิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นไปด้วยความเหมาะสม และไม่ยุ่งยาก
“ดังนั้น สมควรที่จะได้มีบทบัญญัติว่าด้วยการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นทั้งฉบับ โดยให้มี ส.ส.ร. เป็นองค์ประกอบในการจัดทำ ซึ่งจะเปิดโอกาสและสร้างพื้นที่การมีส่วนร่วมทางการเมืองจากทุกภาคส่วน เพื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญให้มีความเหมาะสม และสอดคล้องกับเจตนารมณ์ทางการเมือง และ ประชาชนที่มีความเป็นประชาธิปไตยให้มากยิ่งขึ้น รวมทั้ง เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ โดยการรับฟังความคิดเห็นและออกเสียงประชามติ” นายวิรัช กล่าว
ขณะที่นายขจิตร ชัยนิคม ส.ส.อุดรธานี พรรคเพื่อไทย เสนอให้รัฐสภายกเว้นข้อบังคับ เพื่อบรรจุร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนของกลุ่มไอลอว์ ที่เข้าชื่อไม่น้อยกว่า 50,000 ชื่อ บรรจุเป็นญัตติ เพื่อพิจารณาพร้อมกัน และขอให้แจกจ่ายเอกสารร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนให้สมาชิกรัฐสภาศึกษา
นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ชี้แจงว่า ฝ่ายรัฐสภาต้องมีการตรวจสอบ เนื่องจากรัฐธรรมนูญบังคับไว้ว่าต้องมีรายชื่อไม่น้อยกว่า 50,000 รายชื่อ ดังนั้น จึงยกเว้นข้อบังคับที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญไม่ได้ แต่ก็ต้องการให้เสนอพร้อมกัน จึงกำชับเจ้าหน้าที่ให้เร่งตรวจสอบให้ทันภายในสมัยประชุมต่อไป
น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ ส.ส.กรุงเทพมหานคร พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า รัฐธรรมนูญปี 2560 มีเจตนารมณ์ขัดหลักประชาธิปไตยหลายเรื่อง ทำให้ระบบการเมืองอ่อนแอ เศรษฐกิจถดถอย หลังจากบังคับใช้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญปี 2560 ยังไม่ได้เกิดจากการมีส่วนร่วม แต่เกิดจากแนวคิดผู้ยึดอำนาจ ไม่มีหลักนิติธรรมสากล ทำให้มีผลอาญาย้อนหลัง พิจารณาคดีลับหลังได้ ขณะที่ การแก้ไขทำได้ยากเย็นแสนเข็ญ ทำให้เกิดความขัดแย้ง ปัญหาการเมือง ที่มีรัฐธรรมนูญเป็นต้นตอปัญหา จึงต้องช่วยกันยุติปัญหาทางการเมือง คืนอำนาจให้ประชาชนร่างรัฐธรรมนูญของตัวเอง สนองความต้องการหยุดคุกคาม ร่างรัฐธรรมนูญโดย ส.ส.ร. และยุบสภา
“เชื่อว่า ส.ส.รัฐบาลและฝ่ายค้าน จะเห็นชอบหลักการตามญัตติที่เสนอ เหลือเพียงเสียงสนับสนุนจากวุฒิสภาไม่น้อยกว่า 24 เสียง ที่จะมีส่วนสำคัญทำให้บ้านเมืองพ้นจากความขัดแย้ง แต่วุฒิสภาบางคนยังเข้าใจผิด คิดว่าการตั้ง ส.ส.ร.เป็นการตีเช็คเปล่า จึงขอทำความเข้าใจว่า การคืนอำนาจให้ประชาชนร่างรัฐธรรมนูญมีความชอบธรรม หาก ส.ส.ร.ร่างมาไม่ดี รัฐสภาก็สามารถตีกลับได้ หรือประชาชนทำประชามติไม่เห็นชอบ ก็ไม่สามารถบังคับใช้ได้อยู่แล้ว ประชุมสภา” น.อ.อนุดิษฐ์ กล่าว .-สำนักข่าวไทย