รัฐสภา 23 ก.ย.- กมธ.แรงงานรับข้อเสนอแก้ไขปรับปรุงกฎหมายคุ้มครองแรงงานกลุ่มทำงานบ้านและภาคเกษตร ให้เข้าสู่ประกันสังคม กำหนดเวลาทำงานให้ชัดเจน ลดความเหลื่อมล้ำ
นายสุเทพ อู่อ้น ประธานคณะกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร รับหนังสือจากนายทรงพันธ์ ตันตระกูล อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และคณะ เพื่อขอให้แก้ไขกฎหมายในการคุ้มครองแรงงานข้ามชาติ ที่ยังไม่ได้รับการคุ้มครองให้ครอบคลุม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ในกลุ่มคนทำงานบ้านและคนทำงานภาคเกษตร เนื่องจากกฎหมายด้านแรงงานที่มีอยู่ให้การคุ้มครองไม่ครอบคลุมทุกกลุ่มอาชีพ เป็นผลจากกฎหมายการจ้างงาน ไม่ได้กำหนดนิยามให้ลึกลงไป และทำให้แรงงานที่ควรได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายตกหล่น
“เมื่อแรงงานถูกทำให้มองไม่เห็นในระบบแรงงาน ส่งผลต่อความเหลื่อมล้ำและสภาวะสุขภาพ เช่น พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงานยกเว้นบังคับให้กลุ่มแรงงานทำงานบ้านโดยไม่ประกอบธุรกิจรวมอยู่ด้วย แรงงานภาคเกษตรกรรมที่ไม่ได้ทำงานตลอดทั้งปี โดยเฉพาะหากอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ชั่วโมงทำงาน ราคาชดเชยจากการถูกเลิกจ้าง โดยไม่มีความผิด กฎกระทรวงว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานทำงานบ้านอันมิได้ประกอบธุรกิจรวมอยู่ด้วย พ.ศ.2555 และกฎกระทรวงว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานในภาคงานเกษตรกรรม พ.ศ.2557 ที่บังคับใช้ในปัจจุบันมีข้อจำกัดการคุ้มครอง เช่น พ.ร.บ. ประการสังคม มาตรา 33 ที่ไม่บังคับใช้กับกลุ่มลูกจ้างบางประเภทที่มีรูปแบบการจ้างงานที่แน่นอน โดยเฉพาะลูกจ้างทำงานบ้าน รวมถึงลูกจ้างภาคเกษตร กิจการประมง” นายสุเทพ กล่าว
นายสุเทพ กล่าวว่า พ.ร.บ. เงินทดแทน พ.ศ.2537 มาตรา 5 ที่ไม่ระบุนิยามรวมไปถึงลูกจ้างทำงานบ้านใดที่ส่งผลให้ลูกจ้างกลุ่มนี้ไม่สามารถเข้าสู่กองทุนเงินทดแทนได้ พร้อมขอเสนอให้ปรับปรุงกฎกระทรวงแรงงานฉบับที่ 14(พ.ศ.2555) หรือร่างกฎกระทรวงฉบับที่ 14 ที่อยู่ระหว่างการแก้ไขปรับปรุง ดำเนินการให้สอดคล้องกับสาระอนุสัญญาฉบับที่ 189 ว่าด้วยงานที่มีคุณค่าสำหรับคนทำงานบ้าน ประกอบด้วยมีสัญญาจ้างชัดเจน กำหนดขอบเขตภาระงานที่ต้องทำแต่ละวัน กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำรายวัน กำหนดระยะเวลาทำงานปกติและเวลาพักผ่อน ไม่ให้นายจ้างเรียกลูกจ้างตลอดเวลา ไม่ควรนำระยะเวลา 8 ชั่วโมงของการทำงานมาคำนวณแต่ควรมาจากการปรึกษาหารือหรือตกลงเจรจาระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง ให้สิทธิลากิจที่จำเป็น การได้รับค่า ชดเชยเมื่อถูกเลิกจ้างไม่เป็นธรรมโดยลูกจ้างไม่กระทำผิดร้ายแรง เข้าสู่ระบบประกันสังคม มาตรา 33 และมีกลไกร้องเรียนเป็นการเฉพาะกรอบในความแตกต่างทางภาษา.-สำนักข่าวไทย