กรุงเทพฯ 20 ก.ย.-กรณีแกนนำผู้ชุมนุมเจาะสนามหลวงเพื่อปักหมุด ล่าสุดฝ่ายกฎหมายของทั้งกรุงเทพฯและกรมศิลปากรอยู่ระหว่างพิจารณาเอาผิด ซึ่งโทษสูงสุด คือ จำคุก 10 ปี
พลตำรวจตรีปิยะ ต๊ะวิชัย โฆษกกองบัญชาการตำรวจนครบาล กล่าวถึงกรณีที่กลุ่มผู้ชุมนุมเจาะพื้นผิวสนามหลวงเพื่อปักหมุดคณะราษฎรว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของฝ่ายกฎหมาย 2 หน่วย คือ กรุงเทพมหานครที่ได้รับมอบหมายให้ดูแลพื้นที่สนามหลวงและกรมศิลปากรที่รับผิดชอบโบราณสถาน หากเข้าข่ายความผิดชัดเจน ตัวแทนทั้ง 2 หน่วยงานจะเข้าแจ้งความดำเนินคดีตามขั้นตอน ในความผิดฐานทำให้โบราณสถานเสียหาย เสื่อมค่า ไร้ประโยชน์ มีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีภาพและเสียงชัดเจนว่าใครทำความผิดบ้าง หลังจากนี้จะเอาข้อมูลการกล่าวปราศรัยพาดพิงมาพิจารณา ว่ามีความผิดในข้อหาใดบ้าง
ด้านพันตำรวจเอกกฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวถึงกรณีพลตำรวจโทภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล เดินทางไปรับหนังสือข้อร้องเรียนจากผู้ชุมนุมว่า ในฐานะผู้บัญชาการเหตุการณ์ เมื่อรับหนังสือมาแล้วคงดำเนินการไปตามขั้นตอนธุรการ ประมวลผลตามลำดับชั้นไปที่ ตร. และส่งไปยังหน่วยงานรับหนังสือต่อไป โดยผบช.น. ไม่ใช่ตัวแทนสำนักงานองคมนตรีแต่อย่างใด ขณะที่การนัดการชุมนุมอีกครั้งในวันที่ 23 – 24 กันยายนที่รัฐสภานั้น ตำรวจจะติดตามและประเมินสถานการณ์ตามความเหมาะสม
อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ชุมนุมเช่นนี้เกิดตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2563 ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด มีการจับกุมผู้กระทำผิดไปแล้วประมาณ 30 ราย ส่วนความผิดที่เกิดขึ้นในการชุมนุมก่อนวันที่ 19 กันยายน และในวันที่ 19 กันยายน ต้องมีการพิจารณาอีกครั้ง
ด้านนายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ขอบคุณเจ้าหน้าที่และประชาชน ที่ช่วยกันทำให้สถานการณ์เป็นไปด้วยความเรียบร้อย นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ รวมถึงประชาชนได้หลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าและการยั่วยุ เพื่อไม่ให้เกิดความตึงเครียดโดยไม่จำเป็น
ด้านนายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผอ.กองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขห่วงใยสุขภาพของผู้ชุมนุมทางการเมือง เนื่องจากพักผ่อนน้อย ร่วมกับสภาพอากาศที่ชื้นมีฝน ทำให้มีโอกาสป่วยเป็นไข้หวัด หรือโรคระบบทางเดินหายใจ รวมทั้งสถานการณ์ “โควิด-19” ในไทยยังถือว่ามีความเสี่ยงอาจมีผู้ที่ติดเชื้อ แต่ไม่แสดงอาการปะปนอยู่ในสังคม ที่สำคัญกลุ่มชุมนุมมีการรวมตัวของคนจำนวนมาก ทำให้อาจเกิดการแพร่กระจายของ “โควิด-19” หรือไข้หวัดได้ง่าย จึงขอความร่วมมือทุกคนหลังกลับจากการเข้าชุมนุมให้เฝ้าระวังสังเกตอาการจนครบ 14 วัน พร้อมวัดไข้ใส่หน้ากาก แยกสำรับอาหาร และของใช้ส่วนตัว เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ รวมถึงหลีกเลี่ยงการใกล้ชิดผู้สูงอายุและผู้ที่มีโรคประจำตัว หากมีอาการไข้ ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก การรับรสหรือกลิ่นลดลง ให้ไปรับการตรวจวินิจฉัยที่โรงพยาบาลใกล้บ้านทันที.-สำนักข่าวไทย