กรุงเทพฯ 11 ก.ย.- “วุฒิสาร” ชี้เลือกตั้งท้องถิ่นต้องมี 3 เป้าหมาย คนใช้สิทธิมาก เลือกตั้งยุติธรรม หลังเลือกตั้งต้องไม่แตกแยก เชื่อแข่งขันรุนแรง หลังว่างเว้นมานาน ด้าน รองเลขา กกต.แจงต้องทำตามกฏหมายแม้บางครั้งขัดความรู้สึกประชาขน
ที่โรงแรมรามาการ์เด้นส์ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) จัดกิจกรรมให้ความรู้สื่อมวลชนกับการเลือกตั้งท้องถิ่น จัดเสวนาเรื่อง “มุมมองการเลือกตั้งท้องถิ่นกับภารกิจ กกต.” โดยนายวุฒิสาร ตันไชย เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า กล่าวว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นคือรากฐานประชาธิปไตย เป็นรากฐานให้ประชาชนมีอำนาจอย่างแท้จริง ในการเลือกคนมาเป็นตัวแทน เพราะหลักการการปกครองท้องถิ่นคือการดูแลตัวเอง ทั้งนี้ความสำคัญของการเลือกตั้งท้องถิ่นเป็นการคืนอำนาจให้กับประชาชนในการตัดสินใจเลือกผู้มาบริหาร
เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า กล่าวว่า การเลือกตั้งท้องถิ่นควรมีเป้าหมาย 3 ขั้น คือ 1.คนใช้สิทธิเยอะ บัตรเสียน้อย ซึ่งแสดงให้เห็นว่าคนตื่นตัว และเข้าใจระบบเลือกตั้ง 2.การเลือกตั้งที่มีเสรีภาพและยุติธรรม ได้คนที่เหมาะสม ตรงกับเจตนารมณ์ประชาชนจริง ๆ ไม่มีการซื้อสิทธิขายเสียง และ 3.หลังการเลือกตั้งแล้วประชาชนไม่แตกแยกกัน การเลือกตั้งท้องถิ่นแตกต่างกับการเลือกตั้งระดับชาติ เพราะประชาชนมีความใกล้ชิดกัน การเลือกตั้งที่ดีหลังการเลือกตั้งประชาชนต้องไม่แตกแยก หรือเป็นศัตรูถาวรกัน ซึ่งจะเป็นความอ่อนแอของระบอบประชาธิปไตย
นายวุฒิสาร กล่าวว่า การเลือกตั้งท้องถิ่นในปัจจุบัน เป็นสิ่งสำคัญเพราะบุคคลที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งต้องเป็นคนในท้องถิ่นและมีบทบาทหน้าที่ทำงานเพื่อท้องถิ่นอย่างแท้จริง ซึ่งการเลือกตั้งท้องถิ่นต่างจากการเลือกตั้งระดับชาติ ที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะพิจารณาจากผลงานและสิ่งที่จะทำให้ท้องถิ่นในอนาคตที่เรียกว่าการเมืองเชิงนโยบาย สามารถจับต้อง ตรวจสอบการทำงานได้ ถือเป็นการเมืองเชิงนโยบายท้องถิ่น ซึ่งเป็นบทเรียนสำคัญของประชาธิปไตย ที่ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจและร่วมตรวจสอบ
“เชื่อว่าเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งนี้จะเป็นการแข่งขันที่รุนแรง เพราะว่างเว้นมานาน และการแข่งขันรุนแรงอาจไม่ใช่การหาคะแนนอย่างเดียว แต่รวมถึงการแข่งขันเชิงนโยบาย ที่จะต้องตรวจสอบว่านโยบายทำได้จริง หรือเป็นนโยบายขายฝัน และอยู่ในอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือไม่”นายวุฒิสารกล่าว
นายวุฒิสาร กล่าวว่า ควรมีการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเข้าชื่อเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่น ถือเป็นกฎหมายที่ล้าหลัง เพราะมีการกำหนดว่าต้องมีคนเข้าชื่อ 1 แสนคน ซึ่งมากกว่าคนมีสิทธิเลือกตั้งในบางเขตเลือกตั้งเสียอีก ดังนั้นควรลดจำนวนสัดส่วนลง นอกจากนั้นกฎหมายการเข้าชื่อถอดถอนผู้บริหารท้องถิ่น ที่กำหนดว่าต้องมีผู้ออกมาใช้สิทธิถอดถอนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ซึ่งประเทศไทยมีการถอดถอน 14 ครั้ง สำเร็จแค่ 4 ครั้ง ส่วนที่ไม่สำเร็จเพราะมีผู้ถอดถอนไม่ถึงกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตองค์กรปกครองท้องถิ่น หากเป็นผู้บริหารก็ต้องเกินกึ่งหนึ่งของทุกเขต แต่หากเป็นสมาชิกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควรกำหนดการถอดถอนให้ผู้มาใช้สิทธิเกินกึ่งหนึ่งของเขตนั้น ๆ ไม่ใช่กึ่งหนึ่งของทุกเขตเลือกตั้งขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น ๆ หากทำให้ง่ายขึ้นประชาชนจะมีอำนาจมากขึ้น ส่วนสื่อมวลชนทำบทบาทหน้าที่ของตัวเองในการทำหน้าที่เป็นหมาเฝ้าบ้าน ที่เห่าในเรื่องที่จำเป็น ไม่ใช่เป็นหมาปากเปราะ เพราะจะกลายเป็นเครื่องมือของนักการเมือง และควรจะต้องเป็นตะเกียงที่นำทางประชาชนไปในทางที่ถูกต้อง
ด้านนายแสวง บุญมี รองเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวว่า กกต.รับภาระกับการแข่งขันทางการเมือง ทั้งนักการเมืองที่อาจกลายมาเป็นผู้มีอำนาจทางการเมือง ผู้สนับสนุนที่มีอยู่จำนวนมาก และสื่อมวลชนที่มีอำนาจชี้นำ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย การเลือกตั้งที่ดีต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่ายด้วย ไม่ใช่หวังแต่ กกต. 7 คนเพียงอย่างเดียว แต่สิ่งที่คนแข่งขันหวังจากการแข่งขันคือความเป็นธรรมของกติกา ซึ่งกกต.เวลามีการเลือกตั้งก็ต้องทำตามกฎหมาย ไม่ได้อยู่เหนือกฎหมายหรือมีอำนาจเปลี่ยนแปลงกฎหมายได้ แม้กฎหมายบางอย่างอาจจะขัดกับความรู้สึกประชาชน ส่วนกรณีที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ กกต. หากเป็นความเห็นก็ถือเป็นสิทธิ กกต.จะตอบเรื่องที่เป็นข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง โดยจะยึดกฎหมายเป็นหลัก
รองเลขาธิการ กกต. กล่าวว่า ระบบการเลือกตั้งไทยแข็งแกร่งที่สุดแล้ว ตรวจสอบได้ทุกเวลาตั้งแต่พิมพ์บัตรเลือกตั้ง การเลือกตั้งไม่ใช่หน้าที่ของ กกต.คนเดียว แต่เป็นหน้าที่ของคนทั้งชาติที่ต้องเลือกคนที่ดี เพื่อให้ผลการเลือกตั้งที่ดี กติกาการเลือกก็ต้องเป็นไปตามกฎหมาย กกต.ต้องทำตามกฎหมาย หากกติกาดีทุกคนยอมรับ ก็แข่งขันกัน ใครแพ้ใครชนะอยู่ที่ผลงาน ศักยภาพ และนโยบายของแต่ละคน แต่ยืนยันว่าจะได้รับความเป็นธรรมจาก กกต..-สำนักข่าวไทย