กรุงเทพฯ 9 ก.ย.-“เชาว์” ขอบคุณอธิบดีดีเอสไอ รับลูก ชง อสส.พิจารณาดุลพินิจ “เนตร” ไม่อุทธรณ์คดี “พานทองแท้” แนะตั้ง กก.สอบ เหตุ อสส.มีส่วนเกี่ยวข้อง เข้าข่ายผลประโยชน์ขัดกัน ยันอำนาจอุทธรณ์เป็นของ อสส.คนอื่นทำแทนไม่ได้ หวังเปิดช่องรื้อคดี “พานทองแท้” ใหม่ ให้จบที่ศาล ไม่ใช่ในมืออัยการ
นายเชาว์ มีขวด อดีตรองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ Facebook Chao Meekhuad เรื่อง ความจริงเริ่มปรากฎ ขอบคุณอธิบดี DSI ที่รับเรื่องส่งต่อ อสส.พิจารณารื้อคดี “โอ๊ค พานทองแท้” มีเนื้อหาระบุว่า ตามที่ผมได้ยื่นหนังสือถึง พ.ต.ท.กรวัชร์ ปานประภากร อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคมที่ผ่านมา เพื่อขอให้ดำเนินการเพิกถอนคำสั่งชี้ขาดความเห็นแย้ง คดีนายพานทองแท้ ชินวัตร หรือ โอ๊ค บุตรชาย นายทักษิณ ชินวัตร ซึ่งเป็นจำเลยคดีทุจริตฟอกเงินธนาคารกรุงไทยปล่อยสินเชื่อให้บริษัทในเครือกฤษฎามหานคร โดยขอให้ดีเอสไอในฐานะพนักงานสอบสวนผู้มีส่วนได้เสีย นำประเด็นนี้ไปยื่นต่อศาลปกครอง หรือ ศาลอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบ เนื่องจากคำสั่งชี้ขาดความเห็นแย้ง ไม่อุทธรณ์คดีของนายเนตร นาคสุข รองอัยการสูงสุด ลงนามไปโดยไม่มีอำนาจ เพราะผู้มีอำนาจคืออัยการสูงสุด คนอื่นจะกระทำแทนไม่ได้
ล่าสุดผมได้หนังสือแจ้งผลดำเนินการจากอธิบดีดีเอสไอว่า เรื่องที่ผมร้องไปเป็นเรื่องเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของอัยการ ทางดีเอสไอจึงส่งเรื่องให้สำนักงานอัยการสูงสุดพิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ที่เห็นสมควรต่อไป ถึงแม้จะไม่ตรงกับคำขอตามคำร้อง แต่การส่งเรื่องไปให้อัยการสูงสุดพิจารณา ก็สะท้อนว่าอธิบดีดีเอสไอไม่ได้เพิกเฉยต่อประเด็นนี้
อดีตรองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่า การใช้ดุลพินิจของนายเนตร กรณีไม่อุทธรณ์คดีนายพานทองแท้ ซึ่งชัดเจนว่าไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะอำนาจชี้ขาดความเห็นแย้งเป็นของอัยการสูงสุด ซึ่งถือเป็นดุลพินิจเฉพาะตัว เฉพาะตำแหน่งทางกระบวนการยุติธรรมโดยเฉพาะ ไม่อาจมอบอำนาจให้ผู้อื่นทำการแทนได้ ตามคำวินิจฉัยอัยการสูงสุดที่ 41/2533 และเทียบเคียงแนวคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 30/2542 นอกจากนี้ยังเทียบเคียงได้กับเรื่องการรับรองอุทธรณ์หรือฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งถ้าจะมอบหมายให้กันได้ ก็จะระบุไว้ชัดเจน ดังนั้นการสั่งคดีชี้ขาดความเห็นแย้งของนายเนตร ถึงแม้จะอ้างว่าได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติราชการแทนอัยการสูงสุด ก็ไม่สามารถกระทำได้ เพราะขณะสั่งคดีนายเนตร ไม่ใช่อัยการสูงสุด
“อย่างไรก็ตาม ผมยังเห็นว่าเรื่องนี้ไม่ควรให้อัยการสูงสุดเป็นผู้ดำเนินการพิจารณา เพราะถือเป็นผู้มีส่วนได้เสีย ผลประโยชน์ขัดกันจากการปฏิบัติหน้าที่ของนายเนตร เพราะหากนายเนตรกระทำผิด คนมอบอำนาจก็ย่อมมีความผิดตามไปด้วย เรื่องนี้จึงควรเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการอัยการ ซึ่งมีนายอรรถพล ใหญ่สว่าง เป็นประธาน และเป็นผู้ที่รู้ข้อกฎหมายข้อนี้ดี เพราะเป็นผู้นำคำวินิจฉัยอัยการสูงสุดที่ 41/2553 ไปเขียนในตำราเรียนและใช้สอนนักศึกษาเนติบัณฑิต ตั้งกรรมการสอบการใช้ดุลพินิจของนายเนตร เมื่อได้บทสรุปว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย ก็ต้องมีมติเพิกถอนคำสั่งของนายเนตร เพื่อให้คดีกลับสู่สถานะเดิม คือให้อัยการสูงสุดเป็นคนสั่งชี้ขาดความเห็นแย้งดังกล่าว แล้วให้อัยการเจ้าของสำนวนยื่นคำร้องต่อศาลแสดงเหตุผลให้ศาลทราบถึงความผิดปกติเพื่อเปิดช่องในการยื่นอุทธรณ์ ตามกระบวนการที่ชอบด้วยกฎหมาย นำไปสู่การรื้อคดีนายพานทองแท้ เพื่อให้ศาลสถิตยุติธรรมเป็นผู้พิพากษา ไม่ใช่จบในมือของอัยการ ที่ในขณะนี้ความน่าเชื่อถือติดลบในสายตาของประชาชน” นายเชาว์ ระบุ.-สำนักข่าวไทย