กรุงเทพฯ 28 ส.ค.-อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น แจงปมปัญหากรณีผู้เสียภาษีได้รับแจ้งการประเมินภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างล่าช้า ชี้มีหลายสาเหตุทั้งจดหมายตีกลับ-ตกสำรวจ
นายประยูร รัตนเสนีย์ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) กระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่ากรณีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ยังไม่มีหนังสือแจ้งประเมินไปยังผู้เสียภาษี ถือว่าผู้เสียภาษีไม่มีภาระต้องไปเสียภาษีตามกฎหมาย ซึ่งอาจมีหลายสาเหตุ เช่น ประชาชนได้รับยกเว้นภาษีกรณีเป็นเจ้าของบ้านและมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน หากมูลค่าฐานภาษีกรณีใช้ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นที่อยู่อาศัยไม่เกิน 50 ล้านบาท หรือ 10 ล้านบาทแล้วแต่กรณี หรือเป็นบุคคลธรรมดาใช้ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในการประกอบการเกษตรจะได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีในปี 2563 – 2565 หนังสือแจ้งประเมินภาษีส่งไปแล้วไม่มีผู้รับจดหมายจึงถูกตีกลับ รวมถึงไม่อยู่ในฐานข้อมูลการสำรวจผู้อยู่ในข่ายต้องเสียภาษีของ อปท. (ตกสำรวจ)
นายประยูร กล่าวว่า ล่าสุดนายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้แจ้งแนวปฏิบัติการขยายกำหนดเวลาการชำระภาษีและการคัดค้านการประเมินภาษีตามพ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 ไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศแล้ว โดยผู้บริหารท้องถิ่นสามารถขยายเวลาการชำระภาษีของประชาชนได้เกินกว่าเดือนสิงหาคม 2563 แต่ต้องดำเนินการภายในวันที่ 31 สิงหาคม 2563 ซึ่งเป็นวันครบกำหนดที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเห็นชอบให้ขยายเวลาดำเนินการตามกฎหมายออกไปเป็นการทั่วไป
“เฉพาะการจัดเก็บภาษีในปี 2563 ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ใน 2 กรณี คือ 1.กรณีผู้บริหารท้องถิ่นอนุมัติขยายเวลาการชำระภาษีออกไป โดยประกาศให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไป ซึ่งผู้เสียภาษีไม่ต้องเสียเบี้ยปรับ รวมถึงเงินเพิ่มตามกฎหมาย และ 2.กรณีผู้เสียภาษีมีเหตุจำเป็นไม่สามารถชำระภาษีได้ภายในเดือนสิงหาคม 2563 หรือภายในระยะเวลาที่ผู้บริหารท้องถิ่นได้อนุมัติขยายออกไป ผู้เสียภาษีสามารถยื่นเรื่องขอให้ผู้บริหารท้องถิ่นขยายเวลาการชำระภาษีออกไปเป็นรายกรณีได้ โดยประชาชนไม่ต้องเสียเบี้ยปรับ แต่ต้องเสียเงินเพิ่มร้อยละ 0.5 ต่อเดือน” นายประยูร กล่าว
นายประยูร กล่าวว่า กรณีผู้เสียภาษีได้รับหนังสือแจ้งประเมินภาษีจากอปท. ล่าช้า เช่น ได้รับแจ้งเกินกว่าเดือนสิงหาคม 2563 ผู้เสียภาษีสามารถใช้สิทธิคัดค้านการประเมินต่อผู้บริหารท้องถิ่นได้ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งการประเมิน และกรณีค่าภาษีที่ต้องชำระตั้งแต่ 3,000 บาท ผู้เสียภาษีสามารถขอผ่อนชำระภาษีได้ 3 เดือน นับแต่เดือนที่ต้องชำระภาษี โดยแบ่งชำระในจำนวนเท่ากันทุกเดือน ทั้งนี้ สามารถชำระภาษีได้ในหลายช่องทาง อาทิ ชำระตรง ที่เทศบาลหรือองค์การบริหารส่วนตำบลที่แจ้งประเมินภาษี ชำระผ่านไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ เช่น ธนาณัติ ตั๋วแลกเงิน เช็ค, ชำระผ่านธนาคาร เช่น โอนเงินผ่านเลขที่บัญชีของ อปท. ชำระผ่านระบบ QR Payment (ATM, Internet Banking Mobile Banking ชำระตรงผ่านธนาคาร) และชำระผ่านระบบอื่นตามที่ทำบันทึกข้อตกลงไว้
“เนื่องจากปี 2563 เป็นปีเริ่มแรกของการบังคับใช้พระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 ประกอบกับเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 จึงทำให้เกิดปัญหาอุปสรรคในการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง อย่างไรก็ตาม รัฐบาลได้ตราพระราชกฤษฎีกาลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในอัตราร้อยละ 90 ให้กับผู้เสียภาษีทุกกลุ่มในปี 2563 ไปแล้ว ขอให้ผู้เสียภาษีติดตามข้อมูลข่าวสารเรื่องการขยายเวลาการชำระภาษี ได้ที่กองรายได้ กรุงเทพมหานคร หรือฝ่ายจัดเก็บรายได้ของสำนักงานเขตทุกเขต และในส่วนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่น สอบถามได้ที่กองคลังในแต่ละเทศบาลหรือองค์การบริหารส่วนตำบล” นายประยูร กล่าว.-สำนักข่าวไทย