ทำเนียบรัฐบาล 4 ส.ค. –นายกฯ ปิดห้องคุยแก้รัฐธรรมนูญก่อนประชุมครม. ขอพรรคร่วมเสนอร่างนามรัฐบาล พร้อมหนุนกระบวนการนิติบัญญัติ ยันไม่เกี่ยวนศ.ชุมนุม ขออย่าทำบ้านเมืองวุ่นวาย กระทบเศรษฐกิจ ให้ตร.จัดการพวกก้าวล่วงสถาบัน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) วันนี้ (4 ส.ค.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พร้อมด้วย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมายนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และ นายจุรินทร์ ลักษณะวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้หารือนอกรอบเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
นายวิษณุชี้แจงถึงขั้นตอน กระบวนการและกรอบเวลาหากจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้งการแก้ไขรายมาตรา เฉพาะมาตราที่เป็นปัญหา หรือแนวทางการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ(ส.ส.ร.) ที่ต้องมีกระบวนการของส.ว.มาเกี่ยวข้องด้วย โดยต้องใช้เวลานานพอสมควร ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีขอให้พรรคร่วมรัฐบาลยื่นญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในนามรัฐบาล เนื่องจากไม่อยากให้แต่ละพรรคยื่นกันเอง เพื่อแสดงให้เห็นถึงเอกภาพของรัฐบาล
รายงานข่าวแจ้งว่า การเสนอประเด็นการแก้รัฐธรรมนูญ พรรคร่วมรัฐบาลหลายพรรคมีความเห็นไม่ตรงกับพรรคพลังประชารัฐ โดยเฉพาะการทำหน้าที่ของสมาชืกวุฒิสภา(ส.ว.) ที่เห็นว่าส.ว.มาจากการแต่งตั้ง 250 คนไม่ควรร่วมโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี แต่พรรคพลังประชารัฐต้องการให้คงในส่วนนี้ไว้
ภายหลังเป็นประธานการประชุมครม. นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์จุดยืนการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามข้อเสนอของคณะกรรมาธิการวิสามัญ ศึกษา ปัญหาหลักเกณฑ์และแนวทางแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ว่า ให้การสนับสนุนการทำงานของคณะกรรมาธิการชุดดังกล่าวและเมื่อได้ข้อสรุปจะต้องนำเข้าสู่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ขณะเดียวกันหากฝ่ายค้านเสนอญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าสู่การพิจารณาของสภา รัฐบาลพร้อมให้ความร่วมมือในกลไกของนิติบัญญัติด้วยการเสนอร่างของรัฐบาลประกบร่วม
“ขณะนี้ติดปัญหาเงื่อนไขช่วงเวลาที่จะต้องปิดสมัยประชุม ซึ่งฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องหารือว่าดำเนินการอย่างไรในช่วงเวลาที่เหลืออยู่ เชื่อว่าเปิดสมัยประชุมหน้า จะสามารถพิจารณาได้ ยืนยันว่ารัฐบาลพร้อมให้ความร่วมมือคณะกรรมาธิการฯ หากคณะกรรมาธิการฯมีข้อเสนอที่ชัดเจนรายงานให้สภาทราบแล้ว ผมจะเชิญพรรคร่วมรัฐบาลมาหารือแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐบาลว่าจะเป็นไปทิศทางไหน” นายกรัฐมนตรี กล่าว
นายกรัฐมนตรี กล่าววว่า เหตุผลที่สนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่เกี่ยวกับการชุมนุมของนักศึกษาที่ออกมาเรียกร้องขณะนี้ เพราะทุกอย่างเป็นไปตามกลไกของฝ่ายนิติบัญญัติ อย่างไรก็ตาม ไม่ต้องการเห็นความขัดแย้งในสังคม ขอร้องฝ่ายต่าง ๆ อย่าทำให้เกิดความวุ่นวาย เพราะจะส่งผลกระทบต่อบ้านเมืองและเศรษฐกิจ เป็นห่วงการชุมนุมของนักศึกษา จึงให้แนวทางเปิดเวทีรับฟังความเห็นประชาชนให้มากขึ้น โดยเฉพาะเวทีของคนรุ่นใหม่ว่าบุคคลเหล่านี้อยากได้อนาคตของตนเองอย่างไร คาดว่าจะดำเนินการได้ในเดือนสิงหาคมนี้ โดยเป็นเวทีพูดคุยหารือร่วมกัน ให้กระทรวงศึกษาธิการไปดำเนินการ ส่วนข้อเรียกร้องที่จะให้ตนไปร่วมรับฟังความคิดเห็นด้วย ขอพิจารณาก่อน
“ผมมีข้อกังวลหลายเรื่องทั้งเรื่องเศรษฐกิจ โควิด รวมถึงเรื่องอื่น ๆ โดยเฉพาะ เนื้อหาของการชุมนุมที่ก้าวล่วงสถาบัน แม้ที่ผ่านมาจะเคยเชิญมาพูดคุยทำความเข้าใจ แต่มีบางคนที่ยังไม่หยุด ดังนั้น จะให้ตำรวจไปดำเนินการด้านกฎหมาย” นายกรัฐมนตรี กล่าว.-สำนักข่าวไทย