ศาลปกครอง 30 ก.ค.- กลุ่มนักสังคมสงเคราะห์ทางการแพทย์ไทย ร้องศาลปกครอง สั่ง สธ.ทบทวนมติไม่บรรจุเป็นข้าราชการกรณีพิเศษ ไม่เป็นธรรม -เลือกปฏิบัติ ยืนยัน เป็นหนึ่งในกลุ่มงานบริการผู้ป่วยโดยตรงที่ดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ตรงเกณฑ์ที่กำหนดต้องได้รับการพิจารณา
นางเยาวเรศ คำมะนาด นายกสมาคมนักสังคมสงเคราะห์ทางการแพทย์ไทย และตัวแทนชมรมนักสังคมสงเคราะห์ทางการแพทย์ จากโรงพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศ เข้ายื่นฟ้องปลัดกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข ต่อศาลปกครองกลาง ขอให้มีคำพิพากษาสั่งให้กระทรวงสาธารณสุขพิจารณาบรรจุพนักงานราชการ พนักงานกระทรวงสาธารณสุข และลูกจ้างชั่วคราว ตำแหน่งนักสังคมสงเคราะห์เข้ารับราชการเป็นกรณีพิเศษ จากการที่บุคคลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขปฏิบัติงานในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19
นางเยาวเรศ กล่าวว่า ปัจจุบันมีนักสังคมสงเคราะห์ทางการแพทย์ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในโรงพยาบาลทั่วประเทศ 590 คน ในจำนวนนี้ 230 คนยังไมได้บรรจุเป็นข้าราชการ นับตั้งแต่ปี 2560 และได้มีการเรียกร้องมาตลอด จนกระทั่งเมื่อวันที่ 15 เมษายน ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้กระทรวงสาธารณสุขคัดเลือกบรรจุบุคลากรในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ที่ปฏิบัติงานในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 แต่นักสังคมสงเคราะห์ทางการแพทย์กลับไม่ได้เป็นหนึ่งใน 24 สายงานอาชีพทางการแพทย์ที่กระทรวงสาธารณสุขบรรจุ
“พวกเราได้ยื่นหนังสืออุทธรณ์ต่อกระทรวงสาธารณสุขพร้อมกับวิชาชีพอื่นที่ตกหล่น และรัฐบาลแล้ว แต่ก็ไม่ได้รับการพิจารณา จึงเห็นว่าการดำเนินการดังกล่าวไม่เป็นธรรม เป็นการเลือกปฏิบัติ ไม่เป็นธรรม เนื่องจากนักสังคมสงเคราะห์ทางการแพทย์ เป็นหนึ่งใน 35 กลุ่มงานที่อยู่ในโครงสร้างบริการผู้ป่วยโดยตรง และในสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ช่วงเดือนมี.ค.-มิ.ย. เราเข้าไปปฏิบัติงานช่วยเหลือดูแลผู้ป่วยติดเชื้อโควิด 19 จำนวนกว่า 1,600 รายอย่างเต็มที่ร่วมกับกลุ่มวิชาชีพแพทย์ พยาบาล ซึ่งถือว่าอยู่ในหลักเกณฑ์ที่ควรต้องได้รับการพิจารณาบรรจุเป็นข้าราชการ จึงต้องมาร้องต่อศาลปกครอง” นางเยาวเรศ กล่าว .- สำนักข่าวไทย