สำนักงานป.ป.ช. 30 ก.ค.-เครือข่ายทวงคืนความยุติธรรมพร้อมนักศึกษานิติศาสตร์ทั่วประเทศร้องป.ป.ช. ตั้งกก.สอบกรณีอัยการไม่สั่งฟ้องคดี “บอส อยู่วิทยา” ระบุคดีความควรจบที่ศาล ไม่ใช่ตัดตอน
นายรณณรงค์ แก้วเพ็ชร์ ประธานเครือข่ายรณรงค์ทวงคืนความยุติธรรมในสังคมนำนักศึกษานิติศาสตร์ทั่วประเทศยื่นเรื่องต่อประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) เพื่อขอให้ตั้งกรรมการตรวจสอบกรณีอัยการที่เกี่ยวข้องการออกคำสั่งไม่ฟ้องคดีนายวรยุทธ อยู่วิทยาเป็นการใช้อำนาจหน้าที่โดยสุจริตหรือไม่ ใช้ดุลยพินิจโดยชอบด้วยกฏหมายหรือไม่ เพื่อให้สังคมไม่คลางแคลงใจ เนื่องจากคำสั่งดังกล่าวเป็นสิ่งที่สังคมรับไม่ได้
นายรณณรงค์ กล่าวว่า หากผลการตรวจสอบพบว่ามีมูล ขอให้ดำเนินการกับอัยการทุกคนที่เกี่ยวข้อง วันนี้ต้องมายื่นเรื่องแม้ว่าเมื่อวานนี้นายกรัฐมนตรีจะมีคำสั่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบเรื่องนี้ เพราะเห็นว่าการตั้งคณะกรรมการชุดดังกล่าวที่มีนายวิชา มหาคุณ เป็นประธาน ไม่ได้ชี้ชัดว่าจะเอาผิดบุคคลใดบุคคลหนึ่ง เรารับไม่ได้กับคำสั่งที่เกิดขึ้น
“เรื่องความเร็วของรถที่ตอนแรกวัดได้ 177 ผ่านไป 2 ปีวัดได้ 76 และ 79 ผมว่าเรื่องนี้ก็แปลกพิศดารแล้ว ไปเจอพยานใหม่ยืนยันว่าขับไม่ถึง 80 แล้วอัยการก็เชื่อ ไม่นับกรณีที่เปลี่ยนพนักงานสอบสวนหลายชุดอีก เราไม่คาดคิดว่าคดีนี้จะจบแบบนี้ ถ้ามันจบแบบขาดอายุความ แล้วคุณบอสอยู่ต่างประเทศ หนีได้ก็หนีไป แต่กรณีนี้ผมรับไม่ได้” นายรณณรงค์ กล่าว
นายรณณรงค์ กล่าวว่า หลังจากมีข่าวคดีนี้ปรากฏว่ามีประชาชนที่ถูกอัยการสั่งฟ้องจากกรณีประมาทร่วมรู้สึกว่าทำไมถึงไม่ได้รับสิทธิ์เหมือนนายวรยุทธ ซึ่งหลังจากนี้จะนำบุคคลเหล่านั้นไปทวงถามต่ออัยการสูงสุดว่าเหตุใดถูกสั่งฟ้องทั้งที่ประมาทร่วมเช่นเดียวกับกรณีของนายวรยุทธ ซึ่งกรณีเช่นนี้มีเป็น 10,000 กรณี ไม่ได้ท้าทายแต่มันเป็นความรู้สึกของประชาชนที่ถูกฟ้องคล้าย ๆ กัน
ส่วนกรณีคนในตระกูลอยู่วิทยาขอความเป็นธรรม นายรณณรงค์ กล่าวว่า เป็นสิทธิ์ของทางครอบครัว ซึ่งก็เห็นใจที่ไม่ได้กระทำแต่ถูกโจมตีไปด้วย บางทีต้องแยกแยะว่าเป็นเรื่องของบุคคล สังคมต้องแยกระหว่างคนที่ทำกับคนที่ไม่ได้ทำว่าเป็นคนละคนกัน
นายรณณรงค์ กล่าวถึงการที่สังคมรู้สึกเดือดร้อนกับเรื่องนี้ทั้งที่ญาติยังนิ่งเฉย ว่า คดีนี้คนตายพูดไม่ได้ พอตายไปแล้วไปกล่าวหาว่าเขาผิด นายวรยุทธ มีทนายเก่ง ๆ ก็สามารถเอาหลักฐานมาเพิ่ม แล้วดาบวิเชียรที่ตายไม่เห็นมีคนมาข่วย
“ไม่เห็นมีใครไปซักค้านอัยการ มีแต่คนช่วยคนที่ยังไม่ตาย มันไม่แฟร์ และคดีในลักษณะเดียวกันที่เกิดกับลูกความของผมเป็นร้อยเป็นพันสำนวน อัยการก็สั่งฟ้องหมด ไปสู้กันในศาล ไม่มีหรอกที่อัยการสั่งไม่ฟ้องแบบนี้ มีคนตายยังไงก็ต้องสั่งฟ้องไปก่อนแล้วให้ไปพิสูจน์กันในศาล ถ้าศาลตัดสินยกฟ้องหรือรอลงอาญามาสังคมรับได้ เหมือนคดีเสี่ยเบนซ์ สังคมรับสภาพได้ ขอให้จบที่ศาล อย่าตัดตอนที่ชั้นอัยการ ผมว่ามันไม่แฟร์” นายรณณรงค์ กล่าว
นายรณณรงค์ กล่าวว่า คดีดังกล่าวถือว่าในส่วนของดาบวิเชียร ไม่มีผู้เสียหายทางนิตินัยเหลือแล้ว คดีต้องระงับไปตามกฎหมาย ต่อให้ผลการสอบของคณะกรรมการตำรวจ อัยการ หรือคณะกรรมการที่นายกรัฐมนตรีตั้งขึ้นผลออกมาว่ามีความผิด ก็รื้อคดีไม่ได้ การตั้งคณะกรรมการขึ้นมาน่าจะเป็นเพียงความต้องการยื้อเวลา ลดกระแสสังคมมากกว่า ไม่เห็นความชัดเจนว่าจะลงโทษบุคคลที่เกี่ยวข้องอย่างไรบ้าง ดูได้จากไม่เห็นสั่งย้ายอัยการที่เกี่ยวข้อง
ด้านตัวแทนนักศึกษานิติศาสตร์ทั่วประเทศที่มาร่วมยื่นคำร้อง กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวไม่ยุติธรรมกับผู้ที่เสียชีวิต แล้วยังไปกล่าวหาว่าเขาผิดด้วย ซึ่งอาจกลายเป็นบรรทัดฐาน ทั้งยังติดใจเรื่องความเร็วที่เปลี่ยนแปลง ที่มาแก้ต่างในภายหลัง ซึ่งน่าจะเกิน 80 กิ โลเมตรต่อชั่วโมง การที่ผู้เสียหายกลายเป็นคนผิด อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบของนายกรัฐมนตรีจะทำให้เรื่องดังกล่าวโปร่งใส แต่หากผลออกมาเช่นเดิมนักศึกษาคงต้องออกมา เพราะถ้าจะให้ยอมรับ ต้องให้ยุติธรรมกับทั้งสองฝ่าย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การยื่นคำร้องครั้งนี้ นักศึกษาได้นำตราชั่งมาแสดงเพื่อเป็นสัญลักษณ์ว่าที่ผ่านมาอัยการเคยให้ความยุติธรรมกับทุกคน แต่วันนี้เมื่อมาเจอคนที่มีฐานะตราชั่งของอัยการก็เอียง.-สำนักข่าวไทย