ศาลปกครอง 12 มี.ค.- เครือข่ายประชาชนรักษ์ต้นไม้ ร้องศาลปกครอง สั่ง รฟม.- อิตาเลียนไทย ระงับตัด รื้อ ย้ายต้นไม้ แนวก่อสร้างรถไฟฟ้า 11 สาย จนกว่าจะปฏิบัติให้ดูกต้องตามหลักวิชาการ และ กฎหมาย
เครือข่ายประชาชนรักษ์ต้นไม้ และชมรมอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นำโดย น.ส.ช่อผกา วิริยานนท์ นางอรยา สูตะบุตร นายเดชรัตน์ สุขกำเนิด เข้ายื่นฟ้อง การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ( รฟม.) และบริษัทอิตาเลียนไทย ดิเวลล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ต่อศาลปกครองกลาง เพื่อขอให้มีคำสั่งให้ รฟม. และบริษัท อิตาเลียนไทย รวมทั้งบริษัทที่เกี่ยวข้อง หยุดการตัด ย้าย หรือการกระทำใด ๆ ต่อต้นไม้ ที่อยู่ในแนวการก่อสร้างรถไฟฟ้า 11 สายในกรุงเทพมหานคร จนกว่าจะได้มีการปฏิบัติถูกต้องตามหลักวิชาการ และกฎหมายที่ชัดเจน โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วม และขอให้ศาลมีคำสั่งให้ รฟม. ผู้รับเหมา นำต้นไม้ชนิด ประเภท และขนาดเดียวกันกับที่ตัดโค่น ทำลาย หรือขุดล้อม ย้ายออกไป กลับคืนมาปลูกในพื้นที่บริเวณใกล้เคียงกับจุดเดิม หากต้นไม้ที่ย้ายไปตายไปแล้ว ก็ให้มีการซื้อหามาปลูกทดแทนให้มากขึ้นเป็น10 เท่า
นายศรีสุวรรณ จรรยา ในฐานะผู้รับมอบอำนาจในการฟ้องคดี กล่าวว่า เนื่องมาจากบริษัทอิตาเลียนไทยได้รับสัมปทานก่อกสร้างโครงการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายช่วงหมอชิต -สะพานใหม่ – คูคต โดยเมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ได้มีการตัดต้นไม้บริเวณหน้ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 14 ต้น อย่างผิดวิธี และไม่ได้มีการขออนุญาตในการตัดจากกรุงเทพมหานคร ถือว่าเป็นการกระทำขัดต่อ พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของเมือง 2535 พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม 2535 รวมถึง รัฐธรรมนูญหลายมาตรา
นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ในการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงบางซื่อ- รังสิต ก็มีตัดและล้อมย้ายไม่เป็นไปตามหลักวิชาการ ทำให้เกิดความเสียหาย และเมื่อนำไปแล้วก็ไม่มีการบำรุงรักษา จนต้นไม้ทยอยยืนแห้งตาย ประกอบกับไม่มีความชัดเจนว่า เมื่อก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าแล้วเสร็จ จะมีการนำต้นไม้เดิมกลับมาปลูก หรือปลูกอื่นทดแทนในจำนวนเท่าเดิม ก่อนการก่อสร้างหรือไม่ จึงเห็นว่าการดำเนินการดังกล่าว อาจจะส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนเป็นอย่างมาก จึงต้องฟ้องต่อศาลปกครอง
ด้าน น.ส.ช่อผกา กล่าวว่า ก่อนหน้านี้เครือข่ายต้นไม้ในเมืองได้เคยร้องเรียนเรื่องการตัดต้นไม้ผิดวิธี ในโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายอื่น ๆ ไปยังกรุงเทพมหานคร จนเกิดการนำนักวิชาการด้านการล้อมต้นไม้ มาให้ความรู้กับผู้รับเหมาก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าทุกราย แต่เพียง 2 เดือนถัดมา บริษัทอิตาเลียนไทย ก็ตัดต้นไม้ผิดวิธีที่หน้ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จึงจำเป็นต้องยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง เพื่อให้อำนาจศาลคุ้มครองต่อการกระทำหรือการใช้อำนาจของ รฟม. และบริษัทอิตาเลียนไทย .- สำนักข่าวไทย