ศูนย์สิริกิติ์ 9 ก.ค.- “ทักษิณ” รันทุกวงการ! ผุด ThaiWORKS ต่อยอด OTOP ไทยคอลแลปส์แบรนด์ชั้นนำระดับโลก ไกด์ วธ.-อุตฯ จับมือดัน SMEs เผยก่อนหน้า “มหาดไทย” ไม่ร่วมมือ แนะ วธ.แลกเปลี่ยน วธ.ตปท.ฉายหนังไทย เหน็บ! ไทยเก่งนิยายการเมืองน้ำเน่า – วอนคนไทยสามัคคี-ไม่อิจฉา ดันซอฟต์พาวเวอร์ทำเงิน – รอ “อิ๊งค์” กลับมาดันงานต่อ
นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โชว์วิสัยทัศน์ในหัวข้อ ”Crafting the Future: From OTOP to ThaiWORKS and Beyond” ภายในงาน ”Splash – Soft Power Forum 2025” ระหว่างวันที่ 8-11 กรกฎาคม 2568 ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ภายใต้ความร่วมมือระหว่างกระทรวงวัฒนธรรม กรมส่งเสริมวัฒนธรรม คณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ คณะกรรมการพัฒนาและอนุกรรมการทุกสาขา รวมถึงภาครัฐ เอกชน ชุมชน และเครือข่ายนานาชาติ ที่ร่วมกันจัดขึ้น โดยได้เล่าย้อนถึงการก่อตั้งพรรคไทยรักไทย คิดใหม่ ทำใหม่ ตาดูดาวเท้าติดติดว่า การคิดใหม่ทำใหม่ เพราะวิกฤตเศรษฐกิจในอดีต ประเทศไทยตามไม่ทันโลก อยู่กับปรากฏการณ์เดิม ๆ แต่โลกเปลี่ยนไปมาก ส่วนตาดูดาวเท้าติดดินนั้น ตัดฝัน และมองไปให้ไกล แต่ไม่ลืมรากเหง้าของตนเอง รากเหง้าต้องยึดให้แน่น
นายทักษิณ ยังกล่าวถึงนโยบายหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ในอดีตว่า เนื่องจาก มีคนญี่ปุ่นคนหนึ่งที่มาเล่านโยบาย “หนึ่งหมู่บ้าน หนึ่งผลิตภัณฑ์” ที่ประเทศญี่ปุ่น และตนเองก็เติบโตมาจากร้านชินวัตรไหมไทย ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น ดังนั้น ถ้ามีการออกแบบใหม่ มีการตลาดดี ๆ แพคเกจจิ้งดี ๆ ก็สามารถไปไกลได้มากกว่านั้น และให้ชาวบ้านมีส่วนร่วม และมีรายได้ จึงนำต้นแบบของญี่ปุ่นมาเป็นต้นแบบ รวมกับภูมิปัญญาชาวบ้านของไทย ที่สามารถประยุกต์ได้ รัฐบาลจึงให้หน่วยงานของญี่ปุ่นมาสนับสนุน และใช้ข้าราชการกระทรวงอุตสาหกรรม มหาดไทย และพาณิชย์มาสนับสนุน จึงประสบความสำเร็จ โดยปีแรกมียอดจำหน่ายถึง 200 ล้าน จนสามารถส่งออกไปประเทศญี่ปุ่นได้ แต่ก็จะต้องเตรียมแผนการต่อสู้กับโลกในอนาคต เพราะอดีตการศึกษาไทยยังมีปัญหา และโครงสร้างการเมืองที่เป็นหน่วยงานใคร หน่วยงานมัน ทั้งที่จุดแข็งเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ก็ยังสามารถจำหน่ายได้ และจะเป็นจุดแข็งของไทย ที่สามารถพัฒนาได้


นายทักษิณ ยังเล่าว่า สมัยที่ตนเองไปอยู่เมืองนอก ได้เจอกับนายปีเตอร์ อาร์แนลล์ นักออกแบบ และผู้บริหารแบรนด์ชาวอเมริกัน นักเขียน ช่างภาพ และผู้ก่อตั้ง Arnell Group จึงได้ชักชวนมาเริ่มต่อยอดงานโอท็อปของไทย ในนาม ThaiWORKS โดยมีโอท็อปเป็นฐาน และสินค้าของ SMEs ประกอบ ซึ่งตนเห็นว่า การสร้างแบรนด์ มีความสำคัญ เพื่อให้สินค้าไปสู่สากล แต่ก็ต้องใช้งบประมาณมาก ดังนั้น จึงได้ให้ชาวบ้านให้แบรนด์ Thailand ร่วมกัน เพื่อธุรกิจแข็งแรงแล้ว ก็สามารถสร้างแบรนด์ของตนเองได้ และให้มีร้านค้าในต่างประเทศ เสมือนเป็นโชว์รูมสินค้าไทย จนกระทั่งสถานการณ์ทางการเมืองไทย เริ่มวุ่นวาย ทำให้การเมืองสาระ ต้องสะดุดเป็นช่วง ๆ หรือแม้แต่สมัยที่นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีดำรงตำแหน่ง ตนเองก็ยังคงดำเนินการศึกษาต่อยอดไทยเวิร์ค ร่วมกับนายปีเตอร์ จนเริ่มเห็นเป็นรูปธรรม กระทั่งก็ถูกรัฐประหารอีก ซึ่งไม่ว่า ตนเองเป็นรัฐบาล หรือไม่ได้เป็นรัฐบาล ก็ไม่ได้ยุติการดำเนินการศึกษาพัฒนา เพื่อให้เกิดเป็นวิสาหกิจของชุมชน โดยใช้งบประมาณของตนเองในการศึกษาพัฒนา
ส่วนที่ปัจจุบันคนรุ่นใหม่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับงานศิลปหัตถกรรมนั้น นายทักษิณ เห็นว่า จะต้องรีบทำให้สินค้า หรือรูปแบบของไทย สามารถทำเงินได้ เพื่อให้เด็กรุ่นใหม่ใน GenZ ที่ห่วงสถานะทางการเงิน หากไม่สามารถหากรายได้ได้ก็ทิ้ง แต่ถ้าทำเงินได้ ก็จะอยู่กับงานศิลป์ ดังนั้น จะต้องทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัว เพื่อให้ประชาชนสามารถซื้อ-ขายได้ ดังนั้น การแก้ปัญหาเศรษกิจปัจจุบัน จะต้องเร่งแก้ไข เพื่อให้งานโอท็อปเดินหน้าได้ เมื่อสามารถขายได้ คนรุ่นใหม่ก็จะกลับมาให้ความสำคัญ
นายทักษิณ ยังขอให้รัฐบาลเอาจริงเอาจังต่อนโยบายนี้ เพราะรัฐบาลเอาจริงเอาจัง ข้าราชการก็จะให้ความร่วมมือ อย่างกระทรวงมหาดไทย ที่ก่อนหน้านี้ไม่เคยให้ความร่วมมือมาก่อน เมื่อวันนี้ กระทรวงมหาดไทยให้ความร่วมมือ ในการนำนโยบายไปสู่ท้องถิ่นและหมู่บ้านแล้ว นโยบายซอฟต์พาวเวอร์ ซึ่งเป็นนโยบายที่เป็นมูฟเมนท์ เมื่อนโยบายได้ขับเคลื่อนไปสู่ชุมชนก็จะเกิดมูฟเมนท์ รวมถึงภาคเอกชน และภาครัฐ ก็จะต้องพูดคุยกัน เพื่อนำไทยเวิร์คไปช่วยเหลือชุมชน เพื่อนำสินค้าไปสู่ตลาด
นาสทักษิณ ยังกล่าวถึงการใช้เศรษฐกิจดิจิทัลมาสนับสนุน ThaiWORKS ว่า ปัจจุบัน AI มีความเก่ง จนตนกังวลว่า คนไทยจะไม่ยอมตามให้ทัน เช่น ChatGPT ก็สามารถให้ช่วยออกแบบชิ้นงานได้ หรือแม้แต่การให้ช่วยวางแผนท่องเที่ยวต่างประเทศ ซึ่งนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ได้มาปรึกษาอยากจะจัดเทรนนิ่งให้กับประชาชน เมื่อผ่านการเทรนแล้วก็ให้เหรียญ Token เพื่อไปซื้ออัพเกรด ChatGPT หรือ DeepSeek เพื่อมาช่วยในการออกแบบสร้างสรรค์ ทั้งการออกแบบ และการทำการตลาดได้ ทำให้สามารถนำเทคโนโลยีไปใช้ประโยชน์ได้ เพื่อนำอัตลักษณ์ของไทยไปสู่โลกให้ได้
ส่วนการนำแผน ThaiWORKS ไปดำเนินการให้เป็นรูปประธรรมนั้น นายทักษิณ เปิดเผยว่า ในวันพรุ่งนี้ (10 ก.ค.) นายปีเตอร์จะมาสรุปแผนการต่อยอดงานโอท็อปของไทย ในนาม ThaiWORKS ให้ตนทั้งหมด และตนจะแยกว่า สิ่งใดควรจะลงหมู่บ้าน หรือชุมชน และให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และกระทรวงอุตสาหกรรม มาช่วยดำเนินการ ดังนั้น การดำเนินการของ ThaiWORKS จะดำเนินการ 2 ระดับในประเทศ แต่ในระดับนานาชาตินั้น ตนจะให้นายปีเตอร์ มาช่วยดำเนินการ เนื่องจาก มีความรู้ความเชี่ยวชาญ แต่ทั้งนี้ ก็จะต้องรอให้นางสาวแพทองธาร สามารถกลับไปปฏิบัติหน้าที่ได้ก่อน ซึ่งตนก็เป็นคนใจร้อน อยากจะรีบดำเนินการ เพราะตนเองก็อายุ 76 ปีแล้ว
ส่วนภาพยนตร์ไทย ที่ในปีที่ผ่านมาภาพยนตร์ไทยเติบโต สามารถทำเงินได้มากกว่าภาพยนตร์ต่างประเทศที่ถ่ายทำในไทย ดังนั้น ภาพยนตร์ไทยควรจะเติบโตอย่างไร เพื่อผนวกซอฟต์พาวเวอร์อื่น ๆ ไปด้วยกันนั้น นายทักษิณ ระบุว่า อดีตทั้งไทย มีทั้งภาพยนตร์แบบหยาบ และแบบดี ซึ่งตนก็เคยผ่านประสบการณ์การผลิตภาพยนตร์มาก่อน ซึ่งสามารถขอสินค้าจากธนาคารได้ยากมาก เพราะความประสบความสำเร็จยาก และภาพยนตร์ไทยในยุคหลัง ที่มีผู้ที่ศึกษาด้านนี้โดยตรงเข้ามาผลิต ทำให้มีระบบขึ้น หากสามารถหากลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจนได้มากขึ้น การผลิตภาพยนตร์ ก็จะประสบความสำเร็จ สามารถไปฉายได้หลายประเทศมากขึ้นจากเทคโนโลยี AI ดังนั้น กระทรวงวัฒนธรรมไทย จะต้องไปเจรจาร่วมกับกระทรวงวัฒนธรรมอื่น ๆ เพื่อแลกเปลี่ยนการฉาย และบทหนังไทยก็เป็นที่นิยมในฮอลิวูด นำไปแปลภาษา เพราะคนไทยเขียนบทละครเก่ง โดยเฉพาะการเมือง ที่นิยายน้ำเน่าเยอะมาก ดังนั้น ถ้ารัฐช่วยสนับสนุน โดยเฉพาะกับประสานกับสถาบันการเงิน ก็จะช่วยให้หนังไทยโตได้ และให้ความสำคัญกับตลาดจีน และอินเดีย เพื่อให้มีตลาดมากขึ้น
นายทักษิณ ยังเปิดเผยด้วยว่า บางกอกแฟชั่นวีคกำลังจะกลับมา พร้อมเห็นว่า เมืองไทย ควรมีทุกอย่างที่ในโลกฟุ่มเฟือยควรมี แต่ไทยตามไม่ทัน แต่สามารถซื้อทัน แต่สร้างไม่ทัน ดังนั้น ต้องสร้างให้ทัน เพราะกำลังซื้อของคนไทยตกลงไปมาก ดังนั้น วันนี้ประเทศไทยจะต้องแก้ปัญหาอะไรอีกมาก
นายทักษิณ ยังฝากไปถึงเอกชนที่เป็นส่วนหนึ่งในการร่วมขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ ว่า ตนเองยังเชื่อมั่นในเครือข่าย ที่จะต้องมีบริษัทใหญ่ และบริษัทเล็ก ๆ สนับสนุน หากบริษัทเล็ก ๆ สามารถเข้าถึงประชาชนได้มากเท่าไร รัฐบาลก็สามารถสนับสนุนได้มากเท่านั้น เพราะสร้างงาน และสร้างอาชีพให้กับประชาชนได้ เช่น CP ที่มีร้านเซเว่นทั่วประเทศ
ส่วนมองซอฟต์พาวเวอร์ประเทศไทยอย่างไร จะเป็นเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจของไทยตัวใหม่ได้หรือไม่นั้น นายทักษิณ เห็นว่า ความไม่สามัคคี และความอิจฉา เป็นปัญหาใหญ่ของไทย ถ้าไม่มีปัญหาเหล่านี้และเกื้อกูลกัน ซอฟต์พาวเวอร์ คือพลังมหาศาล ที่มากกว่าฮาร์ดพาวเวอร์ เพราะนิสัยคนไทย มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ และมีวัฒนธรรมที่ดี เมื่อรวมกันแล้วสามารถสร้างพลังซอฟต์พาวเวอร์ได้หลายสาขา เป็นช่องทางทำเงิน แม้โลกจะมีเทคโนโลยีสมัยใหม่ก็หนีซอฟต์พาวเวอร์ไม่ได้ เพราะจะต้องใช้เศรษฐกิจสร้างสรรค์ และไม่สามารถทิ้งรากเหง้าเดิม ๆ ได้ ดังน้น เมื่อประเทศไทยมีของดีอยู่แล้ว ก็นำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ แต่ปัญหาของประเทศไทยคือ เมื่อสร้างขึ้นมาแล้วเริ่มมีคนเติบโต ก็เกิดความอิจจา จึงจะต้องทิ้งความอิจฉาลง หรือเข้าวัดบ้าง
ทั้งนี้ ในระหว่างการกล่าวโชว์วิสัยทัศน์ นายทักษิณ ได้กล่าวไปถึงนางสาวแพทองธาร ว่า นายกรัฐมนตรี จึงทำให้นายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี ประธานคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ที่ทำหน้าที่ดำเนินรายการ ต้องช่วยแก้ว่า เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม-313 -สำนักข่าวไทย