ทำเนียบ วันนี้ ( 27 พ.ค.) นายอนุกูล พฤกษานุศักดิ์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบต่อ ร่างแถลงการณ์การประชุมรัฐมนตรีกลุ่มเคร์นส์ ครั้งที่ 44 ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องปรับปรุงสารัตถะหรือถ้อยคำของ ร่างแถลงการณ์ฯ ข้างต้น ในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทย ขอให้กระทรวงพาณิชย์สามารถดำเนินการได้โดยไม่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีก รวมทั้งอนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์หรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ร่วมรับรอง ร่างแถลงการณ์ฯ ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ จะมีการรับรอง ร่างแถลงการณ์ฯ โดยไม่มีการลงนาม ในการประชุมรัฐมนตรีกลุ่มเคร์นส์ ครั้งที่ 44 ซึ่งกำหนดจัดขึ้นในวันที่ 2 มิถุนายน 2568 ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส]
นายอนุกูล กล่าวว่า การประชุมรัฐมนตรีกลุ่มเคร์นส์ (Cairns Group Ministerial Meeting) มีความสำคัญในฐานะเวทีที่สร้างแรงสนับสนุนทางการเมืองเพื่อเสริมสร้างระบบการค้าสินค้าเกษตรโลกให้เป็นไปอย่างเสรีและเป็นธรรม ผ่านการปฏิรูปการค้าสินค้าเกษตรภายใต้องค์การการค้าโลก (World Trade Organization: WTO) โดยการรวมกลุ่มของประเทศผู้ส่งออกสินค้าเกษตรเป็นหลัก จำนวน 20 ประเทศสมาชิก โดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติ (20 กุมภาพันธ์ 2567) เห็นชอบในหลักการต่อร่างแถลงการณ์ของการประชุมรัฐมนตรีกลุ่มเคร์นส์ ครั้งที่ 43 ซึ่งสนุนการปฏิรูปการค้าสินค้าเกษตรและความมั่นคงทางอาหารและให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์หรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมาย เข้าร่วมรับรองร่างแถลงการณ์ดังกล่าว
สำหรับการประชุมรัฐมนตรีกลุ่มเคร์นส์ ครั้งที่ 44 กำหนดจัดขึ้นในวันที่ 2 มิถุนายน 2568 ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส โดยที่ประชุมจะมีการรับรอง ร่างแถลงการณ์ฯ ซึ่งเป็นการแสดงเจตนารมณ์ทางการเมืองร่วมกันของประเทศสมาชิก โดยไม่มีถ้อยคำหรือบริบทที่ทำให้เกิดพันธกรณีภายใต้บังคับของกฎหมายระหว่างประเทศ และไม่มีการลงนามในขั้นตอน
โดยร่างแถลงการณ์ฯ มีสาระสำคัญสรุปได้ เช่น (1) เน้นย้ำถึงความสำคัญของระบบการค้าพหุภาคีที่ยึดถือกฎเกณฑ์ทางการค้าเป็นพื้นฐานสำคัญ และให้ความสำคัญต่อการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ทางการค้า ภายใต้ WTO เพื่อรักษาระบบการค้าที่มีเสถียรภาพและคาดการณ์ได้
(2) เสริมสร้างความเป็นธรรมและยกระดับความสามารถในการแข่งขันด้านการค้าสินค้าเกษตร ผ่านการปฏิรูปการค้าสินค้าเกษตรที่ครอบคลุมทุกประเด็น ซึ่งกำหนดไว้ตามมาตรา 20 ของความตกลงเกษตร รวมถึงการสร้างความคืบหน้าในประเด็น 3 เสาหลัก ภายใต้ความตกลงเกษตร คือ การเปิดตลาด การอุดหนุนภายใน และการแข่งขันการส่งออก เพื่อให้กระบวนการปฏิรูปมีความก้าวหน้าและสมดุล
“เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศหรือองค์การระหว่างประเทศหรือองค์การระหว่างประเทศที่มีผลผูกพันรัฐบาลไทย จึงเข้าข่ายเรื่องที่เสนอคณะรัฐมนตรีได้ตามนัยมาตรา 4 (9) แห่งพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการเสนอเรื่องและการประชุมคณะรัฐมนตรี พ.ศ. 2548 ประกอบกับกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ และ สคก. เห็นว่าร่างแถลงการณ์ดังกล่าวไม่เป็นสนธิสัญญาตามกฎหมายระหว่างประเทศและไม่เป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย” นายอนุกูล กล่าว .-สำนักข่าวไทย