ทำเนียบ 8 เม.ย.-ครม. รับทราบมติที่ประชุม คกก.นโยบายยานยนต์ไฟฟ้าเเห่งชาติ และเห็นชอบมาตรการสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ตามที่ คณะกรรมการนโยบายยานยนต์แห่งชาติ เสนอ
นางสาวศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบและเห็นชอบมาตรการสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ตามที่คณะกรรมการนโยบายยานยนต์แห่งชาติได้เสนอ เพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของไทย ซึ่งมีสาระสำคัญ ดังนี้
1)ครม. รับทราบมติการประชุมคณะกรรมการนโยบายฯ ครั้งที่ 1/2567 เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2567
2)เห็นชอบ มาตรการสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (มาตรการสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านฯ) พร้อมมอบหมายหน่วยงาน ได้แก่ 2.1 สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (สกท.) รับผิดชอบการตรวจสอบและรับรองการปฏิบัติตามเงื่อนไขมาตรการสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านฯ ด้านการลงทุน 2.2 กรมสรรพสามิตดำเนินการออกประกาศที่เกี่ยวข้องและนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป และ 2.3 กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) กำหนดวิธีปฏิบัติและค่าธรรมเนียมที่เหมาะสมในการตรวจสอบและรับรองการปฏิบัติตามเงื่อนไขของมาตรการสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านฯ ในด้านระดับการปล่อย CO2 การใช้ชิ้นส่วนสำคัญที่ผลิตและประกอบในประเทศไทย และการติดตั้งระบบด้านความปลอดภัย
3)เห็นชอบการขยายเวลาการผลิตชดเชยตามมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV3) (มาตรการ EV3) พร้อมมอบหมายหน่วยงาน ได้แก่ 3.1 เห็นชอบการปรับปรุงเงือนไขมาตรการ EV3 โดยให้ผู้เข้าร่วมมาตรการ EV3 ที่ไม่สามารถผลิตชดเชยได้ครบตามเงื่อนไขที่กำหนดสามารถขยายเวลาผลิตชดเชยตามมาตรการ EV3 ไปผลิตชดเชยภายใต้เงื่อนไขมาตรการ EV3.5 ได้ โดยผู้เข้าร่วมมาตรการดังกล่าวต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนด และ/หรือ ให้ส่งออกรถยนต์ไฟฟ้าสำเร็จรูป (Completely Built Up: CBU) ที่นำเข้าสำเร็จภายใต้มาตรการ EV3 ไปยังต่างประเทศโดยไม่นับเป็นยอดที่ต้องผลิตชดเชย และมอบหมายให้กรมสรรพสามิตดำเนินการออกกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องและนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป
รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สำหรับมาตรการสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านฯ โดยการปรับอัตราภาษีสรรพสามิตสำหรับรถยนต์แบบไฮบริด (HEV) และรถยนต์ Mild Hybrid Electric Vehicle (MHEV) ซึ่งจะปรับอัตราภาษีสรรพสามิตสำหรับรถยนต์นั่งและรถยนต์โดยสารที่มีที่ นั่งไม่เกิน 10 คน แบบ HEV และ MHEV ในช่วงระยะเวลาระหว่างปี 2569 – 2575 กำหนดให้ผู้ที่ประสงค์จะรับสิทธิดังกล่าวต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขก่อนที่จะได้รับสิทธิอัตราภาษีสรรพสามิตตามมาตรการสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านฯ อาทิ
-รถยนต์ประเภท HEV: ระดับการปล่อย CO2 ไม่เกิน 100 กรัม/กิโลเมตร ให้ได้รับอัตราภาษีสรรพสามิตร้อยละ 6 และระดับการปล่อย CO2 เกิน 100 กรัม/กิโลเมตร แต่ไม่เกิน 120 กรัม/กิโลเมตร ให้ได้รับอัตราภาษีสรรพสามิตร้อยละ 9
-รถยนต์ประเภท MHEV: ระดับการปล่อย CO2 ไม่เกิน 100 กรัม/กิโลเมตร ให้ได้รับอัตราภาษีสรรพสามิตร้อยละ 10 และระดับการปล่อย CO2 เกิน 100 กรัม/กิโลเมตร แต่ไม่เกิน 120 กรัม/กิโลเมตร ให้ได้รับอัตราภาษีสรรพสามิตร้อยละ 12
ในส่วนของการพิจารณาข้อเสนอการขยายเวลาการผลิตชดเชยตามมาตรการ EV3 ซึ่งมีเงื่อนไขว่า ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมมาตรการ EV3 จะต้องผลิตรถยนต์หรือรถโดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน และรถจักรยานยนต์เพื่อชดเชยการนำเข้าในอัตราส่วน 1:1 (นำเข้า 1 คัน ผลิต 1 คัน) ภายในปี 67 หรือ 1:1.5 เท่า (นำเข้า 1 คัน ผลิต 1.5 คัน) ภายในปี 68 ซึ่งคณะกรรมการนโยบายฯ พิจารณาแล้วเห็นว่า การขยายระยะเวลาช่วยลดผลกระทบแก่อุตสาหกรรมยานยนต์ในภาพรวม สอดคล้องกับสถานการณ์ตลาดรถยนต์ในประเทศและป้องกันปัญหาสงครามราคา จึงเห็นชอบการปรับปรุงเงื่อนไขมาตรการกรณีผู้เข้าร่วมมาตรการ EV3 ไม่สามารถผลิตชดเชยได้ครบตามเงื่อนไขที่กำหนด
ด้านการพิจารณาข้อเสนอการขยายเวลาการนับมูลค่าของเซลล์แบตเตอรี่ที่นำเข้าจากต่างประเทศในการคำนวณมูลค่าเพิ่มในประเทศ ผู้ประกอบการรถยนต์ไฟฟ้าขอให้มีการพิจารณาขยายกรอบระยะเวลามาตรการสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งมีผลบังคับใช้ระหว่างปี 2565 – 2568 โดยให้นับมูลค่าของเซลล์แบตเตอรี่จากต่างประเทศสำหรับการนำมาผลิตเป็นแบตเตอรี่และนำไปผลิตหรือประกอบเป็นรถยนต์ไฟฟ้า (BEV) ในเขตปลอดอากร (Free Zone) หรือเขตประกอบการเสรี รวมเป็นต้นทุนการผลิตที่เกิดขึ้นในประเทศสำหรับการคำนวณมูลค่าเพิ่มในประเทศได้ไม่เกินร้อยละ 15 ของราคายานยนต์ไฟฟ้า (BEV) หน้าโรงงาน จากเดิม สิ้นสุดภายในปี 2568 เป็น ให้สิ้นสุดภายในปี 2570 ซึ่งคณะกรรมการนโยบายฯ พิจารณาแล้วเห็นควรไม่ขยายระยะเวลาดังกล่าวเพื่อเร่งให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมผลิตเซลล์แบตเตอรี่ในประเทศไทยและเป็นปัจจัยสนับสนุนในการชักจูงผู้ผลิตแบตเตอรี่ไฟฟ้าให้มาลงทุนในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น
ทั้งนี้ การกำหนดมาตรการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยจะทำให้มีการเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมยานยนต์ทั้งระบบไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าสามารถรักษาฐานการผลิตยานยนต์ของประเทศไทยให้สอดรับกับทิศทางการพัฒนาเทคโนโลยียานยนต์แห่งอนาคต และความต้องการของตลาดยานยนต์ในประเทศและต่างประเทศ สร้างความสามารถในการแข่งขัน เพื่อยกระดับศักยภาพในหลากหลายมิติ ควบคู่กับการขยายโอกาสของประเทศไทยในเวทีโลก เพื่อให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนที่สำคัญของโลกและดำเนินการให้เป็นไปตามเป้าหมายการผลิตและการใช้ยานยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ (Zero Emission Vehicle: ZEV) ในปี 2573.-314.-สำนักข่าวไทย