กทม. 29 มี.ค.-ผู้ว่าฯ ชัชชาติ พร้อม “อนุทิน” ตรวจจุดเครนถล่มใกล้ทางด่วนฯ ดินแดง คาดใช้เวลา 2 วัน นำชิ้นส่วนเครนที่ติดอยู่กับอาคารลงมาได้หมด ย้ำต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของประชาชนเป็นหลัก
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นางสาวจิราพร สินธุไพร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พร้อมเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ได้มาดูยังจุดเกิดเหตุเครนถล่มชิ้นส่วนร่วงใส่ทางด่วนพิเศษดินแดง ในระหว่างนั้นได้มีการพูดคุยประเมินสถานการณ์ ก่อนที่นายชัชชาติ จะให้สัมภาษณ์ว่า การนำเศษซากของเครนลงมาจากตัวอาคารเป็นหน้าที่ของบริษัทผู้รับเหมาที่ต้องดำเนินการ โดย กทม.ได้ตั้งคณะกรรมการจากหน่วยงานราชการเข้ามาช่วยดูแล และจะมีการบูรณาการร่วมกันจาก กทม., การทางพิเศษฯ และวิศวกรรมสถาน เป็นคณะทำงานเพื่อช่วยให้คำแนะนำ ส่วนตัวคิดว่าหลักการจัดการคือต้องตัดชิ้นส่วนเครนออกเป็นท่อน และโรยชิ้นส่วนลงมา ส่วนระยะเวลาจะเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จเร็วที่สุด
ผู้สื่อข่าวถามว่า ระยะเวลาในการเปิดทางด่วนขึ้น-ลง ดินแดง คาดว่าใช้เวลากี่วัน นายชัชชาติ ระบุว่า ขอให้รอเจ้าหน้าที่ทำการสำรวจชิ้นส่วนเครนที่ติดอยู่กับอาคารก่อน คาดว่าหากทุกอย่างเป็นไปตามแผนการจัดการ ภายใน 2 วันน่าจะแล้วเสร็จ แต่หากมีอุปสรรคก็จะใช้เวลานานขึ้น และมองว่าความปลอดภัยเป็นสิ่งสำคัญที่สุด หากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดขึ้น จะทำให้ต้องซ่อมแซมทางด่วนอีกมาก และย้ำว่าต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของประชาชนเป็นหลัก
ด้านนายอนุทิน กล่าวว่า กรณีอาคาร สตง.ที่ถล่ม เป็นอาคารของทางราชการ ไม่ควรโทษ กทม. เพราะอาคารของราชการไม่ต้องขออนุญาต กทม.ในการก่อสร้าง มีแต่การแจ้งเพื่อทราบเท่านั้น เพราะการออกแบบก่อสร้างมีหน่วยงานที่กำกับดูแลอยู่แล้ว ที่จะต้องไปสืบหาข้อเท็จจริงว่าวิธีการก่อสร้างถูกต้องตามแบบแปลนโครงการหรือไม่ และสืบหาข้อเท็จจริงถึงเหตุผลที่อาคารถล่ม ทั้งๆ ที่เป็นอาคารก่อสร้างใหม่ เมื่อเทียบกับอาคารเก่า 30-40 ปีไม่มีความเสียหายเลย ส่วนนี้ต้องเข้าไปดูวิธีการก่อสร้าง “อย่าเพิ่งไปกดดัน กทม. อันนี้ต้องขอความเป็นธรรม”
ผู้สื่อข่าวถามอีกว่า ความยากที่สุดของการจัดการคืออะไร นายชัชชาติ กล่าวว่า ชิ้นส่วนเครนไม่เสถียร ต้องมีการวางแผนกันอย่างรอบคอบเพราะไม่รู้ว่าจุดที่ยึดกับตึกยึดด้วยอะไร และเครนเป็นอุปกรณ์ก่อสร้างชั่วคราวไม่แข็งแรง หากเกิดแผนดินไหวก็เป็นไปได้ที่จะหัก นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี และรองนายกรัฐมนตรี ได้ประชุมสั่งการให้ กทม. 6 ข้อ คือ
1.จัดการดำเนินงานศูนย์บัญชาการส่วนหน้าที่จตุจักร
2.เรื่องการสื่อสาร โดยเฉพาะกับต่างประเทศ
3.เรื่องการตรวจสอบอาคาร โดยเฉพาะอาคารขนาดสูง และขนาดใหญ่ โดยจะดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ ด้วยตัวเอง
4.เรื่องการเยียวยาผู้เสียหายตามกฎหมาย
5.เรื่องการตรวจสอบอาคารที่ถล่ม
6.การขอความช่วยเหลือจากรัฐบาลอิสราเอล ในการส่งเครื่องตรวจเอกซเรย์ผู้บาดเจ็บที่ติดค้างอยู่ในจุดเกิดเหตุ เบื้องต้นเครื่องจะมาถึงคืนนี้ นอกจากนี้ยังมีอีกหลายประเทศยื่นมือเข้ามาช่วย.-420.-สำนักข่าวไทย