ศาลรัฐธรรมนูญ 15 ม.ค.- ศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้องอดีตสมาชิกก้าวไกลอ้างถูก “กกต.-นักร้อง-พรรคการเมือง” ละเมิดสิทธิเสรีภาพ เหตุไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์ที่จะรับพิจารณา
ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์มีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย ในคดีที่นายวินิจ จินใจ ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 ว่า การกระทำของนายทะเบียนพรรคการเมือง ผู้ถูกร้องที่ 1 คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)ผู้ถูกร้องที่ 2 นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ผู้ถูกร้องที่ 3 นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ผู้ถูกร้องที่ 4 นายสนธิญา สวัสดี ผู้ถูกร้องที่ 5 พรรคพลังประชารัฐ ผู้ถูกร้องที่ 6 และพรรคภูมิใจไทย ผู้ถูกร้องที่ 7 ที่ดำเนินการต่อพรรคก้าวไกล เป็นการละเมิดสิทธิและเสรีภาพของผู้ร้องในฐานะอดีตสมาชิกพรรคก้าวไกล ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขัดหรือแย้ง ต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 มาตรา 4 มาตรา 5มาตรา 25และมาตราอื่น ๆ หรือไม่
โดยศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้ว เห็นว่า ข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารประกอบคำร้อง ไม่ปรากฏว่านายวินิจ ถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพและได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายจากการถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพ โดยตรงจากการกระทำของนายทะเบียนพรรคการเมือง และ กกต.อย่างไร เป็นเพียงการแสดงความคิดเห็นของนายวินิจในฐานะอดีตสมาชิกพรรคก้าวไกลที่เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของนายทะเบียนพรรคการเมือง และกกต.เท่านั้น กรณีไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ 2561 มาตรา 46 วรรคหนึ่ง ดังนั้น ผู้ร้องไม่อาจยื่นคำร้องดังกล่าวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213
ส่วนที่นายวินิจ กล่าวอ้างว่า การกระทำของผู้ถูกร้องที่ 3 ถึงผู้ถูกร้องที่ 7 เป็นการกระทำละเมิดสิทธิ หรือเสรีภาพของนายวินิจนั้น ผู้ถูกร้องที่ 3 ถึงผู้ถูกร้องที่ 7 มิใช่หน่วยงานของรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือหน่วยงาน ซึ่งใช้อำนาจรัฐ การกระทำของผู้ถูกร้องดังกล่าวมิใช่การกระทำของหน่วยงานของรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือหน่วยงานซึ่งใช้อำนาจรัฐ กรณีไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ 2561 มาตรา 47 ซึ่งมาตรา 46 วรรคสาม บัญญัติให้ ศาลรัฐธรรมนูญสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณา ดังนั้นนายวินิจไม่อาจยื่นคำร้องดังกล่าวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 .314.-สำนักข่าวไทย