ป.ป.ช. 27 ธ.ค.- ป.ป.ช. แจงอดีตเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. ที่มีพฤติกรรมเรียกรับเงินจากผู้ถูกกล่าวหา ไม่ได้เข้ามาเกี่ยวข้องกับภารกิจสำนักงาน ป.ป.ช. หรือมาช่วยงานกรรมการตั้งแต่ปี 2563 หลังถูกไล่ออกและถูกดำเนินคดีแล้ว
นายสาโรจน์ พึงรำพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. เปิดเผยถึงกรณีที่สื่อนำเสนอข่าวเกี่ยวกับอดีตเจ้าหน้าที่สำนักงาน ป.ป.ช. ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งพนักงานไต่สวน ระดับสูง มีความสนิทสนมกับกรรมการ ป.ป.ช. และได้รับการแต่งตั้งให้เป็นคณะอนุกรรมการกลั่นกรองเรื่องกล่าวหาประจำภาค มีพฤติกรรมเรียกรับเงินจากผู้ถูกกล่าวหา ซึ่งปัจจุบันเจ้าหน้าที่คนดังกล่าวถูกไล่ออกจากราชการ ถูกดำเนินคดีอาญา แต่ยังมีพฤติกรรมเข้า-ออกภายในสำนักงาน ป.ป.ช. และยังติดตามกรรมการ ป.ป.ช. คนดังกล่าว โดยสำนักงาน ป.ป.ช. ขอชี้แจงว่า กรณีดังกล่าวได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงและพบว่า เจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. มีการกระทำความผิดวินัย จงใจนำข้อมูลเรื่องกล่าวหาที่ได้มาจากการปฏิบัติหน้าที่ตามที่ได้รับการแต่งตั้งและมอบหมายไปเปิดเผย จึงมีคำสั่งพักราชการเจ้าหน้าที่คนดังกล่าว เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2563 ต่อมามีการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยอย่างร้ายแรงและดำเนินคดีทางอาญา ซึ่งจากการสอบสวนวินัย สำนักงาน ป.ป.ช. มีคำสั่งลงวันที่ 28 มิถุนายน 2564 ลงโทษไล่เจ้าหน้าที่สำนักงาน ป.ป.ช. รายดังกล่าวออกจากราชการ เนื่องจากกระทำความผิดวินัยอย่างร้ายแรง โดยให้มีผลย้อนหลังตั้งแต่วันที่มีคำสั่งพักราชการ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 30 พฤศจิกายน 2563
ส่วนการดำเนินคดีอาญาคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดอดีตเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. คนดังกล่าว กรณีร่วมกันเรียกรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด เพื่อเป็นค่าตอบแทนในการช่วยเหลือทางด้านคดีที่อยู่ในความรับผิดชอบของสำนักงาน ป.ป.ช. ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ หรือใช้อำนาจโดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายหรือโดยทุจริต และรู้หรืออาจรู้ความลับในราชการ กระทำด้วยประการใดๆ อันมิชอบ ด้วยหน้าที่ให้ผู้อื่นล่วงรู้ความลับ และเปิดเผยข้อความ ข้อเท็จจริง หรือข้อมูลที่ได้มาเนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 มาตรา 157 และมาตรา 164 ประกอบมาตรา 91 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 172 มาตรา 173 และมาตรา 180 ประกอบมาตรา 183 และประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ซึ่งสำนักงาน ป.ป.ช. ได้ส่งสำนวนการไต่สวน พร้อมเอกสารประกอบให้อัยการสูงสุดพิจารณาดำเนินคดีต่อศาลที่มีเขตอำนาจ เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2567 และต่อมาสำนักงานคดีปราบปรามการทุจริตภาค 1 มีหนังสือแจ้งว่า อัยการสูงสุดได้พิจารณารายงานการไต่สวนข้อเท็จจริงแล้ว เห็นควรรับดำเนินคดีอาญาฟ้องผู้ถูกกล่าวหาในฐานความผิดดังกล่าว และดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 1 แล้ว เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2567
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 30 พฤศจิกายน 2563 ซึ่งเป็นวันที่เจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. คนดังกล่าวถูกพักราชการและถูกไล่ออก จนถึงปัจจุบัน อดีตเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. คนดังกล่าวไม่เคยเข้ามาเกี่ยวข้องกับภารกิจของสำนักงาน ป.ป.ช. หรือมาช่วยงานกรรมการ ป.ป.ช. ตามที่ปรากฏเป็นข่าวแต่อย่างใด .314.-สำนักข่าวไทย