มธ. 10 ธ.ค.-“พริษฐ์” เมินกระแสค้านร่างแก้ไข พ.ร.บ.กลาโหม ย้ำจำเป็นต้องมีกฎหมายต่อกรรัฐประหาร เชื่อถ้าพรรคประชาชน-เพื่อไทย จับมือกันแน่น กฎหมายก็ผ่านวาระแรกได้ ส่วน สว. ตีตกไม่มีผล แค่ยืดเวลาออกไป
นายพริษฐ์ วัชรสินธุ์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน กล่าวถึงกรณีพรรคภูมิใจไทย ไม่เห็นด้วยกับร่างแก้ไข พ.ร.บ.กลาโหม โดยเฉพาะการสกัดการปฏิวัติ ว่าในมุมมองของพรรคประชาชน หรืออดีตพรรคก้าวไกล เกี่ยวกับการแก้ไขกฎหมายดังกล่าว เป็นกุญแจดอกสำคัญในการปฏิรูปกองทัพภายใต้รัฐบาลพลเรือน ตามหลักการประชาธิปไตยและมาตรฐานสากล โดยใจความสำคัญที่พรรคได้เสนอไปคือ การพยายามปรับอำนาจที่มาของสภากลาโหม ซึ่งปัจจุบันมาตรา 43 เขียนไว้ว่าการดำเนินการบางเรื่อง รัฐมนตรีกลาโหมซึ่งเป็นตัวแทนพลเรือน ไม่สามารถตัดสินใจด้วยตนเองได้ แต่ต้องทำตามมติสภากลาโหม ซึ่งมีข้าราชการทหารเป็นหลัก ทั้งนโยบายการทหาร งบประมาณ และการพิจารณากฎหมายเกี่ยวกับทหาร ซึ่งครอบคลุมหลายภารกิจมาก ดังนั้นข้อเสนอของอดีตพรรคก้าวไกล และพรรคประชาชนในปัจจุบัน จึงให้ความสำคัญในเรื่องของโครงสร้างสภากลาโหม โดยการปรับลดอำนาจสภากลาโหม จากที่สามารถมัดมือรัฐมนตรีกลาโหมได้ มาเป็นการให้คำปรึกษาเพื่อประกอบการตัดสินใจให้เกิดความสมดุลกันมากขึ้น ระหว่างทหารกับตัวแทนรัฐบาลพลเรือน
ทั้งนี้ ยืนยันว่า การแก้กฎหมายฉบับนี้มีความสำคัญต่อการปฏิรูปกองทัพ เพื่อให้เป็นกองทัพมืออาชีพ ไม่แทรกแซงการเมืองและเป็นไปตามหลักสากล ซึ่งวันนี้มีอย่างน้อย 2-3 ร่างที่จะเสนอเข้าสู่ โดยเฉพาะร่างของพรรคเพื่อไทยซึ่งใจความของตัวล่างสอดคล้องกับพรรคประชาชน อาจมีรายละเอียดแตกต่างกันบ้างแต่ในภาพรวมคือพยายามปรับให้กองทัพอยู่ภายใต้รัฐบาลพลเรือนมากขึ้น และเข้าใจว่าอาจมีร่างของคณะรัฐมนตรี โดยเป็นสิทธิ์ของแต่ละพรรคการเมืองว่าจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย แต่ถ้าดูตามคณิตศาสตร์ทางการเมืองในสภาผู้แทนราษฎร หากพรรคประชาชนกับพรรคเพื่อไทยจับมือกันแน่น รวมกันแล้วก็มี สส.ถึง 290 คน ก็สามารถผลักดันให้ทุกร่างผ่านความเห็นชอบของสภาได้ ในวาระที่ 1 คือชั้นรับหลักการ จากนั้นค่อยไปถกกันในชั้นกรรมาธิการ จึงเชื่อว่าการที่บางพรรคไม่เห็นด้วย ก็ไม่เป็นอุปสรรค ที่พรรคเพื่อไทยและพรรคประชาชนจะโหวตเห็นชอบในร่างของตัวเอง เพื่อให้ผ่านวาระที่ 1 ไป จึงขอเชิญชวน สส. รัฐบาลร่วมกันโหวต
ส่วนกรณีหากร่างผ่านควาทเห็นชอบจากสภาฯ แต่อาจจะไม่ผ่านในชั้นวุฒิสภานั่น นายพริษฐ์ กล่าวว่า อำนาจของวุฒิสภา ณ ปัจจุบัน ถ้าเป็นการแก้ไขระดับ พ.ร.บ. ไม่สามารถขัดขวางกฎหมายได้ ทำได้มากที่สุดเพียงแค่ชะลอไป 180 วัน เหมือนกฎหมายประชามติ ซึ่งอาจทำให้กรอบระยะเวลาต้องเพิ่มออกไป แต่ถ้าเสียงของสภาเกินกึ่งหนึ่งยืนยันว่าจะแก้ไขร่าง ก็สามารถทำได้
ส่วนการตั้งข้อสังเกตว่าร่างแก้ไข พ.ร.บ.กลาโหม ของพรรคก้าวไกลสุดโต่งเกินไปนั้น นายพริษฐ์ กล่าวว่า ถ้าหากมองว่าสุดโต่ง ต้องตั้งหลักว่าจะไปเปรียบเทียบกับอะไร เพราะสิ่งที่พรรคเสนอเพื่อปรับเปลี่ยนอำนาจของสภากลาโหมเป็นหลัก เพื่อโอนให้อำนาจมาที่รัฐมนตรีกลาโหมซึ่งเป็นตัวแทนของรัฐบาลพลเรือน หากเปรียบเทียบกับมาตรฐานของรัฐบาลสากลก็ถือว่าเป็นปกติ สิ่งที่สุดโต่งมากกว่าก็คือการที่บอกว่ารัฐมนตรีกลาโหมไม่สามารถตัดสินใจ หรือรับผิดชอบเกี่ยวกับการตัดสินใจได้ เพราะต้องฟังเสียงมติสภากลาโหมื พร้อมย้ำว่าถ้าเปรียบเทียบกับมาตรฐานสากลกฎหมายที่เรามีอยู่ ซึ่งเป็นมรดกจากคณะรัฐประหาร 2549 น่าจะเป็นสิ่งที่สุดโต่ง
ส่วนความเห็นของ นายอนุทิน ชาญวีรกูลหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย และ นายวิษณุ เครืองาม อดีตรองนายกฯรัฐมนตรี ที่ต่างให้ความเห็นว่า แม้จะมีกฎหมายออกมา แต่ถึงเวลารัฐประหาร กฎหมายนั้นก็ไม่สามารถควบคุมได้อยู่ดี นายพริษฐ์ มองว่า พรรคประชาชนพูดมาโดยตลอดว่ารัฐประหารไม่ใช่เรื่องง่าย และการแก้ไขกฎหมายใดกฎหมายหนึ่ง ไม่ได้ทำให้ความเสี่ยงเรื่องรัฐประหารถูกจำกัดลงไปอย่างสิ้นเชิง แต่การแก้กฎหมายเป็นการเพิ่มอาวุธและเครื่องมือที่จะทำให้ประชาชนและสถาบันทางการเมืองมีไว้ป้องกันและต่อกรกับรัฐประหาร แต่ขณะเดียวกันก็ต้องมีมาตรการอื่นป้องกันรัฐประหาร นอกเหนือจากกฎหมายด้วย ทั้งนี้ อย่างน้อยก็ควรร่วมมือกันแก้ไขกฎหมาย ให้มีเครื่องมือเพื่อป้องกันต่อต้านรัฐประหาร ก็น่าจะเป็นเรื่องที่ดีกว่า.-314.-สำนักข่าวไทย