รัฐสภา 9 ธ.ค.-เสวนา อนาคตองค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญ นักวิชาการ ชี้ ความท้าทายของการได้มาขององค์กรอิสระที่ชอบธรรม อยู่ที่ประชาชนเป็นผู้กำหนด
นายภราดร ปริศนานันทกุล รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง เป็นประธานเปิดการเสวนาในหัวข้อ“อนาคตองค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญ ” ภายใต้งานรัฐธรรมนูญ ประจำปี 2567 โดยมี รศ.สมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกรรมการการเลือกตั้ง ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) นางอังคณา นีละไพจิตร สมาชิกวุฒิสภาและอดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และรศ.ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก ประธานคณะนิติศาสตร์ วิทยาลัยบัณฑิตเอเซียและอดีตที่ปรึกษาประจำคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ร่วมเป็นวิทยากร
โดยการเสวนาได้กล่าวถึงมิติของการมีองค์กรอิสระและการทำหน้าที่ของศาล ทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ซึ่งการตั้งองค์กรอิสระเกิดขึ้นตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 เพื่อที่จะมีกลไกตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน
โดยรศ.ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก กล่าวว่า ในอดีตเคยมีการโต้เถียงถึงที่มาขององค์กรอิสระ ซึ่งรัฐธรรมนูญ 2540 ได้กำหนดให้สมาชิกวุฒิสภา ต้องมีหน้าที่และอำนาจในการสรรหาองค์กรอิสระ เพราะสมาชิกวุฒิสภาเป็นสภาตรวจสอบ แต่หากจะให้การสรรหาองค์กรอิสระมีความชอบธรรมสมาชิกวุฒิสภาจะต้องแยกออกจากการเป็นพรรคพวกเดียวกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่มาจากรัฐประหาร สมาชิกวุฒิสภามาจากการแต่งตั้ง ดังนั้นหากมองถึงอนาคต ขององค์กรอิสระและศาล จะมีความชอบธรรม และได้บุคคลที่มีคุณสมบัติตรงตามอำนาจหน้าที่ ย่อมขึ้นอยู่กับสถานะและการได้มาของสมาชิกวุฒิสภา และความท้าทายที่จะมีองค์กรอิสระที่สมบูรณ์แบบในอนาคต ก็ต้องขึ้นอยู่กับประชาชนซึ่งเป็นผู้เลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาเข้ามาทำหน้าที่ในรัฐสภา หากประชาชนเลือกผู้แทนฯที่เป็นคนดี เลือกพรรคการเมืองที่ทำประโยชน์ให้กับบ้านเมืองได้จริง ในที่สุดจะไม่ต้องมาโต้เถียงกันว่าได้องค์กรอิสระมีความเหมาะสมหรือไม่ เพราะต้องขึ้นอยู่กับการเลือกของประชาชนทุกคน
ในขณะที่นายสมชัย กล่าวว่าเรื่องขององค์กรอิสระเป็นนวัตกรรม ที่ประดิษฐ์มาจากรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่สมัยนั้นมองว่าควรทำหน้าที่เป็นองค์กรร่วมมือกันทำงานเพื่อทำประโยชน์ในการปฏิรูปการเมืองไทยในทางที่ดีขึ้น แต่เมื่อการปฏิบัติหน้าที่ด้านการเมืองกการปกครอง ควรมีการคานอำนาจซึ่งกันและกัน แต่กลับพบว่าเมื่อรัฐสภาประกอบด้วยเสียงข้างมาก องค์กรอิสระยึดโยงกับพรรคการเมืองจึงไม่เห็นการตรวจสอบ รวมถึงในยุคที่ผู้แทนฯ มาจากการแต่งตั้ง บุคคลที่เป็นคณะกรรมการฯ ในองค์กรอิสระ นิ่งเฉยละเลยการปฏิบัติหน้าที่ตรวจสอบก็จะสามารถอยู่ในตำแหน่งได้จนหมดวาระ ซึ่งแตกต่างจากช่วงที่ตนดำรงตำแหน่งเป็นคณะกรรมการกกต.ที่พยายามทำหน้าที่ อย่างเต็มที่ในยุค คสช. จึงเป็นสาเหตุว่ากกต.ในยุคนั้นอยู่ไม่ครบวาระ
อย่างไรก็ตาม นายสมชัย ได้กล่าวถึงการปฏิรูปองค์กรอิสระ กรณีของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ควรที่จะต้องมีการแก้ไขคุณสมบัติที่สูงเกินกว่าภาระหน้าที่มาเป็นคุณสมบัติสำหรับคนที่สามารถทำงานได้จริง /ควรมีการปรับปรุงยกเลิกกลไกการทำงานที่ไม่มีประสิทธิผล/ปรับทัศนคติของบุคลากรในองค์กร /กำหนดเส้นตายการทำงานใหม่ ให้มีกลไกการมีส่วนร่วมของประชาชน /เปิดข้อมูลองค์กรให้มีความโปร่งใสและมีกลไกการตรวจสอบถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งได้ เป็นต้น.-312 .-สำนักข่าวไทย