ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาล 12 พ.ย.- “เครือข่าย นศ.รามฯ” ยื่น 4 ข้อ จี้ ครม. เจรจาผลประโยชน์ทางทะเลไทย-กัมพูชา รอบคอบโปร่งใส ชงเปิดข้อมูลกลุ่มธุรกิจรับสัมปทาน ขอเจรจาทุกเรื่องผ่านสภาก่อนตัดสินใจ พร้อมเร่งชี้แจงประชาชน หลังมองรัฐบาลไม่ชัดเจน
นายปาณวัฒน์ มุสิกะพงศ์ ตัวแทนเครือข่ายนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง พรรคเพื่อราม พร้อมเครือข่าย เดินทางเข้ายื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลผ่านนายสมคิด เชื้อคง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โดยยื่น 4 ข้อเรียกร้องให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาและปฏิบัติกรณีเกี่ยวกับผลประโยชน์ในน่านน้ำเศรษฐกิจระหว่างราชอาณาจักรไทยและกัมพูชา (เกาะกูด)
โดยระบุว่าเครือข่ายนักศึกษาและภาคประชาชนจากมหาวิทยาลัยรามคำแหงสถาบันการศึกษาทุกระดับและภาคส่วนต่างๆ เกิดความไม่สบายใจอันเนื่องมาจากความกังวลของประชาชนและความไม่ชัดเจนจากรัฐบาลในกรณีดังกล่าว จึงขอแสดงจุดยืนเพื่อให้รัฐบาลพิจารณา ดังนี้
- ขอให้รัฐบาลคำนึงถึงและยึดมั่นในอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล (UNCLOS) ค.ศ.1982 มาตรา 121 วรรคสองอย่างเคร่งครัด
- ขอให้รัฐบาลดำเนินการในประเด็นนี้ด้วยความรอบคอบและโปร่งใสทุกขั้นตอนตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ผนวกร่วมกับพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 มาตรา 7 และมาตรา 20
- อ้างอิงตามหลักการในข้อ2 ขอให้มีการเปิดเผยข้อมูลของกลุ่มธุรกิจและผู้ได้รับประโยชน์จากสัมปทานใดๆ ในพื้นที่เจรจาร่วมเพื่อให้ประชาชนทั้งสองประเทศได้รับทราบข้อมูลอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกันเพื่อความเข้าใจในสถานการณ์และประโยชน์ที่พึงได้รับของประชาชนและประเทศชาติ
- เครือข่ายนักศึกษาไม่ได้คัดค้านสิทธิอำนาจของรัฐบาลในการดำเนินการเพื่อผลประโยชน์แห่งชาติแต่ขอให้ดำเนินการดังกล่าวอย่างสุขุมรอบคอบโปร่งใสและสะท้อนการเป็นตัวแทนเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนอย่างแท้จริง
นายปาณวัฒน์ ยังเรียกร้องให้รัฐบาลนำประเด็นเจรจานี้เข้าสู่กระบวนการทางรัฐสภาตามมาตรา 178 วรรค2 และ 3 เพื่อให้เกิดการถกเถียงทางด้านนโยบายสาธารณะความสัมพันธ์ระหว่างประเทศขอให้รัฐบาล ประชาสัมพันธ์กระจายข้อมูลข่าวสารให้ประชาชนรับรู้อย่างทั่วถึง โดยที่การตัดสินใจใดๆ จะต้องดำเนินการผ่านกระบวนการรัฐสภาอย่างเคร่งครัด
ทั้งนี้ นายสมคิด ยืนยันว่ารัฐบาลพร้อมรับฟังความคิดเห็นประชาชนและทุกภาคส่วน ในประเด็นดังกล่าวเพื่อให้เกิดความรอบคอบ ตนเห็นด้วยที่จะต้องมีการชี้แจงให้กับประชาชนเข้าใจและผ่านกระบวนการคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิค (JTC) และ หากจะต้องมีการทำสนธิสัญญา จะต้องนำเข้าพิจารณาในที่ประชุมรัฐสภา โดยย้ำว่าไทยไม่ได้เสียดินแดนเกาะกูด ตามที่มีฝ่ายพยายามปั่นกระแส และกัมพูชาก็ไม่คิดว่าเกาะกูดเป็นของเขาเลย .314.-สำนักข่าวไทย