รัฐสภา 25 ก.ย.-กมธ.ร่างกฎหมายตีเด็ก ขอถอนร่างกฎหมายกลับไปพิจารณา หลัง สส.ค้านเนื้อหากฎหมาย ขัดหลักการ-คลุมเครือ ไม่ชัดเจน
การประชุมสภาผู้แทนราษฎร ในวันนี้ (25 ก.ย.) มีวาระสำคัญในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือ ร่างกฎหมายห้ามตีเด็ก ในวาระที่ 2 ตามที่คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ พิจารณาแล้วเสร็จ โดยมีทั้งสิ้น 3 มาตรา แต่มีการแก้ไขเพียงมาตราเดียว เพื่อให้มีความเหมาะสม และกำหนดสิทธิการลงโทษของผู้ปกครองในการว่ากล่าว สั่งสอน จะต้องไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ พัฒนาการของเด็ก เพื่อให้ผู้ปกครองมีทัศนคติเชิงบวกกับบุตรหลาน ไม่สร้างความหวาดกลัวต่อพ่อแม่ และลูก และให้พ่อแม่ เลี้ยงลูกให้ถูกวิธี โดยบัญญัติว่า การทำโทษบุตร เพื่อสั่งสอน หรือปรับพฤติกรรม ต้องไม่เป็นการกระทำด้วยความรุนแรงต่อร่างกาย จิตใจ ไม่เป็นการเฆี่ยนตี หรือกระทำการอื่นใดโดยมิชอบ อันเป็นการลดทอนคุณค่าศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุตร
ในการอภิปรายของ สส.นั้น นายนิพนธ์ คนขยัน สส.บึงกาฬ พรรคเพื่อไทย เห็นว่า การทำโทษลูก เพราะพ่อแม่รักลูก แต่หากกฎหมายห้าม และลูกดื้อ เกเร ตีไม่ได้ จะแก้ปัญหาอย่างไร พร้อมยอมรับการเลี้ยงดูลูก อบรมลูก แต่ในต่างจังหวัด พ่อแม่ไม่มีเวลาเลี้ยงดูลูก ต้องฝากตายายเลี้ยง ซึ่งหากกฎหมายฉบับนี้ มีผลใช้บังคับ ก็ไม่สามารถอบรมบุตรหลายที่แตกแถวได้ รวมถึงครูอาจารย์ที่จะสั่งสอนเด็ก ก็ไม่สามารถทำได้ ทั้งที่ทุกคนอยากสั่งสอนเด็กให้ดี จึงขอให้กรรมาธิการฯ ถอนร่างกลับไปทบทวน เพราะหากร่างกฎหมายฉบับนี้ผ่านสภาผู้แทนราษฎรไป สส.จะถูกประชาชนด่าเอาได้
ขณะที่ นางสาวแนน บุณย์ธิดา สมชัย สส.อุบลราชธานี พรรคภูมิใจไทย เห็นว่า เนื้อหาในร่างกฎหมายยังเป็นปัญหา โดยเฉพาะท่อนที่บัญญัติว่า “อันเป็นการลดทอนคุณค่าศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุตร” ซึ่งอาจกระทบต่อความมาตรฐานเชื่อมั่นของประชาชนต่อการตัดสินของศาล เพราะเป็นคำที่คลุมเครือ และใครจะเป็นผู้กำหนดมาตรฐานคุณค่าศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และจะเป็นปัญหาในการบังคับใช้ต่อไป ที่ผู้บังคับใช้กฎหมายทั้งจะต้องไปหาบรรทัดฐานเองว่า จะต้องใช้ดุลยพินิจของตำรวจ ศาล หรือ สส.ผู้เสนอกฎหมายเอง จึงขอให้กรรมาธิการฯ ได้นำร่างกฎหมายนี้ กลับไปพิจารณาให้ข้อความกฎหมายมีความชัดเจนขึ้น เพื่อไม่ให้สภาต้องออกกฎหมายแล้วต้องเกิดการตีความซ้ำแล้วซ้ำเล่าในภายหลัง และวัฒนธรรมครอบครัวแต่ละครอบครัว แต่ละภูมิภาค ก็มีความแตกต่างกัน เช่น คำบางคำในภาษาอีสาน ถือเป็นคำพูดปกติของคนในภาคอีสาน แต่รุนแรงในภาคกลาง หรือบางคำที่คนใต้พูดตามปกติในท้องถิ่น แต่กลับรุนแรงมากในภาคกลาง ดังนั้น จะต้องใช้ดุลยพินิจอย่างไร
ด้าน นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว สส.น่าน พรรคเพื่อไทย เห็นว่า จากการอภิปรายของ สส.เชื่อว่า สส.จะไม่เห็นด้วยกับร่างกฎหมายฉบับนี้ และยังมีข้อเสนอให้กรรมาธิการฯ นำไปปรับแก้ ซึ่งตนเอง เห็นว่า ตามหลักการที่สภาฯ รับหลักการในวาระแรก และเนื้อหาในหลักการนั้น ขัดกัน ซึ่งหากสภาไม่เห็นชอบกันการแก้ไขของกรรมาธิการฯ ก็มี 3 ทางเลือก คือ สภาคว่ำร่าง หรือกรรมาธิการฯ ถอนกลับไปแก้ไขให้เหมือนที่สภา รับหลักการมา หรือกรรมาธิการ ถอนกลับไปแก้ไขทั้งหมด รวมถึงกรรมาธิการด้วย ดังนั้น กรรมาธิการฯ จะต้องพิจารณาว่า ยอมให้สภาคว่ำ หรือจะถอน และนำข้อสังเกตของ สส.ในการอภิปรายไปปรับปรุงให้สมดุลระหว่าง สิทธิเด็ก และสิทธิผู้ปกครอง ถ้อยคำที่กำกวมเช่น ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ จะต้องมีเกณฑ์วัด เพราะมิเช่นนั้น จะเป็นเหตุให้เกิดการลงโทษผู้ปกครองได้ ดังนั้น จะต้องเขียนกฎหมายให้ชัดเจน
อย่างก็ตาม ภายหลังที่ประชุม ยังไม่สามารถตกลงกันได้ ทำให้ประธานการประชุมฯ ต้องสั่งพักการประชุม เพื่อให้กรรมาธิการ กลับไปพิจารณาว่า จะถอนร่างเพื่อนำกลับไปทบทวน หรือจะยังคงยืนยันในร่างกฎหมายที่มีการปรับแก้มา โดยภายหลังเข้าสู่การประชุม ปรากฏว่า กรรมาธิการฯ เห็นพ้องว่า ขอถอนร่างกลับไปพิจารณาทบทวนใหม่อีกครั้ง โดยไม่มี สส.คนใดคัดค้าน.-312.-สำนักข่าวไทย