รัฐสภา19 ก.ย. – “สมศักดิ์” กางหลักฐานทางการแพทย์ ยัน กินน้ำท่อมไม่ใช่สาเหตุไตวายในวัยรุ่น เล็งขยายพื้นที่ฟอกไตให้ประชาชนเข้าถึงบริการ คู่ขนานกับการป้องกันโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เตรียมผลักดันโครงการ “อสม.ช่วยสังคมไทยห่างไกล NCD”
นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เข้าชี้แจงกระทู้ถามแยกต่อสภาผู้แทนราษฎรในประเด็นแนวทางการแก้ไขโรคไตเสื่อมในวัยรุ่น ที่เกิดจากการบริโภคใบกระท่อมและน้ำกระท่อม ที่ถามโดย สส.นายประสิทธิ สส.ปทุมธานี พรรคประชาชน โดยมีนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาคนที่ 1 ทำหน้าที่ประธาน
โดยนายสมศักดิ์ ชี้แจงว่า ขณะนี้ยังไม่มีหลักฐานทางการแพทย์ที่ชัดเจนบ่งบอกว่าการดื่มน้ำใบกระท่อมทำให้เกิดไตวาย เนื่องจากคนที่มีภาวะไตวายกับมีประวัติการดื่มน้ำกระท่อมเกือบทุกคนมีการใช้ยาเสพติดและสารเคมีอื่นร่วมด้วย การศึกษาพบว่าการรับสารเกินขนาดทำให้เกิดกล้ามเนื้อสลาย และทำให้การทำงานของไต ตับ ล้มเหลวตามมาได้ รวมถึงการศึกษาที่แสดงให้เห็นว่าการใช้ใบกระท่อมเป็นระยะ 11 ปี จำนวน 88 คน เทียบกับกับปกติ 83 คน อาจทำให้โปรตีนรั่วทางปัสสาวะ ซึ่งบ่งบอกว่าการทำงานผิดปกติแต่ไม่เกิดกับไตหรือไตวาย นอกจากนี้จำนวนผู้ที่ป่วยไตวายในช่วงวัยรุ่นไม่ได้เพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ส่วนข้อมูลเพิ่มเติมสำหรับโรคไตในวัยรุ่น ไตอักเสบ อาจมาจากการได้รับสารเคมีที่เป็นพิษกับตับ ไต เช่น การใช้ยาไม่ถูกวิธี กลุ่มยาแก้ปวดไอบูโพรเฟน ไดโคลฟีแนคขนาดสูงและต่อเนื่องหลายสัปดาห์ โรคพันธุกรรมบางชนิด
ส่วนคำถามกรณี กระทรวงสาธารณสุขมีแนวทางการขยายจำนวนและกระจายศูนย์ให้บริการการฟอกไตเพื่อลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปฟอกไตให้ประชาชนในพื้นที่ทั่วประเทศไทยหรือไม่ อย่างไร นายสมศักดิ์ กล่าวว่า การฟอกไตปริมาณมากขึ้นอย่างน่าตกใจ ปัจจุบันมีศูนย์ฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมจำนวนทั้งสิ้น 1,100 แห่ง ทั้งในโรงพยาบาลรัฐและเอกชน ครอบคลุม 12 เขตสุขภาพ กระจายทุกจังหวัด รวมถึงมีอายุรแพทย์โรคไตทุกเขตสุขภาพ ขยายบริการฟอกไตในโรงพยาบาลชุมชนแม่ข่าย โดยมีแผน เพิ่มการผลิตพยาบาลผู้เชี่ยวชาญด้านไตเทียม รองรับการขยายตัวของ แผนการมีหน่วยไตเทียมในโรงพยาบาลชุมชนแม่ข่ายที่รับผิดชอบ ประชากรมากกว่า 50,000 คน เพื่อกระจายการบริการให้ครอบคลุม ทั่วทุกพื้นที่ และทำให้เกิดระบบส่งต่อแบบไร้รอยต่อ เป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนในการเดินทางไปฟอกไต และมีโครงการเพิ่มการปลูกถ่ายไต โดยทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยต่างๆ จะประหยัดค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ การฟอกไตโดยไปที่ศูนย์ และการล้างไตทางช่องท้อง ใช้งบประปีละ 2.5 หมื่นล้านบาท – 3.1 หมื่นล้านบาท นี่คือปัญหาของโรคไม่ติดต่อเรื้อรังหรือ NCDs ใช้งบประมาณมากที่สุด 1.3 แสนล้านบาท อย่างไรก็ตามยังพบสาเหตุโรคไตวายเรื้อรังเกิดจาก เบาหวานและความดันโลหิตถึงร้อยละ 60 กระทรวงฯ กำลังจะทำโครงการอาสาสมัครประจำหมู่บ้าน (อสม.) ช่วยสังคมไทยห่างไกล NCDs ซึ่งกระจายทั่วประเทศ
จากนั้น นายธัญธร ธนินวัฒนาธร สส.กทม.พรรคประชาชน ตั้งกระทู้เรื่อง กระทรวงสาธารณสุขได้มีการพิจารณาถึงความจำเป็นในการให้วัคซีนไข้เลือดออกกับประชาชนที่เคยติดเชื้อไข้เลือดออกมาแล้วหรือไม่ ผลการศึกษาเป็นอย่างไร นายสมศักดิ์ชี้แจงว่า อยุ่ระหว่างการศึกษาพิจารณาความจำเป็น ปลอดภัย ความคุ้มค่า ของงบประมาณ ไข้เลือดออกที่ระบาดในประเทศไทยมี 4 สายพันธุ์ มีวัคซีนที่ได้ขึ้นทะเบียนในไทยแล้วจำนวน 2 ชนิด แม้ว่าจะมีส่วนดี แต่ยังไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ในการป้องกันในบางสายพันธุ์ จึงจำเป็นต้องมีการศึกษาข้อมูลประสิทธิภาพการป้องกันโรคไข้เลือดออกแยกรายสายพันธุ์เพิ่มเติมก่อน การนำมาใช้ในประชาชนในวงกว้างจำเป็นต้องพิจารณาในทุกมิติอย่างรอบคอบ โดยเฉพาะประเด็นความปลอดภัย .319.-สำนักข่าวไทย